ปกป้องลมหายใจ ปลอดภัย ไกลโรค

0
1033

การมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน คือ การมีชีวิตอยู่ยาวนานโดยไม่เจ็บป่วย หรือเจ็บป่วยน้อยที่สุด ซึ่งในศาสตร์ของการมีสุขภาพดี หรือ Lifestyle Medicine จะเน้นเรื่อง “การป้องกัน” เป็นหลัก  นอกจากเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย ความเครียด การนอน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติดแล้ว “สภาพแวดล้อม” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน จากการศึกษาพบว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษในอากาศทั้งในบ้านและนอกบ้านสูงถึง 7 ล้านคน

โดยหนึ่งในสาเหตุหลักของมลพิษในอากาศที่พบในปัจจุบัน ได้แก่ PM2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับปอด มะเร็งปอด และโรคภูมิแพ้แล้ว PM2.5 ยังส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงโดยการหมั่นตรวจสอบดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อเตรียมการป้องกันตนเองจากมลพิษเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เกณฑ์ของดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย โดย กรมควบคุมมลพิษ

AQI สีที่ใช้ ความหมาย แนวทางการป้องกันผลกระทบ
0-25 ฟ้า คุณภาพอากาศดีมาก คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว
26-50 เขียว คุณภาพอากาศดี คุณภาพอากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ
51-100 เหลือง ปานกลาง ประชาชนทั่วไป สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ

ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

101-200 ส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น

ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาในการทำกิจกรรม
กลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ ควรปรึกษาแพทย์

201 ขึ้นไป แดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

 

การป้องกันความเสี่ยงจาก PM2.5 สามารถทำได้โดย

  • สวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานสากล และติดตั้งเครื่องกรองอากาศภายในบ้าน
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญมลภาวะในชั่วโมงเร่งด่วน ลดการอยู่ในสภาพที่มีการจราจรคับคั่ง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำและรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ และตั้งค่าให้มีการไหลเวียนอากาศภายในบ้าน เพราะระบบระบายอากาศเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยลดมลพิษภายในบ้านได้

คำแนะนำในการเลือกหน้ากาก

การจะเลือกใช้หน้ากากแบบใดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน หากต้องการป้องกัน PM2.5 ควรเลือกใช้หน้ากาก N-95 หรือหน้ากากที่ที่มีมาตรฐานสากลเท่าเทียม เช่น KN95 เป็นต้น ซึ่งสามารถป้องกันฝุ่นผงขนาดเล็กหรือ PM2.5 ได้ประมาณ 95% โดยเลือกที่มีขนาดและฟิลเตอร์ที่เหมาะสมกับผู้ใช้ ผ่านการทดสอบมาตรฐานจากต่างประเทศ และต้องสวมใส่อย่างถูกต้องพร้อมกับซีลบริเวณรอบ ๆ ใบหน้าให้แน่นพอดี หากกังวลว่าจะอึดอัด หายใจไม่สะดวก ในกรณีที่ไม่ได้เป็นผู้ป่วยโควิด 19 สามารถเลือกใช้หน้ากาก N-95 ชนิดที่มีวาล์วได้

หน้ากากชนิด N-95 ปกติใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่สามารถใช้สวมเป็นช่วง ๆ ได้ในระยะเวลา 3-4 วัน โดยพับเก็บในถุงซิป และควรเปลี่ยนหน้ากากชิ้นใหม่ทุกครั้งเมื่อฉีกขาด เปียกชื้น หรือรู้สึกหายใจติดขัด

 

เรียบเรียงจาก การบรรยายเรื่อง “ปกป้องลมหายใจ ปลอดภัย ไกลโรค” โดย ศ. ดร. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ งานสุขภาพเต็มร้อย วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2565