ต่อมหมวกไตล้มเหลว

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
7818

คุณเคยมีอาการแบบนี้บ้างไหม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งอาจทำให้ตอนแรกคุณคิดว่าเป็นไข้หวัด แต่เมื่ออาการนั้นเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ แถมยังมีผิวดำคล้ำเพิ่มขึ้นด้วย อย่างนี้คุณต้องคิดถึงโรคต่อมหมวกไตล้มเหลว

ต่อมหมวกไตล้มเหลวเรื้อรัง มีชื่อทางการแพทย์ว่า Addison’s disease ซึ่งเป็นโรคที่ต่อมหมวกไตไม่สามารถผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการทำงานปกติของร่างกายได้เพียงพอ โรคนี้เป็นโรคสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาโดยแพทย์ เนื่องจากถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ตายได้ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอห์น เอฟ.เคเนดี้ มีโรคนี้เป็นโรคประจำตัว แต่เนื่องจากได้รับการรักษาทางยาและการติดตามที่ดีโดยแพทย์ประจำตัวมาตลอด จึงสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ หรือมากกว่าปกติ เพราะได้เป็นถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ปกติคนเรามีต่อมหมวกไต 2 ข้าง รูปร่างเหมือนหมวกครอบอยู่บริเวณขั้วบนของไต (ซึ่งมีรูปร่างเหมือนเมล็ดถั่ว) มีขนาดเล็ก ส่วนเปลือกนอกของต่อมนี้ผลิตฮอร์โมน 2ชนิด คือ คอร์ติซอล (Cortisol) และ แอลโดสเตอโรน (Aldosterone) คอร์ติซอลมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลและโปรตีนเป็นพลังงานได้ดี ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับความเครียด การติดเชื้อ และการบาดเจ็บได้ ส่วนแอลโดสเตอโรนมีฤทธิ์ช่วยกำกับค้ำจุนให้สารเกลือแร่อย่างโซเดียม โพแทสเซียม และน้ำ ให้ร่างกายอยู่ในสภาพคงที่ได้

ต่อมหมวกไตล้มเหลว มี 2 แบบ

  • ภาวะต่อมหมวกไตล้มเหลวอย่างเฉียบพลันแบบปฐมภูมิ โดยมากเกิดจากการที่มีเลือดออกในต่อมหมวกไต ภาวะต่อมหมวกไตล้มเหลวแบบเรื้อรังปฐมภูมิ (Addison’s Disease) ส่วนมากเกิดจากต่อมหมวกไตถูกทำลายโดยภาวะภูมิคุ้มกันต้านตัวเอง หรือการติดเชื้อ (เช่น วัณโรค) หรือมะเร็งแพร่กระจายมาทำลาย เช่น มะเร็งเต้านม ปอด ไฝดำ เป็นต้น
  • ภาวะต่อมหมวกไตล้มเหลวเรื้อรังแบบทุติยภูมิ อาจมีหลายสาเหตุคือ ขาดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) ที่เรียกว่า AdrenocorticotropicHormone (ACTH) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นต่อมหมวกไตให้สร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล ถ้าขาด ACTH ต่อมหมวกไตก็สร้างคอร์ติซอลได้น้อย แม้ว่าต่อมหมวกไตจะไม่ถูกทำลาย แต่ก็เกิดอาการล้มเหลว

แม้ว่าโรคต่อมหมวกไตล้มเหลวหลายอย่างจะเป็นสภาวะถาวร แต่บางอย่างก็เป็นชั่วคราว สภาวะล้มเหลวชั่วคราวที่พบบ่อยคือในคนที่กินยากลุ่มสเตียรอยด์ (ซึ่งคอร์ติซอลเป็นสารในกลุ่มนี้) เป็นเวลานาน ยากลุ่มนี้มักใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ หอบหืด ผื่นผิวหนัง เมื่อคนกินสเตียรอยด์เข้าไปมันจะไปกดการทำงานของต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) ทำให้ผลิต ACTH ได้น้อยลง เป็นผลให้ไม่มีการกระตุ้นต่อมหมวกไต ทำให้ต่อมหมวกไตฝ่อลง มีผลให้ผลิตคอร์ติซอลและแอลโดสเตอโรนได้น้อยลง หลังจากเลิกกินยาสเตียรอยด์แล้วอาจจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน บางรายใช้เวลาเป็นปีในการฟื้นตัวสู่สภาพปกติของต่อมหมวกไต ในขณะที่กำลังฟื้นตัวนี้ คน ๆ นั้นจะมีจุดอ่อนเพราะมีฮอร์โมนคอร์ติซอลไม่พอใช้ เมื่อไปเจอกับสภาวะเครียด เช่น การผ่าตัด บาดเจ็บ ติดเชื้อ ก็จะเกิดภาวะวิกฤติต่อมหมวกไตล้มเหลวเฉียบพลัน ความดันเลือดตกฮวบ ช็อก ถ้ารักษาโดยการให้คอร์ติซอลไม่ทันจะเสียชีวิตได้

คนที่ชอบซื้อยากินเอง เช่น ยาชุด ยาลูกกลอนจากหมอตี๋ หมอบ้าน เพื่อรักษาอาการเจ็บปวดเมื่อยตามข้อ ตามตัว หรืออื่น ๆ โดยไม่รู้ว่ายาที่กินมีสเตียรอยด์อยู่เป็นสิ่งที่อันตรายมาก เพราะเมื่อกินไปนาน ๆ อาจไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต ดังนั้นก็เสี่ยงต่อภาวะต่อมหมวกไตล้มเหลว เมื่อเกิดความเครียดขึ้น เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย ติดเชื้อ หรือผ่าตัด จะทำให้เกิดอาการช็อกตายได้ แต่ถ้ารู้ก่อนและได้รับสเตียรอยด์ทดแทนเข้าไปต่อต้านความเครียดก็จะไม่เกิดอาการช็อก เช่น คนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคทางศัลยกรรม ถ้าให้สเตียรอยด์ป้องกันเข้าไปก่อนผ่าตัดก็สามารถผ่าตัดใหญ่ได้โดยไม่เกิดภาวะวิกฤติต่อมหมวกไตล้มเหลว ถ้าท่านไปหาศัลยแพทย์ต้องบอกหมอด้วยว่าเคยกินยาสเตียรอยด์มาก่อน บางคนเคยกินมาแล้วเป็นปีก็ยังอาจมีปัญหาได้ถ้าไม่ได้รับยาทดแทนเข้าไป อาการต่อมหมวกไตล้มเหลวเรื้อรังมักจะเกิดขึ้นช้า ๆ ส่วนมากใช้เวลาหลายเดือน อาการมีดังนี้

  • อ่อนแรง อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • กรณีที่เป็นโรคแบบปฐมภูมิ ผิวหนังจะดำคล้ำลง และหิวเกลือ
  • ความดันเลือดต่ำ เวียนหัวบ่อย
  • ปวดท้อง พร้อมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือท้องผูก
  • มีไข้ไม่ยอมหาย

ถ้าคุณมีอาการดังกล่าวไม่ยอมหาย ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการปวดท้อง อาเจียนมาก ท้องเดิน ความดันเลือดตก ช็อก หมดสติ ต้องไปหาแพทย์ด่วน เพราะว่าถ้ารักษาช้า ไม่ทันการณ์ ก็จะไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มีแน่

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคนี้คือ ควรห้อยป้ายข้อมือที่มีชื่อตัวโรค ชื่อโรค และยาที่กินอยู่เป็นประจำไว้ เพื่อประโยชน์ในยามฉุกเฉิน ช็อก หรือหมดสติ ทำให้หมอสามารถวินิจฉัยโรคและรักษาได้รวดเร็วทันท่วงที ดีกว่าห้อยหลวงพ่อหรือปลัดขิก เพราะมันทำให้ไม่ถึงที่ตายไม่วายชีวาวาตม์โดยไม่จำเป็น

Resource: HealthToday Magazine, No.189 January 2017