สุขหรือทุกข์ อยู่ที่เลือกมอง

บัญจรัตน์ จันทร์ฟัก พยาบาลวิชาชีพ

0
1497

ทันทีที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายและร่างกายรับรู้ว่าอาจจะมีอันตรายเกิดขึ้น กลไกในการป้องกัน ต่อสู้ของร่างกายจะทำงาน ทำให้มี อาการ หรือ อาการแสดง (อาการ คือ ความรู้สึกของเราต่อการเจ็บป่วยนั้นๆ  อาการแสดง คือ สิ่งที่ร่างกายแสดงออกให้เห็นเมื่อมีการเจ็บป่วย)  ซึ่งเป็นผลของการต่อสู้ของร่างกายกับสิ่งแปลกปลอม  จะต่างกันที่ ระดับความรุนแรง ถ้าเป็นน้อย ควบคุมได้รวดเร็ว ก็มีอาการแวบเดียว จนเราไม่ทันสังเกต เราก็เลยไม่รู้สึกว่า เจ็บป่วย แต่ถ้ามากหน่อยจนเริ่มเห็นหรือรู้สึก ก็อาจต้องพึ่งตัวช่วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับอาหาร ปรับพฤติกรรม เพิ่มยากิน การรักษาเฉพาะ พอรุนแรงมากขึ้นอีกก็จะถึงมือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตามจริตของแต่ละคน

การที่มีก้อนเนื้อที่เติบโตค่อนข้างเร็วที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในร่างกาย (ขออนุญาตที่จะไม่ใช้ คำว่า “มะเร็ง” นะคะ) ก็นับเป็นการเจ็บป่วยชนิดหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้น กลไกของโรค ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ ค่อยๆ เพิ่มระดับความรุนแรง จากเล็กน้อยจนกระทั่งเริ่มมองเห็น เริ่มกระทบกับการทำงานของอวัยวะนั้นๆ ในขณะที่ กลไกของการหาย ก็เริ่มจากค่อยๆ หายทีละนิด ทีละนิด จนโรคเหลือน้อยที่สุดหรือหมดไป เช่นเดียวกัน

แต่จากการได้พูดคุยกับคนที่ต้องเกี่ยวข้องกับโรคที่มีก้อนเนื้อที่เติบโตค่อนข้างเร็ว ความรู้สึกที่เกิดทันทีที่รับรู้หรือสงสัยว่ามีเนื้องอกที่โตเร็วในร่างกายคือ กลัว ในขณะที่หากป่วยเป็นโรคอื่นๆ ความรู้สึกกลัวจะเกิดขึ้นช้ากว่า มีน้อยกว่า เหตุผลก็เพราะ ภาพที่ผูกติดมากับโรคนี้คือ ความทุกข์ทรมานทั้งจากโรค และ จากการรักษา และความตาย นั่นเป็นเหตุให้มักจะได้ยินคำถามเสมอๆ ว่า เขาว่าโรคนี้รักษาไม่หาย ต้องทรมาน ต้องผมร่วง ผอม อาเจียน กินไม่ได้  และมักจะตายทั้งนั้น จริงไหม

คำตอบของผู้เขียนคือ ไม่จริงค่ะ จากประสบการณ์กว่า 11 ปีในหอผู้ป่วยมะเร็งนรีเวชวิทยา ที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัด และประสบการณ์ปัจจุบันที่ทำงานใน Tumour clinic (คลินิกวางแผนการรักษาผู้ป่วย โดยทีมแพทย์ ทั้งแพทย์เฉพาะทางกลุ่มอวัยวะที่พบก้อนเนื้องอก ด้านรังสีรักษา และเคมีบำบัด) พบว่ามีคนไข้จำนวนมากที่รักษาแล้วอาการดีขึ้นจนถึงหายขาด  และในทุกๆ วิธีการรักษาได้เตรียมการป้องกัน บรระเทาผลข้างเคียงของการรักษาไว้แล้ว  ทำให้พบว่าคนไข้บางรายแทบไม่มีความทุกข์ทรมานเลย อาจจะคลื่นไส้อาเจียน ผมร่วงบ้าง ในคนไข้ที่เสียชีวิตบางครั้งก็ไม่ใช่จากโรคหรือผลของการรักษา  แต่เป็นผลจากโรคอื่นๆ ทั้งที่เป็นอยู่ก่อนหรือเพิ่งเป็นโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคหรือการรักษาโรคก้อนเนื้องอกที่เติบโตค่อนข้างเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น  ในระหว่างที่คนไข้รักษาตัวอยู่ ญาติที่เวียนมาเยี่ยมเขา  บางคนเสียชีวิตก่อนผู้ป่วยด้วยซ้ำไป …แล้วเราจะมีวิธีจัดการอย่างไรเมื่อต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคเนื้องอกที่เติบโตเร็วเหล่านี้

กฎข้อที่ 1 ยอมรับความรู้สึกกลัว

การปิดกั้นความรู้สึกกลัวหรือความรู้สึกใดๆ ก็ตาม จะยิ่งเป็นการฝังและเพิ่มความรุนแรงของความรู้สึกนั้นๆ ในขณะที่การยอมรับด้วยการพูดออกเสียงเบาๆ บอกตัวเองถึงความรู้สึกของเรา กลับเป็นวิธีเดียวที่เราจะควบคุมระดับความกลัว จนถึงกำจัดความกลัวออกไปได้ เพราะเป็นการ แยกตัวเราจาก ผู้เป็น มาเป็น ผู้เห็นความรู้สึก   และได้ระบายความรู้สึกที่ล้นในสมองออกมา วิธีการคือ พูดออกเสียงเบาๆ บอกความรู้สึกของเราที่มีต่อสิ่งนั้นๆ  เช่น รู้สึกกลัว  รู้สึกหมดหวัง  รู้สึกเศร้า … ทันทีที่พูด ระดับของความรู้สึกจะลดลงจนกระทั่งหมดไป  ซึ่งอาจต้องทำซ้ำๆ ในกรณีที่ความรู้สึกนั้นรุนแรง

ทว่า คำพูดที่ควรระวัง และเลือกเวลาในการใช้ให้เหมาะสมจริงๆ คือ คำว่า ไม่เป็นไร มันดูคล้ายเป็นการให้กำลังใจ แต่ในบางเวลากลับทำให้ผู้รับฟังรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจความรู้สึกของเขา ทำให้เขารู้สึกผิดที่ทุกข์กับความรู้สึกนั้นๆ และเก็บกดความรู้สึก ซึ่งกลายเป็นการฝังและเพิ่มความรุนแรงของความรู้สึกนั้นๆ

กฎข้อที่ 2 มองหาโชคดีในโชคร้าย 

ในทุกๆ เหตุการณ์ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อด้อยปะปนกันอยู่เสมอ การเจ็บป่วยและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุก็เช่นกัน มองให้รอบด้านทั้งข้อดีและข้อด้อย เรียนรู้เพื่อเฝ้าระวัง ดูแล และตัดสินใจว่าจะให้การดูแล ให้น้ำหนักความสำคัญกับแต่ละด้านนั้น อย่างไร และเพื่ออะไร

ในการเจ็บป่วยเรื้อรังไม่ว่าโรคอะไรก็ตาม  ขอแค่ได้รับการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโดยแพทย์ การรักษาทางเลือก หรือการรักษาด้วยการดูแลตัวเอง  ก็นับว่าโชคดีมากๆ แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรจะทำคือ ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของเราให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ไม่มีข้อจำกัดทางร่างกายในการเลือกวิธีการรักษา และลดโอกาสที่จะมีโรคใหม่อีกโรคเพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการหายของโรค ขอเพียงเราเริ่มให้ความสำคัญ มีวินัยกับการดูแลร่างกายมากขึ้น ไม่ว่าเราจะรับการรักษาโรคด้วยวิธีใดก็ตาม  โอกาสในการหายก็ได้เกิด และเพิ่มพูนขึ้นแล้ว เพราะว่า  1 ก็มีค่ามากกว่า 0 เสมอ

กฎข้อที่ 3 เข้าใจกลไกของการเจ็บป่วย

สาเหตุของการเจ็บป่วยประกอบด้วย 2 ข้อคือ 1. ลักษณะของการได้รับหรือการเผชิญกับสิ่งแปลกปลอม ได้แก่ ชนิดของสิ่งแปลกปลอม ปริมาณความเข้มข้นของสิ่งที่ได้รับ วิธีการได้รับ (การสัมผัส สูดดม การกิน)  และระยะเวลา ความต่อเนื่องที่ได้รับ 2. กลไกการตอบสนองของเราต่อสิ่งที่ได้รับ หมายถึง ความสมบูรณ์พร้อมของกลไกของร่างกายในการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น รวมถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละคน เช่น ในห้องที่มีใครคนหนึ่งเป็นหวัด จึงไม่จำเป็นที่ทุกคนในนั้นต้องเป็นหวัด และแม้จะเป็นก็อาจรุนแรงไม่เท่ากัน

ในเมื่อ 1 ในสาเหตุของการเจ็บป่วย คือ กลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งที่ได้รับ  ดังนั้นกลไกของการหายจากการเจ็บป่วย จึงขึ้นกับทั้ง ประสิทธิภาพวิธีการรักษารวมถึงความสามารถของแพทย์และทีมรักษา และ ประสิทธิภาพของกลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งที่ได้รับ ซึ่งได้มาจาก การมีสุขภาพร่างกายจิตใจที่สมบูรณ์ที่สุด นั่นเอง

กฎข้อที่ 4  เข้าใจและตระหนักถึงบทบาทของเราในการต่อสู้กับการเจ็บป่วย

เพราะประสิทธิภาพของกลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งที่ได้รับ ได้มาจากสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ใช่ผู้รับการรักษา  หากแต่เป็น หนึ่งในทีมรักษา มีหน้าที่ดูแลร่างกาย จิตใจให้มีสุขภาพที่ดี  ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากคนรอบข้างที่ต้องมีวินัยสุขภาพเช่นเดียวกัน

กฏข้อที่ 5  เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ทันทีที่มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับใครสักคน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ด้วยความรัก ความหวังดี อยากให้คนที่เรารักหายจากโรค ไม่ทุกข์ ทำให้ต่างฝ่ายต่างคิดและทำแทนกัน บางครั้งกลายเป็นการกดดัน เกิดความไม่เข้าใจกันและเกิดความเครียดต่อทั้งสองฝ่าย ส่งผลต่อไปยังโอกาสในการหายของโรค การเปิดโอกาสที่จะพูดและฟัง เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กันและกัน  จึงเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ทุกคนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เป็นความพึงพอใจร่วมกันของทุกฝ่าย และนั่นคือ คุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดที่เราปรารถนา แม้แต่ทีมการรักษาเองก็มีความเครียด เครียดที่อยากจะให้คนไข้หายจากการเจ็บป่วยให้มากที่สุด ดังนั้นเราทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ป่วย คนรอบข้าง และทีมการรักษา จึงควรที่จะจับมือแล้วเดินไปด้วยกัน เพื่อให้ผู้ป่วย และทุกคนล้วนมีความสุข และได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

การเจ็บป่วยด้วยโรคที่ร้ายแรง เรื้อรัง แม้จะทำให้เรามีความทุกข์จากความกังวล ความกลัว แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลดี   เพราะทำให้เรามีสิ่งกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ  มีมาตรวัดตรวจสอบวินัยสุขภาพ และที่สำคัญยิ่ง… ทำให้เราหันมาใส่ใจ ให้ความสำคัญ และให้เวลาที่จะดูแลกันและกันมากขึ้น

 

Resource: HealthToday Magazine, No.178 February 2016