ครอบครัว 4.0

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
13019

ในช่วงปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากในประเทศไทย โดยเฉพาะความพยายามของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ เรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากคือเรื่องประเทศไทย 4.0

หากติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องคงพอทราบรายละเอียดอยู่บ้างว่าเป็นการแบ่งช่วงของการพัฒนาประเทศจากยุค 1.0 ที่เน้นภาคเกษตรกรรม มายุค 2.0 ที่เริ่มเป็นอุตสาหกรรมเบา และติดชะงักที่ 3.0 เน้นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก ทำให้เป็นกับดักทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่เพียงรายได้ปานกลางขั้นสูง จนเกิดแนวคิดประเทศไทย 4.0 ที่จะขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายหรือภาพฝันที่เป็นเศรษฐกิจแบบ value-based economy เน้นการสร้างสินค้าเชิงนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งภาคบริการ

สำหรับครอบครัว อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่อันที่จริง เราทุกคนคือส่วนที่จะขับเคลื่อนความฝันนี้ให้เป็นจริง ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและการเรียนรู้ของเด็กยุค 4.0 การศึกษาเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความพยายามจะปฏิรูป แต่ครอบครัวยังคงเป็นแรงสนับสนุนสำคัญสำหรับการเรียนรู้ของทุกคนในครอบครัวไม่เฉพาะเด็ก การมองเรื่องความพร้อมสำหรับยุค 4.0 มีสิ่งที่ครอบครัวต้องคำนึงถึง ตั้งแต่การปลูกฝังคุณลักษณะเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็ก คุณลักษณะแรกที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้ คือ เรื่องความอดทน และความมุ่งมั่น หากยังเป็นคนไทยแบบตามสบาย คงเกิดความสำเร็จได้ยาก ด้วยความท้าทายของการผลิตและสร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้งงานภาคบริการ ความเป็นเลิศมาจากความสามารถที่จะอดทน มุ่งมั่นทำสิ่งที่ตั้งใจได้อย่างต่อเนื่อง แม้ยังไม่ประสบความสำเร็จในระยะแรก ก็ต้องฝ่าฟันทำต่อเนื่องอย่างมีเป้าหมาย

คุณลักษณะที่สอง ต้องสนับสนุนให้พร้อมด้านการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้เชิงวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แบบเป็นเหตุเป็นผล สนใจใฝ่รู้ ค้นคว้า สังเกต วิเคราะห์ หาคำตอบใหม่ ๆ ซึ่งสามารถเริ่มได้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว จากในบ้าน รอบบ้าน ไปรอบ ๆ ชุมชน ตอบการพัฒนาจากโจทย์ของการใช้ชีวิตในชุมชนสังคมของตนเอง นำไปสู่การขยายผลงานที่สามารถใช้งานได้จริง บวกกับคุณลักษณะที่สาม เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ที่ต้องเปิดการมีโอกาสหลากหลาย ลงมือสร้างความคิด ความฝันของตนเองอย่างมีหลักการ ต่อยอดความคิดขึ้นไปตามความสนใจ ตามวัย จนเป็นนวัตกรรม

คุณลักษณะที่สี่เป็นส่วนช่วยเสริมในเรื่องความสามารถของภาษามากกว่าหนึ่งภาษา เป็นทั้งการพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีของสมองในวัยเด็ก เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสิ่งใหม่ ๆ เมื่อโตขึ้น และเปิดช่องทางการสื่อสารเชื่อมโยงกับผู้คนไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดได้มากขึ้น แค่คุณสมบัติสี่ด้านก็มีเรื่องที่ครอบครัวจะทำกิจกรรมร่วมกันและสร้างสิ่งแวดล้อมในบ้านได้อย่างมากมาย ลองทบทวนดูสภาพแวดล้อมและการดูแลว่าขณะนี้ช่วยหนุน หรือขัดขวางคุณสมบัติทั้งสี่ประการนี้

เรื่องความอดทนมุ่งมั่นของเด็กเป็นความท้าทายของพ่อแม่ที่จะต้องเริ่มจากตนเองที่จะสามารถบริหารจัดการเรื่องชีวิตงาน ชีวิตส่วนตัว ไม่ตึงเครียดมากเกินไป เป็นตัวแบบสำหรับลูกในเรื่องของอารมณ์ สามารถบริหารเวลาดูแลลูก ฝึกลูกให้ลงมือทำอะไรด้วยตนเอง รับผิดชอบดูแลตนเองได้ ไม่ปล่อยตามใจเพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแล หรือตึงเครียดมากจนเด็กไม่เป็นตัวของตัวเอง อารมณ์ไม่ปกติตามไปด้วย

ได้พื้นฐานอารมณ์ที่ดีแล้ว การส่งเสริมการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ไม่ยาก ไม่ใช่การสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่พ่อแม่สร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กได้เล่น ได้สังเกต พูดคุย ถามตอบ ค้นคว้าหาคำตอบที่อยากรู้ไปด้วยกัน อธิบายใช้เหตุผลกับลูก สร้างสมดุลในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการค้นคว้า กับการทำกิจกรรมไปตามวัย การใช้ชีวิตกับของเล่นตามธรรมชาติ รวมทั้งสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก

ผ่านสองคุณลักษณะแรก เรื่องความคิดสร้างสรรค์มาตามธรรมชาติของเด็ก พ่อแม่เพิ่มโอกาสการลงมือทำสิ่งที่เด็กสนใจ มีจินตนาการ สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ตีกรอบ พยายามให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่หลากหลาย แสดงความคิดเห็นได้ ระดมสมองกันในครอบครัว นอกจากนี้เวลาที่เกิดปัญหา ฝึกให้ลูกมองหาวิธีการต่างๆที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ช่วยเสริมทั้งการฝึกคิด สร้างความเชื่อมั่น และความภาคภูมิใจให้กับเด็กด้วย

ประเทศไทย 4.0 ยังมีโอกาสดีจากพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแนะแนวทางให้คนไทยเรียนรู้ เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยหลักพอประมาณ มีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกัน ที่อยากให้ทุกครอบครัวได้ทำความเข้าใจ นำมาใช้ในการดำเนินชีวิต จะเป็นการปลุกคุณธรรมภายในให้กับลูก เป็นภูมิคุ้มกันให้ความคิดที่จะพัฒนาตนเองและสังคมมีหลักยึดภายในใจ นวัตกรรมที่สร้างขึ้นต้องเป็นนวตกรรมที่ตอบโจทย์ชุมชนสังคมของตนเองอย่างแท้จริง ถ้าสำเร็จจริง เศรษฐกิจเลยกับดักปานกลางขั้นสูงไปได้จริง นอกจากจะมั่งคั่งแล้ว ยังเป็น 4.0 ที่อยู่ร่วมกันด้วยความสุข

ภาพประกอบโดย  วาดสุข

 

Resource : HealthToday Magazine, No.188 December 2016