ส้มโอ ผลไม้รักษาโรค

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
8959

บ้านผู้เขียนอยู่ที่แขวงศาลาธรรมสพน์ในกรุงเทพมหานคร แขวงนี้เป็นพื้นที่ชายแดนติดกับจังหวัดนครปฐมซึ่งขึ้นชื่อว่ามีส้มโอหวานพันธุ์อร่อย คือ พันธุ์ทองดี (ซึ่งมีการปลูกต่อเนื่องไปถึงสมุทรสาคร) ผลโต กลมแป้น ไม่มีจุก ที่ขั้วมีจีบเล็กน้อย รสหวานฉ่ำน้ำ เนื้อสีชมพู และราคาค่อนข้างไม่แพงนัก โดยมีราคาขายส่ง (เมื่อต้นเดือนมกราคม 2559) ที่ตลาดสี่มุมเมือง (เบอร์เล็ก) และตลาดไท (เบอร์กลาง) ประมาณ 35 บาทต่อผล ดังนั้นเมื่อถึงมือผู้บริโภคในห้างสรรพสินค้า ก็คงต้องบวกอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างเข้าไปจนราคาขายปลีกแพงกว่าขายส่งเป็นเท่าตัว

สำหรับส้มโอสายพันธุ์อื่นที่มีราคาต่อผลถูกประกาศในเน็ตของตลาดไทคือ ขาวแตงกวา (นิยมปลูกที่ชัยนาท) 30 บาท (เบอร์เล็ก) 50 บาท (เบอร์กลาง) และ 70 บาท (เบอร์ใหญ่) สำหรับขาวน้ำผึ้ง (นิยมปลูกทั่วไป) ขาวพวง (เคยนิยมปลูกที่บางประกอก ธนบุรี) ขาวแป้น (นิยมปลูกทั่วไป) และขาวใหญ่ (นิยมปลูกที่สมุทรสงคราม) นั้นก็ราคาประมาณเดียวกัน ดังนั้นสรุปแล้วส้มโอจึงเป็นผลไม้ราคาปานกลางที่คนเมืองคงพอรับได้ ส่วนคนชนบทนั้นถ้าปลูกกินเองได้ก็ไม่เสียหลาย เพราะเป็นพืชพื้นถิ่นบ้านเรามานานแล้วที่ไม่จำเป็นต้องทำวิจัยเพื่อป้องกันโรครุกรานต่างๆ มากนัก

ในการกินส้มโอ สำหรับผู้บริโภคที่ ตาถึง โชคดีมีบุญไม่ถูกหลอกเพราะแม่ค้าใจดี จะได้ส้มโอที่มีรสหวานจนกินเป็นผลไม้สดได้ แต่ถ้าเคราะห์หามยามร้ายได้ส้มโอเปรี้ยว ก็ต้องนำไปประกอบอาหาร เช่น ทำส้มตำหรือข้าวยำ ซึ่งต้องการความเปรี้ยวของส้มโอซึ่งมีความหอมเฉพาะตัว หรือเอาส้มโอออกเปรี้ยวไปทำของหวาน เช่น แยมส้มโอซึ่งอร่อยดี หรือในกรณีไม่ต้องการออกแรงมากนักก็ทำน้ำส้มโอ (ด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้า) ดื่มได้

สำหรับเปลือกหุ้มเนื้อสีขาวนั้นเป็นของดีไม่ควรทิ้ง เพราะมีเพ็คตินซึ่งช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ดี การใช้ประโยชน์จากเปลือกส้มโอนั้นสามารถทำโดยนำไปทำเป็นขนมเปลือกส้มโอ วิธีทำขนมเปลือกส้มโอ (ซึ่งช่วยลดขยะอินทรีย์และสอนให้เด็กเล็กได้ของเล่นสนุก) นั้นไม่ยาก เริ่มจากการเอาเฉพาะส่วนสีขาวของเปลือกมาหั่นเป็นชิ้นๆ จากนั้นเอาไปขยำกับน้ำให้หายขื่น แล้วนำไปแช่น้ำปูนใสราว 3 ชั่วโมง (น้ำปูนมีธาตุแคลเซียมซึ่งจะทำปฏิกิริยากับเพคตินได้เป็นเกลือเพคตินซึ่งมีลักษณะสัมผัสที่กรอบแข็งกำลังดี) จากนั้นเอาเปลือกส้มโอขึ้นคั้นน้ำปูนออกให้หมดแล้วต้มจนสุก พักให้เย็นแล้วคั้นน้ำออกให้หายขมจึงค่อยผึ่งให้หมาดๆ ก่อนนำไปอบให้แห้ง ได้เป็นเปลือกส้มโอที่ไม่หวานพอกินเล่นได้เพื่อลดคอเลสเตอรอลในเลือด

สำหรับผู้กล้าซึ่งไม่กลัวเบาหวาน (เพราะสามารถคุมใจให้กินแต่น้อยได้) ให้นำเปลือกส้มโอไปเคี่ยวต่อในกระทะทองเหลืองที่ตั้งไฟพร้อมมีน้ำดอกไม้สดผสมน้ำตาลทรายที่เคี่ยวเป็นยางแล้ว ทำการเคี่ยวเปลือกส้มโอไปจนน้ำตาลแห้งและจับติดเปลือกส้มโอจึงตักขึ้น ทิ้งไว้ให้เย็น เก็บใส่ภาชนะไว้รับประทานครั้งละเล็กละน้อยไม่เกินวันละ 2 ชิ้น

มีผู้เสนอคำแนะนำในอินเตอร์เน็ตสำหรับท่านที่รักสนุกชอบเสี่ยงซื้อส้มโอเป็นผลว่า ให้เลือกส้มโอที่มีสีผลจางลงจนออกเขียวอมเหลือง (เมื่อเทียบกับลูกดิบที่อาจวางอยู่ใกล้) มีต่อมน้ำมันอยู่ห่างกัน ก้นผลมีวงเป็นสีน้ำตาลโดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางราวเหรียญบาท เมื่อใช้มือกดที่ผลจะนิ่มแต่ไม่น่วม ส่วนในกรณีที่ไปถึงร้านแล้วดูไม่ออกตามคำแนะนำและซื้อกี่ทีก็เปรี้ยว ขอแนะนำให้ซื้อส้มโอที่ถูกแกะเนื้อแสดงความแดงฉ่ำวางในภาชนะห่อด้วยพลาสติก (พร้อมพริกกะเกลือ) จากห้างสรรพสินค้าบางแห่ง ซึ่งอาจลดความเสี่ยงที่ต้องกินส้มโอเปรี้ยวได้บ้าง

เว็บของฝรั่งหลายเว็บ (ซึ่งก็ไม่ต่างจากของคนไทย) ให้ข้อมูลถึงประโยชน์ของส้มโอว่า ช่วยทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น เพราะใยอาหารส้มโอนนั้นช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ดี (ซึ่งถ้ากินเพลินไปอาจถ่ายท้องได้) เนื้อส้มโอนั้นช่วยทำให้ความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติได้เพราะมีธาตุโปแตสเซียมสูงกว่าโซเดียม พร้อมทั้งอาจช่วยทำให้สุขภาพของหัวใจดีขึ้นด้วย อีกทั้งความที่เป็นผลไม้ตระกูลส้มจึงมีวิตามินซีสูง และจะช่วยให้ภูมิต้านทานแข็งแรงดี (ถ้าท่านกินอาหารมีวิตามินเอและธาตุสังกะสีพอ) หลายคนเชื่อว่าการกินส้มโอทำให้ได้ธาตุแมกนีเซียม (ความจริงมีมากในผักใบเขียวเพราะเป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ หรือแมกนีเซียมคลอไรด์ซึ่งทำให้น้ำประปาบางพื้นที่กระด้างถาวร) ซึ่งน่าจะช่วยให้นอนหลับฝันดี เป็นต้น

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับส้มโอที่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนั้น ท่านผู้สนใจสามารถไปดูบทความเรื่อง Cultivar variations in antioxidant and antihyperlipidemic properties of pomelo pulp (Citrus grandis [L.] Osbeck) in Thailand ในวารสาร Food Chemistry ชุดที่ 139 หน้าที่ 735-743 ปี 2013 เป็นงานวิจัยของกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาของคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เนื้อส้มโอนั้นมีการใช้มาแต่โบราณเพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร กระตุ้นการทำงานของหัวใจและกระเพาะอาหาร ที่น่าสนใจคือ ส้มโอมีพฤกษเคมีซึ่งถูกจัดว่าเป็นสารต้านออกซิเดชั่น (ที่มักปรากฏในพืชตระกูลส้มหลายชนิด) โดยที่น่าสนใจคือ นารินจีนิน (naringenin) และนารินจิน (naringin)

สารนารินจินนั้นมีการศึกษาค่อนข้างมากในด้านการบำบัดโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง (โดยมีฤทธิ์ไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง) และอาการที่เราเรียกว่า กลุ่มอาการเมตาบอลิค (metabolic syndrome ซึ่งเป็นปัจจัยทางชีวเคมีในร่างกายที่ก่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและปัญหาทางสุขภาพ เช่น เบาหวาน และอาการหลอดเลือดในสมองตีบ) ข้อมูลล่าสุดที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ ในวารสาร Planta Medica ชุดที่ 80 หน้า 437-451 ปี 2014 นั้น มีงานวิจัยที่กล่าวว่า นารินจินนั้นสามารถทั้งป้องกันและบำบัดมะเร็งได้หลายชนิด

ดังนั้นเมื่อทราบว่า ส้มโอมีสารพฤกษเคมีหลากหลายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของร่างกายและอร่อย จึงอาจพออนุมานได้ว่า การเลือกกินส้มโอเป็นผลไม้ประจำมื้ออาหารบ้างนั้นน่าจะคุ้มค่าแก่การจ่ายเงิน

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 180 April 2016