สวาด ยาแก้ไอ

ศ.ดร.ภก.วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล

0
1636

สวาด เป็นพืชที่พบทั่วไปในเขตร้อนชื้น ที่พบในประเทศไทยมี 2 ชนิด ชนิดที่พบทั่วไปและนิยมนำมาใช้ทำยาพบมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคใต้ บริเวณชายหาดริมทะเล ป่าเปิดทั่วไป และพบได้ในที่ระดับความสูงถึง 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ภาคเหนือเรียกว่า “ป่าขี้แฮด” ภาคใต้เรียกว่า “หวาด” อีกชนิดพบเฉพาะในภาคใต้ โดยมีชื่อเรียก เช่น ง้ายแดง ง้ายใหญ่

สวาดหรือป่าขี้แฮดในภาษาเหนือนั้นมีลักษณะเป็นไม้เลื้อยมีหนาม ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม และติดผลในเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ยังไม่พบรายงานความเป็นพิษ สิ่งที่ควรระวังคือหนามที่เกิดจากผิวตั้งตรงหรือโค้งลง สวาดชนิดนี้นอกจากในประเทศไทยแล้ว ยังพบมีการกระจายพันธุ์ในประเทศศรีลังกา อินเดีย สิกขิม เนปาล พม่า จีน ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

ใบสวาด ยาสามัญประจำบ้านใช้เป็นยาแก้ไอ เป็นส่วนประกอบสำคัญในตำรับยาประสะมะแว้ง โดยมีส่วนประกอบสำคัญอื่นๆ คือ ใบตานหม่อน ใบกะเพรา หนักอย่างละ 4 ส่วน ขมิ้นอ้อย หนัก 3 ส่วน ลูกมะแว้งต้น ลูกมะแว้งเครือ หนักอย่างละ 8 ส่วน บดเป็นผงผสมน้ำสุก ใส่พิมเสนพอควร ทำเป็นเม็ด หนักเม็ดละ 0.2 กรัม ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้เสมหะ ละลายน้ำมะนาวผสมเกลือรับประทาน หรือใช้อม ขนาดรับประทานสำหรับเด็ก ครั้งละ 1-2 เม็ด ผู้ใหญ่ ครั้งละ 5-7 เม็ด ขนาดบรรจุ 30 เม็ด ตำรายาไทยใช้ ใบ เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด แก้ปัสสาวะพิการ

สวาด ไม่ได้มีดีแค่สรรพคุณทางยา

คนสมัยโบราณนิยมนำลูกสวาดมาพกติดตัวไว้เพื่อให้มีผลทางด้านเสน่ห์ เมตตามหานิยมกับตัวเอง เชื่อกันว่าหากนำลูกสวาดไปให้อาจารย์ผู้มีวิชาอาคมขลังปลุกเสกด้วยพลังจิตเวทอาคมแล้ว จะทำให้มีฤทธิ์มีพลังอำนาจทางมหาเสน่ห์สูง

นอกเหนือจากใบซึ่งมีสรรพคุณทางยาแล้ว สวาดยังมีประโยชน์ในแง่ของความบันเทิงอีกด้วย โดยคนทางภาคใต้นิยมใช้ลูกสวาดในการเล่น “หมากขุม” ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมืองชนิดหนึ่งของชาวภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนราธิวาส และพบในจังหวัดภาคกลางตอนใต้คือ ประจวบคีรีขันธ์ แต่เรียกชื่อผิดเพี้ยนกันไปบ้าง โดยชางประจวบคีรีขันธ์เรียกการละเล่นนี้ว่า “หมากหลุม”  เมล็ดสวาดได้มาจากฝักที่แก่จัด มีน้ำหนักเบา ปัจจุบันหาได้ยากเนื่องจากสวาดขึ้นในป่า เมื่อป่าน้อยลง ต้นสวาดจึงพลอยหายากไปด้วย ลูกสวาดเมื่อแกะออกจากปลือกใหม่ๆ จะคายมือ แต่เมื่อเล่นไปนานลูกจะลื่นเป็นมัน ทำให้หยอดลูกลงขุมได้รวดเร็วขึ้น บางแห่งหาลูกสวาดไม่ได้จึงใช้ลูกแก้วแทน แต่ลูกแก้วมีน้ำหนักมาก ควักยาก และเวลาหยอดลงหลุมมีเสียงดัง ไม่เพราะเหมือนลูกสวาด

การเล่นหมากขุมเล่นได้ตั้งแต่เด็กเล็กที่พอจะนับเลขได้จนถึงหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ ส่วนมากผู้สูงอายุมักจะมีลูกหลานมานั่งเล่นเป็นเพื่อนให้คลายความเหงาและคลายเครียด ประโยชน์ของการเล่นหมากขุมมีหลายประการดังนี้ ประการแรก เป็นการสนุกสนานพักผ่อนหย่อนใจในยามว่าง ประการที่สอง ถ้าผู้เล่นเป็นเด็กทำให้รู้จักคิดเลขไปในตัว ตั้งแต่การแจกลูกขุมละเจ็ดลูก และเมื่อเล่นไปก็คิดคำนวณได้ว่าในขุมนั้นมีลูกอยู่เท่าใด เป็นการฝึกสมองด้านคณิตศาสตร์ ประการที่สาม ทำให้ตาไว เช่น ดูการเล่นของคู่ต่อสู้ได้ทัน ไม่ถูกโกง และสามารถนับลูกหมากขุมที่อยู่ในขุมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งมองดูขุมที่จะเดินต่อไปได้แม่นยำว่าขุมใดเป็นขุมตายหรือขุมเป็น จึงช่วยให้ตาไวและสมองไว เพราะในการเล่นมีกติกาห้ามนับลูก เป็นการเอาเปรียบฝ่ายตรงกันข้าม ประการที่สี่ เป็นการประหยัด ผู้ปกครองไม่ต้องซื้อของเล่นที่มีราคาแพง เป็นการสิ้นเปลือง ทั้งในวันหยุดลูกหลานก็ได้อยู่กับบ้านเล่นหมากขุม ไม่ต้องออกไปเที่ยวเตร่ ประการที่ห้า ลูกหลานรู้จักเก็บงำข้าวของให้มีระเบียบ เมื่อเล่นหมากขุมเสร็จแล้ว ผู้เล่นต้องรู้จักเก็บรางหมากขุมและลูกให้เรียบร้อย เช่น รางหมากขุมอาจจะสอดไว้ใต้โต๊ะ ในตู้ มิให้วางเกะกะ ลูกหมากขุมก็เก็บใส่กล่องไว้โดยนับจำนวนให้ครบเพื่อได้เล่นในโอกาสต่อไป การเล่นหมากขุมมิใช่เป็นการพนัน นอกจากว่าก่อนเล่นจะมีการสัญญากันว่าผู้แพ้ต้องถูกเขกหัวเข่า หรือต้องดื่มน้ำหนึ่งแก้ว บางทีเล่นกันจนผู้แพ้ทุกรอบต้องดื่มน้ำกันจนพุงกาง

กล่าวโดยสรุปคือ ใบสวาด สรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ขับลม แก้จุกเสียด แก้ปัสสาวะพิการ ส่วนลูกสวาดก็มีประโยชน์ด้านสันทนาการ ทำให้สนุกสนานผ่อนคลาย ทั้งยังฝึกสมอง และสร้างระเบียบวินัยให้กับผู้เล่นอีกด้วย

Resource : HealthToday Magazine, No.178 February 2016