สมองเสื่อมชะลอได้

อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์

0
1356

ปัจจุบันคนในสังคมเริ่มตระหนักรู้มากขึ้นว่า อาการสมองเสื่อมไม่ได้เป็นอาการหลงลืมที่เกิดขึ้นตามอายุ ไม่ใช่ความเสื่อมตามวัย แต่เป็นอาการผิดปกติที่เรียกว่าเป็น “โรค” จึงพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากปัจจัยเสี่ยงด้าน อายุ แล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้สมองของเราทำงานได้แย่ลงกว่าอายุจริง เช่น ภาวะซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ การสูบบุหรี่ ความเครียด เหล่านี้มีส่วนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่ดี และเกิดความเสื่อมได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง นอกจากนี้ปัจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาแล้ว พันธุกรรม ก็อาจมีผลต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน แต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบได้น้อยมากในกลุ่มประชากรไทย สำหรับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิส ทำให้เซลล์สมองเสื่อมเร็วกว่าปกติถ้าโรคเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 โฟเลต หรือการได้รับสารพิษบางอย่าง เช่น ตะกั่ว ปรอท การได้รับบาดเจ็บทางสมองซ้ำๆ หรือ การกระทบกระเทืองทางสมองที่รุนแรง ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้น ดังนั้นการดูแลควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตามที่กล่าวมา รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างถูกต้อง จะช่วยให้สมองให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกนาน

รักษาไม่หาย แต่ชะลอได้

ปัจจุบันสมองเสื่อมยังคงเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ทำได้เพียงชะลอหรือคงความสามารถของสมองไว้ให้นานที่สุดเท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ป่วยและญาติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยเป็นในระยะแรก การรักษาจะมุ่งไปที่ผู้ป่วยเป็นหลัก คือ ผู้ป่วยจะต้องหมั่นฝึกฝนทักษะด้านสมองด้วยตนเองโดยมีญาติช่วยแนะนำหรือกระตุ้นให้เกิดการฝึกฝน สิ่งสำคัญคือ ผู้ดูแลควรให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น ให้ผู้ป่วยได้ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น แต่ในกรณีที่สมองเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว หน้าที่หลักจะอยู่ที่ผู้ดูแล โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค ปรับกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่เป็นในระยะแรกยังมีความรู้ความเข้าใจว่าตัวเองป่วยด้วยโรคอะไร ทำให้ส่วนใหญ่มักจะเศร้าและวิตกกังวลเรื่องของอนาคตว่าใครจะดูแลถ้าอาการของโรคเป็นมากขึ้น ต่างกับผู้ป่วยที่โรคเข้าสู่ระยะกลางหรือระยะท้ายซึ่งการรู้ตัวของเขาจะน้อยลง จึงไม่ค่อยกังวลเรื่องอนาคต สำหรับผู้ป่วยระยะแรก แพทย์จะแนะนำวิธีการเตรียมตัว เช่น อธิบายเรื่องโรคและลักษณะการดำเนินโรค การหาผู้มีอำนาจทำการแทน การทำพินัยกรรม ซึ่งการพูดคุยวางแผนเรื่องอนาคตจะช่วยลดความกังวลของผู้ป่วยลงได้

ดูแลควบคู่ทั้งผู้ป่วยและตนเอง

การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ต่างคนก็ต่างปัญหา ดังนั้นวิธีปฏิบัติและข้อจำกัดต่างๆ จึงแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามแนวทางปฏิบัติหลักๆ ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้คือ ไม่ควรทำอะไรที่ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล การให้อภัย ความเข้าใจและรู้ว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจที่จะทำพฤติกรรมสร้างปัญหา การรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่เคร่งครัดจนเกินไป

การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเป็นงานหนัก ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือ การใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้ป่วยในแต่ละวัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองไป ผู้ดูแลจำเป็นต้องทำแทนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองแล้ว ผู้ดูแลอาจต้องรับมือกับปัญหาด้านพฤติกรรมและปัญหาทางจิตเวชของผู้ป่วยด้วย ทำให้เกิดความยุ่งยากในการอยู่ร่วมกันมากขึ้น ผู้ดูแลจะเหนื่อยกายเหนื่อยใจ นำไปสู่ปัญหาความเครียด และอาการที่เรียกว่า “หมดรัก” ในที่สุด ดังนั้นผู้ดูแลจึงควรดูแลตนเองในทุกด้านด้วย เช่น ดูแลร่างกายให้แข็งแรง หมั่นสังเกตสภาพจิตใจของตนเอง ถ้ารู้สึกเครียดหรือกังวลเกี่ยวกับผู้ป่วยควรพูดคุยปรึกษาแพทย์ และควรให้ความสำคัญกับสุขภาพด้านสังคมด้วย เช่น การพบปะกับกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัญหาที่เจอในแต่ละวัน หรือการมีเพื่อนไว้พูดคุยปรึกษาเป็นกำลังใจในยามที่ผู้ป่วยจากไปแล้ว เป็นต้น

ในประเทศไทยได้มีการก่อตั้ง “สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม” ขึ้นเมื่อหลายปีก่อน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ดูแล ให้ผู้ดูแลได้นำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความรักความเข้าใจ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.azthai.org หรือเฟซบุ๊ก “สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม”

โรคสมองเสื่อม หากมองในหลายๆ แง่มุมจะพบว่าเราสามารถลดความเสี่ยงหรือชะลอได้ ดังนั้นเราจึงควรดูแลทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพของสมองควบคู่กันไป นอกจากนี้สมองเสื่อมไม่ใช่โรคของคนเพียงคนเดียว ผู้ป่วยยังต้องการผู้ดูแล เพราะเขาจะสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองหรืออยู่ตามลำพัง เพราะฉะนั้นผู้อ่านท่านใดมีญาติ เพื่อน หรือคนรู้จักที่ต้องดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อม แล้วไม่รู้จะไปหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ไหน ลองแนะนำให้เข้ามาดูในเฟซบุ๊ก “สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม” อย่างน้อยน่าจะช่วยให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตัวโรค เข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยเป็นมากขึ้น สามารถรับมือกับปัญหาและสถาณการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 177 January 2016