มะเร็งไต หายขาดได้

นพ.ปองวุฒิ ด่านชัยวิจิตร

0
9914

เมื่อมีอาการปวดหลัง ปัสสาวะเป็นเลือด ผู้ป่วยมักเข้าใจผิดคิดว่าต้องเป็น “มะเร็งไต” แต่ในความเป็นจริงแล้วมะเร็งไตไม่ใช่สาเหตุหลักของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการดังกล่าว เนื่องจากเป็นมะเร็งที่พบไม่บ่อย โดยมีอุบัติการณ์อยู่ที่ 1.6 ต่อประชากรแสนคน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่เกิดขึ้นเข้าข่ายต้องสงสัยมะเร็งไตหรือเปล่า และถ้าเป็นจริง จะมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร

มะเร็งไตมีประมาณ 4 – 5 ชนิด ชนิดที่พบมากที่สุดคือชนิดที่เรียกว่า Clear cell carcinoma พบประมาณ 80% ของมะเร็งไตทั้งหมด โดยมะเร็งไตในผู้ใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

ถึงแม้ว่าอาการปวดหลังและปัสสาวะเป็นเลือดที่พบในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งไต แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังนาน 2- 4 สัปดาห์ พบแพทย์และรับยามารับประทานแล้วอาการไม่ดี หรือแพทย์ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อ ปัสสาวะเป็นเลือดไม่หาย ร่วมกับมีอาการเบื่ออาหารน้ำหนักลด แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม

การวินิจฉัย

  • การตรวจปัสสาวะ เป็นวิธีการวินิจฉัยเบื้องต้นเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
  • การตรวจทางรังสีวิทยา เช่น Ultrasound หรือ CT Scan บริเวณช่องท้องเพื่อดูว่ามีก้อนหรือไม่
  • การเจาะตรวจชิ้นเนื้อ เป็นวิธีการเดียวที่ช่วยให้วินิจฉัยได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมะเร็งไตหรือไม่ และเป็นมะเร็งไตชนิดใด

ในกรณีที่พบว่าเป็นมะเร็งไต ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูการกระจายของมะเร็งโดยการทำ CT Scan ที่ช่องอกและช่องท้อง รวมทั้งการตรวจสแกนกระดูก ถ้าเป็นมะเร็งระยะที่ไม่กระจายสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยการฉายรังสีหรือการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้มะเร็งไตหายขาดได้

แนวทางการรักษา

มะเร็งไตแบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 – 3 สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด มีโอกาสหายขาดได้ สำหรับระยะที่ 4 ถึงแม้จะรักษาไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตที่ยาวนานขึ้นได้หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง การรักษาผู้ป่วยมะเร็งไตระยะที่ 4 จะใช้การรักษาด้วยยาเป็นหลัก ส่วนการผ่าตัดแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งไตเป็นยาที่เรียกว่า การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ปัจจุบันมีใช้ในประเทศไทยแล้ว กลไกหลักของยาคือลดการสร้างเส้นเลือดทำให้ก้อนมะเร็งฝ่อลง ยามีประสิทธิภาพดีพอสมควร พบว่าก้อนมะเร็งยุบลงประมาณ 60-70% ถ้ารับประทานยาอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ สำหรับผลข้างเคียงของยารักษาแบบมุ่งเป้า ส่วนใหญ่ยากลุ่มนี้จะไม่กดไขกระดูก จึงไม่ส่งผลกระทบต่อภูมิต้านทานของร่างกาย แต่จะมีผลข้างเคียงอื่น เช่น ท้องเสีย แสบมือ แสบเท้า รับประทานอาหารไม่อร่อย ความดันโลหิตสูงขึ้น โดยอาการจะเกิดขึ้นระหว่างการรักษา ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งสามารถดูแลจัดการผลข้างเคียงได้ ส่วนยาเคมีบำบัดนั้นใช้ไม่ได้ผลดีกับมะเร็งไต เพราะผลการศึกษาพบแล้วว่าไม่ได้ช่วยให้ก้อนมะเร็งเล็กลงมากนักหรือยืดอายุของผู้ป่วยได้

ความกังวลใจของผู้ป่วย

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะกังวลว่า การผ่าตัดจะทำให้มะเร็งแพร่กระจายหรือไม่ คำตอบคือ การผ่าตัดไม่ทำให้มะเร็งกระจาย ถ้ามะเร็งกระจายนั่นคือกระจายอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเริ่มการรักษา เพียงแต่เราไม่สามารถมองเห็นได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดไตข้างที่เป็นมะเร็งออกไปแล้ว มีโอกาสที่ไตข้างที่เหลือจะเป็นมะเร็งได้เช่นกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นทุกคน ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ

อีกหนึ่งคำถามที่พบบ่อยคือ สามารถตัดไตออกเพียงบางส่วน ไม่ต้องตัดออกไปทั้งข้างได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศัยลยแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นหลัก

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยบางรายจะกังวลว่า จำเป็นต้องควบคุมเรื่องปริมาณน้ำและอาหารการกินหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่จำเป็นถ้าไตอีกข้างปกติ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติทั่วไป เพราะมนุษย์สามารถอยู่ได้ด้วยไตเพียงข้างเดียว และไม่จำเป็นต้องงดเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยต้องการใช้สมุนไพรหรือการรักษาทางเลือกอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเองมากที่สุด

 

Resource : HealthToday Magazine, No.200 December 2017