ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรค COVID-19

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ

0
3384
COVID-19
เมื่อท่านกลับจากประเทศที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่ามีการระบาดของโรค COVID-19 แล้ว และให้ท่านกักกันตนเองไว้ที่บ้าน ท่านจะปฏิบัติอย่างไรบ้าง?

สิ่งที่ควรรู้ 

  1. ระยะฟักตัวของโรค ให้ใช้อย่างน้อย 14 วัน แต่ไม่เกิน 28 วัน
  2. เชื้อโรคจะแพร่กระจายทางน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ฝอยละอองขนาดใหญ่ (ตกลงพื้นในระยะ 2 เมตร) และฝอยละออกขนาดเล็ก (เล็กกว่า 5 ไมครอน) จากการไอ จาม ตะโกนเสียงดัง
  3. เชื้อโรคอาจจะแพร่กระจายผ่านทางอุจจาระเหลวได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วง ผ่านการที่มือสัมผัสอุจจาระ หรือการกดชักโครก ซึ่งทำให้มีละอองฝอยขนาดเล็กเกิดขึ้นได้
  4. เชื้อโรคตายง่ายเมื่อทำสิ่งต่อไปนี้นาน 1 นาที
  • เมื่อถูกความร้อน (ต้ม ตากแดด เผา) เกิน 60 องศาเซลเซียส
  • เมื่อล้างมือด้วยสบู่
  • เมื่อสัมผัสแอลกอฮอล์ร้อยละ 70 ขึ้นไป (จากการเช็ด ถู ล้างมือ หรือสิ่งของ)
  • เมื่อสัมผัสกับน้ำยาทำลายเชื้อ เช่น povidone iodine (PVI), 0.5% hydrogen peroxide, 0.1% sodium hypochlorite

*** ไม่แนะนำ benzalkonium chloride และ 0.02% chlorhexidine digluconate เพราะอาจจะไม่ได้ผลเลย

  1. หน้ากากอนามัยในการป้องกันการสูดดมฝอยละอองขนาดเล็กและขนาดใหญ่
  • มีไว้ให้ผู้ป่วยสวมใส่ตลอดเวลา
  • หากให้คนปกติสวม หน้ากากอนามัยทั่วไปป้องกันการสูดดมละอองขนาดใหญ่ได้ (หากเผลอไปนั่งหรือยืนใกล้คนที่แพร่เชื้อในระยะ 2 เมตร) แต่ป้องกันการสูดดมฝอยละอองขนาดเล็กไม่ดี
  • การป้องกันการสูดดมละอองฝอยขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน ต้องสวมหน้ากากอนามัยชนิด N-95 ให้กระชับใบหน้า เวลาหายใจจะรู้สึกฝืดและต้องสูดหายใจแรงขึ้นตลอดเวลา

สิ่งที่ควรปฏิบัติตลอด 14 วันที่จำกัดสถานที่ให้ตนเองอยู่

  1. ห้ามออกไปนอกบ้านหรือการเข้าไปในฝูงชนหรือปะปนกับคนอื่น
    • ไม่ต้องไปทำงาน ไม่ไปเที่ยวนอกบ้าน ไม่ไปห้างสรรพสินค้าที่มีคนพลุกพล่าน
    • ไม่ไปขึ้นรถสาธารณะ รถไฟฟ้าโดยสารสาธารณะ

2. ให้อยู่บ้าน

    • พักผ่อนและแยกตนเองอยู่
    • ไม่ชวนเพื่อนมาพบปะพูดคุยชุมนุมจนกว่าจะพ้นระยะกักกันตนเอง
    • อยู่ห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร
    • ใส่หน้ากากอนามัย
    • ไม่จับมือหรือกอดจูบกับผู้อื่นในบ้าน ทักทายด้วยการไหว้ พูดคุย
    • แยกสิ่งของที่จะใช้ร่วมกัน เช่น จานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ ใช้ช้อนกลางตักอาหาร
    • ใช้ห้องน้ำแยก หรือใช้ห้องน้ำรวม เมื่ออาบน้ำหรือใช้ห้องน้ำเสร็จแล้ว ให้ทำความสะอาดทุกอย่างในห้องน้ำด้วยน้ำกับสบู่หรือแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเฉพาที่อ่างน้ำ ก๊อกน้ำ ที่กดชักโครก ลูกบิดประตู ราวเสื้อผ้า หรือราวให้มือจับ เวลาถ่ายอุจจาระเสร็จให้ปิดฝาชักโครกก่อนจะกดน้ำล้างอุจจาระลงโถส้วม
    • เสื้อผ้าและเครื่องใช้ส่วนตัวให้ทำความสะอาดโดยการต้ม 1 นาที ก่อนนำไปซักล้างร่วมกับเสื้อผ้าของผู้อื่น
    • ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้มือไปแคะขี้มูกในรูจมูก แคะขี้ฟันในช่องปาก จับต้องใบหน้า หรือขยี้ตา

3. การไอ จาม และการทำลายหน้ากากอนามัยที่ปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก เสมห

    • ให้ไอใส่หน้ากาก หรือไอใส่แขนเสื้อตนเอง (หากสวมหน้ากากอนามัยไม่ทัน)
    • เอาหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงพลาสติกแล้วปิดถุงเพื่อนำไปทิ้งลงในถังขยะสีแดง (ทำลายเชื้อ) หากปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลายมาก อาจจะพ่นแอลกอฮอล์สเปรย์ที่หน้ากากอนามัยก่อนปิดถุง เมื่อปิดถุงแล้วให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่นาน 30 วินาที หรือเช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล
    • ทำลายเชื้อในบ้าน บนสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจจะปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก มือไปสัมผัสถูก โดยการใช้น้ำยาแอลกอฮอล์เช็ดถู และปล่อยให้แห้งนาน 1 นาที
    • หากยังมีอาการไอและจามบ่อย ให้พิจารณาพ่นน้ำยา PVI throat spray วันละ 3 ครั้งในลำคอและรูจมูก (เช้า กลางวัน เย็น) เพื่อทำลายเชื้อไวรัส และพิจารณาการใช้เครื่องกรองอากาศทำลายเชื้อในห้องพัก

เมื่อเกิน 14 วัน และท่านยังไม่มีอาการใด ๆ แนะนำให้ปฏิบัติตนดังต่อไปนี้อีก 14 วัน

  • ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้านหรือเข้าฝูงชน
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในห้างสรรพสินค้าหรือในที่ที่มีฝูงชนหนาแน่น และการขึ้นรถโดยสารสาธารณะ
  • ล้างมือบ่อย ๆ กินร้อน ช้อนกลาง