เรียนรู้จากประสบการณ์

นพ.ไพสิทธิ์ วรปาณิ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า ข้อสะโพก

0
1415
เรียนรู้จากประสบการณ์

ช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้มีเวลาหยุดช่วงสั้น ๆ ประมาณ 3 วัน หมอเลยแพลนตัวเองว่าอยากไปท่องเที่ยวที่ไหนสักแห่ง สุดท้ายมาลงเอยที่เขมร จากที่น่าจะเคยไปเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดน่าจะสัก ม.3 จำได้ว่าครั้งนั้นนั่งรถจากสระแก้วเข้าเขมร ถนนขรุขระมาก ไม่รู้หัวกระแทกหลังคารถตู้ไปกี่รอบ ตอนนี้ไม่รู้ถนนหนทางเป็นอย่างไรเนื่องจาก
ครั้งนี้บินไฟลท์ตรงไปลงเสียมเรียบเลยเพราะเวลามีน้อย

คงเป็น 2 สิ่งที่ดึงดูดหมอให้อยากกลับไปอีกครั้ง นั่นก็คือ การได้ไปชมมรดกโลก นครวัด นครธม เพราะตอนเด็ก ๆ ถึงไกด์จะอธิบายอย่างไงเราก็งงเป็นไก่ตาแตกทุกที อีกอย่างที่อยากไปดูคือ อยากไปดูชีวิตความเป็นอยู่รวมทั้งสุขภาพของชาวเขมรว่าหลังจากที่ต้องผ่านสงครามกลางเมืองมาอย่างโชกโชนแล้วขณะนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง เลยกะว่าครั้งนี้ถ้ามีโอกาสจะไปสังเกตดู

ครั้งนี้หมอเดินทางไปตั้งแต่ช่วงเช้าวันศุกร์ไปถึงที่เสียมเรียบใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมง สบาย ๆ พอดี เมื่อไปถึงโรงแรมจึงได้รู้ว่าช่วงนั้นที่เสียมเรียบก็มีการจัดงานลอยกระทงเช่นเดียวกับในประเทศไทย จากนั้นประมาณ 4-5 โมงเย็นก็ออกมาเดินเล่นที่ถนนคนเดิน ข้างทางมีของกินขายคล้าย ๆ บ้านเรา ทั้งลูกชิ้นทอด ปลาหมึกปิ้ง แมลงทอด ไอศกรีม ขนมต่าง ๆ เพียงแต่ยังมีเรื่องของสุขอนามัยให้ต้องคำนึงถึงหลายอย่าง เลยเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก พบว่ามีรายงานสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของคนที่นี่ว่ามาจากการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นวัณโรค มาลาเรีย การ
ติดเชื้อทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร รวมทั้งมีการเสียชีวิตของเด็กในเกณฑ์ที่สูง ขณะที่ประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วมักจะเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง

จากนั้นจึงไปถ่ายรูปทำบัตรเพื่อเตรียมเข้าชมนครวัดและนครธมในเช้าวันรุ่งขึ้น มาถึงบางอ้อก็ตอนที่ได้รับบัตรเข้าชมว่าทางการท่องเที่ยวได้ร่วมบริจาค 2 ดอลลาร์สหรัฐจากค่าบัตรแต่ละใบ มอบให้กับโรงพยาบาลเด็กในเสียมเรียบ ซึ่งหมอคิดว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก ๆ อย่างน้อยคนที่มาเที่ยวก็มีโอกาสได้ช่วยเหลือเด็ก ๆ เพราะตอนที่กำลังจะเดินเข้า
นครวัดนครธมจะมีเด็ก ๆ มาขายพวงกุญแจ หนังสือ พัด และอื่น ๆ อีกจิปาถะ ทั้งเด็กเล็กเด็กโต หมอเลยสังเกตเห็นว่ามีโรคทางกระดูกที่พบในเด็กได้พอสมควรทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็จะสามารถกลับไป
ใช้งานได้ตามปกติ

อย่างเช่น มีเด็กที่เดินไม่ได้ต้องให้แม่อุ้มเพราะเป็น ‘โรคเท้าปุก’ หรือ clubfoot (เท้าลักษณะเหมือนไม้พัตกอล์ฟ) ซึ่งพวกนี้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ถ้าได้รับการดัดการใส่เฝือกแก้ไขให้กลับมาตรงเหมือนเดิมก็จะกลับมาเดินได้ เดินไปก็เจอเด็กเดินเข่าโก่งที่ภาษาหมอเรียก Blount disease เช่นกันถ้าได้รับการดัดหรือผ่าตัดแก้ไขก็หายได้ เดินไปอีกก็พบเด็กบางคนมีข้อศอกหรือมือที่ผิดรูป คาดว่าคงมีการล้มตั้งแต่เด็กแล้วไม่ได้รับการผ่าตัดให้กระดูกเข้าที่ สุดท้ายกระดูกจึงติดผิดไปจากปกติ (Malunion) หรืออาจเกิดการติดเชื้อในกระดูกก็เป็นไปได้เช่นกัน ทำให้การใช้งานลดลง และยังมีอีกหลายโรคที่ได้เห็น

จากนั้นก็ตรงเข้าสู่นครวัด นครธม ได้เห็นความยิ่งใหญ่อลังการของคนสมัยก่อน ในส่วนนี้หมอว่าทุกท่านคงหาดูได้
ตามหนังสือท่องเที่ยวจากนักเขียนหลาย ๆ ท่านที่บรรยายได้ดีกว่าหมอแน่ ๆ หลังจากเดินเที่ยวชมเสร็จแล้ว บริเวณทางออกจะพบกับกลุ่มคนมาเล่นดนตรีกันไพเราะทีเดียว เดินไปใกล้ ๆ ก็พบว่าทุกคนที่เล่นในวงสูญเสียแขนหรือไม่ก็ขากันแทบทุกคน พร้อมกับมีป้ายเขียนไว้ว่าเนื่องจากสงครามที่เกิดขึ้น จนเสียงเพลงที่ได้ฟังมีทั้งอารมณ์ไพเราะ
น่าชื่นชม รวมทั้งสงสารและเกลียดแค้นสงครามผสมปนเปอยู่ในความรู้สึกเต็มไปหมด นึกในใจว่าถ้าคนเหล่านี้ไม่เกิดมาในช่วงสงครามกลางเมืองก็คงไม่ต้องเป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ตามแม้จะสูญเสียบางอย่างทางกาย แต่ทางใจของพวกเขากลับไม่ได้สูญสิ้น ยังสามารถหาทางออกและสู้กับปัจจุบันอย่างเข้มแข็ง

ระหว่างอยู่บนรถ ไกด์ท้องถิ่นได้เล่าประวัติช่วงสงครามเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้วให้ฟัง ที่ผ่านมามีแต่คำว่าสูญเสีย
สูญเสีย และสูญเสีย สำหรับคนที่ไม่สิ้นหวัง สามารถที่จะแปรเปลี่ยนความเจ็บปวดมาเป็นการเรียนรู้หรือประสบการณ์ หลายครั้งจากวิกฤตก็กลับกลายเป็นดีได้

หมอขอยกตัวอย่างช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ความรู้ทางการแพทย์ด้านกระดูกยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยกันมากนัก แม้กระทั่งประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่ต้องส่งทหารไปรบทั้งทางยุโรปและเอเชียก็ยังพบว่ามีทหารบาดเจ็บจากการ
ถูกยิงหรือถูกกับระเบิดบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการรักษาตามหลักวิชา แต่บางครั้งก็เกิดการติดเชื้อบ้าง กระดูกผิดรูปบ้าง หรือรีบไปผ่าตัดจนเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา จนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากความผิดพลาดขึ้นมาว่าควรที่จะมีการใช้ยาต้านการอักเสบ การใช้เหล็กยึดแบบภายนอกในการรักษากระดูกหักแบบเปิด ( External fixation) การใช้การรักษาโดยให้กระทบต่อระบบร่างกายให้น้อยที่สุด (Damage control orthopaedic) จนเป็นมาตรฐานการรักษาในเรื่องการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุในปัจจุบัน

เห็นได้ว่าเรื่องเลวร้ายในอดีตที่เราไม่อยากจดจำ บางครั้งการปล่อยให้กาลเวลาเยียวยารักษาแผลโดยที่เรามองดูอย่างพินิจพิคราะห์ อย่าเพิ่งด่วนถอดใจหรือท้อแท้ สุดท้ายเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม กาลเวลาก็สามารถรักษาแผลใจให้สมานได้อยู่เสมอ ดังที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “Failure are part of life if you don’t fail, you don’t learn.
If you don’t learn you’ll never change.”

 

Resource: HealthToday Magazine, No.205 May 2018