ปัญหาผื่นผ้าอ้อมในทารกและการดูแล

รศ. นพ.อรุชา ตรีศิริโชติ กุมารแพทย์โรคผิวหนัง

0
1775
ผื่นผ้าอ้อม

ปัญหาและสาเหตุของผื่นผ้าอ้อมในทารก

ผื่นผ้าอ้อมเป็นปัญหาที่พบได้ตั้งแต่ ทารกอายุ 3-12 สัปดาห์ และ พบบ่อยในช่วงอายุ 9-12 เดือน

เนื่องจากผิวของทารกมีความบอบบาง ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ความชื้น ปัสสาวะ อุจจาระ และการเสียดสีจากผ้าอ้อม

โดยเฉพาะในเด็กที่มีประวัติถ่ายอุจจาระเหลวติดกันนาน 48 ชั่วโมงขึ้นไป มีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อราแทรกซ้อนในบริเวณนี้ง่ายขึ้น ผื่นมักเกิดในบริเวณที่สัมผัสสารระคายเคือง เช่น ปัสสาวะและอุจจาระ ในระยะแรกผิวหนังจะเป็นผื่นแดงตามส่วนนูน ผิวหนังในซอกลึก ๆ จะยังไม่มีผื่น การกระจายของผื่นแตกต่างกันขึ้นกับตำแหน่งของผิวที่สัมผัสกับสารระคายเคือง บริเวณที่พบผื่นได้บ่อย ได้แก่ บริเวณต้นขาด้านในกับส่วนนูนท้องน้อยช่วงล่าง และบริเวณอวัยวะเพศ

การดูแลและการป้องกันไม่ให้เกิดผื่นผ้าอ้อม

การป้องกันสามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนมีผื่นและภายหลังจากการรักษาผื่นหายแล้ว โดยการดูแลทำความสะอาดผิวที่บอบบาง การเปลี่ยนผ้าอ้อมอย่างสม่ำเสมอ และการทาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องผิวหนัง

  1. การดูแลทำความสะอาดผิวที่บอบบาง ควรล้างทำความสะอาดผิวทุกครั้งเมื่อทารกปัสสาวะหรืออุจจาระ และซับผิวให้แห้งทุกครั้งหลังชำระล้าง หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีสารชำระล้างและมีความเป็นด่างสูง เนื่องจากทำให้เกิดการชะล้างไขมันของผิวหนังและทำให้เกิดการระคายเคือง และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดชนิดใช้แล้วทิ้งที่มีส่วนประกอบของน้ำหอมและ แอลกอฮอล์
  2. การเปลี่ยนผ้าอ้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ผิวบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมแห้งอยู่เสมอ โดยเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งที่ผิวสัมผัสความเปียกชื้น
  3. การทาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องผิว ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยฟื้นบำรุง ปกป้อง ดูแล และได้รับการรับรองเรื่องความปลอดภัยในการใช้กับผิวทารก ทาเคลือบผิวบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม เพื่อช่วยเคลือบป้องกันสารที่ก่อให้เกิด การระคายเคืองจากภายนอก “ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้อง ผิวที่ดีควรมีส่วนผสมของสารที่มีความปลอดภัยและมี ประโยชน์ ช่วยฟื้นฟูและปกป้องผิวของทารก เช่น Dexpanthenol หรือ Pro-vitamin B5 ที่ช่วยใน กระบวนการซ่อมแซมผิว และลาโนลินที่ช่วยรักษา ความชุ่มชื้นของผิวหนัง และช่วยลดการสูญเสียน้ำทางผิวหนัง ระบายอากาศ ไม่ก่อให้เกิดความอับชื้น ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือสารที่ก่อให้เกิด อาการระคายเคือง เช่น สี น้ำหอม ยาฆ่าเชื้อหรือ วัตถุกันเสีย”

กรณีที่มีผื่นผ้าอ้อมแล้วนั้น การรักษาและการป้องกันควรทำไปพร้อม ๆ กัน การเลือกใช้ยาทาภายนอกขึ้นกับความรุนแรงของผื่น กรณีที่ผื่นไม่ดีขึ้นหลังการดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง หรือผื่นมีอาการแดงและอักเสบมาก ควรพาไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมและ ตรวจหาสาเหตุเฉพาะต่อไป