ย่านาง

ศ.ดร.ภก.วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล

0
2542

ย่านางเป็นไม้เลื้อย จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับบอระเพ็ดหรือกระท่อมเลือด กระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน อินเดีย พม่า มาเลเซีย และพบในเกือบทุกภาคของประเทศไทย จากการศึกษาในหนูทดลองโดยใช้สารสกัดจากการต้มน้ำไม่พบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรังในหนูขาวทั้งสองเพศ

 

ย่านาง

สรรพคุณทางยา ยาสามัญประจำบ้านใช้ใบย่านางเป็นส่วนประกอบยามหานิลแท่งทอง ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้กระหายน้ำ แก้หัด อีสุกอีใส รากย่านางใช้เป็นส่วนประกอบในยาหอมอินทจักร์ น้ำกระสายยาใช้น้ำดอกมะลิช่วยแก้ลมบาดทะจิต น้ำลูกผักชีหรือเทียนดำต้ม (ถ้าไม่มีใช้น้ำต้มสุก) ช่วยแก้คลื่นเหียนอาเจียน น้ำขิงต้มช่วยแก้ลมจุกเสียด นอกจากนี้ใบย่านางยังใช้แต่งสีในอาหาร เช่น ใส่แกงหน่อไม้ ช่วยให้รสดี รากใช้ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ราก ใบ และต้นสดตำผสมข้าวเจ้า เติมน้ำสะอาด คั้นกรอง ผสมเกลือและน้ำตาลทรายแดง ดื่มทำให้อาเจียน ลดพิษอาหาร เช่น เห็ดพิษ พิษจากกลอย

ย่านางมีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ใบ เดี่ยว เรียงสลับ มีขนละเอียดถึงเกลี้ยง มีริ้ว รูปรี รูปใบหอก หรือรูปไข่กลับ โคนใบรูปลิ่มถึงกลม ปลายใบแหลมถึงมน ดอก ช่อคล้ายช่อกระจะ ออกที่ซอกใบ หรือออกดอกแยกตามต้น แยกเพศ กลีบดอก 6 กลีบ รูปขอบขนานแถมรูปรี สีเหลือง ผล เมล็ดเดียว แข็ง สีแดง รูปไข่กลับ เกลี้ยง ออกดอกและติดผลช่วงเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน

ย่านางใหญ่

สรรพคุณทางยา ลำต้นผสมกับลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้มน้ำดื่มแก้บวมช้ำ แก้กระษัยเส้น

ย่านางใหญ่จัดเป็นพืชวงศ์เดียวกับย่านาง กระจายพันธุ์ในประเทศพม่า กัมพูชา เวียดนาม และพบในเกือบทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง พาดเลื้อย ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปรีถึงรูปรีกว้าง โคนใบมนถึงกลม ปลายใบมน ดอก ช่อคล้ายช่อเชิงลด ออกที่ซอกใบ แยกเพศต่างต้น มีขนสั้นนุ่มสีเกือบเหลือง กลีบดอก 6 กลีบ แคบยาวที่ปลาย สีเหลืองอ่อน ผล เมล็ดเดียวแข็ง สีเกือบเหลือง ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม และติดผลช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน

ย่านางแดง

สรรพคุณทางยา ใช้ต้นหรือรากเข้ายาบำรุงโลหิตสำหรับสตรีหลังคลอด ขณะอยู่ไฟ รากฝนกับน้ำต้มสุกหรือน้ำซาวข้าวดื่มกระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษยาเบื่อเมา ยาสั่ง ยาสำแดง

ย่านางแดงเป็นพืชเฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบทางภาคเหนือแถบจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบที่จังหวัดเลย กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และอำนวจเจริญ ลักษณะเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีมือเกาะ ยาว 5 เมตร ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมมีติ่งหนาม โคนใบกลมถึงรูปหัวใจตื้น ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีเส้นใบ 3-5 เส้น หูใบรูปเคียว ดอก ช่อกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง รูปทรงกระบอกแคบ ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับ สีแดงถึงแดงเข้ม ผล เป็นฝักรูปขอบขนาน ปลายแหลม สีน้ำตาล เมล็ดรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก แตกอ้า ออกดอกและติดผลช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านน่าจะเคยได้ยินชื่อ “ย่านาง” กันมานานแล้ว แต่อาจจะไม่เคยเห็นหน้าค่าตา อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะพอรู้จักลักษณะและเข้าใจสรรพคุณของย่านางแต่ละชนิดกันบ้างแล้วใช่ไหมครับ

 

Resource : HealthToday Magazine, No.180 April 2016