เทคนิคป้องกันและลดรอยแผลเป็น

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
3943
แผลเป็น

แผลเป็น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ที่ไหนเกิดแผล เวลาแผลหายแล้วจะมีแผลเป็นไม่มากก็น้อย แผลเป็นนอกจากมีผลทางกายภาพแล้ว ยังมีผลทางจิตใจ บางคนมีผลมาก บางคนมีผลน้อย บางคนชอบแผลเป็นเพราะเป็น
สิ่งที่เขาภาคภูมิใจ เป็นเครื่องหมายของนักสู้นักรบผู้กล้าหาญ บางคนเกลียดแผลเป็นมากเพราะทำให้ไม่สวย สำหรับเรื่องไม่สวยนี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้หญิง ทำให้เกิดอุตสาหกรรมในเรื่องการรักษาแผลเป็นขึ้นมา

ทุกครั้งที่เกิดแผล ธรรมชาติของร่างกายจะเริ่มมีกระบวนการหายของแผล กระบวนการหายของแผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับความลึกของแผล ถ้าเป็นแผลถลอกตื้น ๆ การหายของแผลจะเกิดขึ้นง่าย ๆ โดยการงอกของเซลล์ผิวหนัง
ส่วนผิว (epidermis) จากขอบแผลหรือจากเซลล์ต่อมเหงื่อหรือขุมขนเข้ามาปิดแผล เมื่อปิดแผลมิดแล้ว แผลจะแห้งไม่มีน้ำเหลืองซึมออกมาเลอะผ้าปิดแผล อย่างนี้เรียกว่าแผลหายแล้ว

แต่สำหรับแผลลึก (ลึกกว่าหนังกำพร้า) การหายต้องอาศัยกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้น คือมีการสร้างสารคอลลาเจน (collagen) เข้ามาในแผล แล้วเกิดการเชื่อมต่อของหลอดเลือดและเส้นประสาทที่ขาดออกจากกัน ในขณะเดียวกันตรงส่วนใกล้ ๆ ผิวหนังก็จะมีการงอกของเซลล์ผิวหนังเข้ามาปิดผิวแผล ส่วนของคอลลาเจนจะพัฒนากลายเป็นแผลเป็นซึ่งมีความหนาความแข็งมากกว่าผิวหนังธรรมดา แผลเป็นจะใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับขนาดของแผลที่แยกออก
ถ้าแผลใหญ่เวลาหายแผลเป็นก็จะใหญ่ การเย็บแผลจะช่วยให้ขอบแผลเข้ามาชนกัน ส่งผลให้แผลเป็นเล็กลง และแผลอยู่นิ่งหายเร็วขึ้น

แผลเป็นส่วนมากจะแบนและสีจางลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่แผลเป็นบางแผลยังคงปูดนูน (hypertrophic scar) และบางกรณีที่พบไม่บ่อยแผลเป็นจะปูดนูนและโตขึ้นกว่าขอบแผลเดิม มีความประพฤติเหมือนเนื้องอกซึ่งเรียกว่า คีลอยด์ (keloid)

การดูแลแผลเพื่อลดแผลเป็น

การดูแลรักษาแผลตั้งแต่แรกมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดแผลเป็นมากหรือน้อย ถ้ารักษาดี ถูกหลักการแพทย์ แผลเป็นก็เกิดน้อย วิธีการดูแลแผลมีดังนี้

  • ดูแลรักษาให้แผลสะอาด โดยการล้างแผล เพราะทุกแผลที่เปิดอยู่จะมีเชื้อโรคแบคทีเรียอยู่ไม่มากก็น้อย ถ้าทิ้งแผลไว้ไม่ล้าง เชื้อโรคจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้น พอเชื้อโรคมีมากถึงจุดหนึ่งมันจะมีพิษมากขึ้น มีการรุกรานเนื้อเยื่อทำให้เกิดการติดเชื้อ เห็นได้จากการมีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อนเจ็บ ถ้ามากกว่านั้นจะเป็นหนอง เป็นไข้ ฯลฯ ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้นควรล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดให้จำนวนเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม (เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย) ลดน้อยลงมากที่สุด และทำความสะอาดบริเวณผิวหนังรอบแผลด้วยสบู่และน้ำ อย่าให้สบู่ลงแผลเพราะจะทำให้เนื้อเยื่อแผลเสียหาย ถ้าแผลหายช้าหรือมีการติดเชื้อจะทำให้เกิดแผลเป็นมาก
  • ควรใช้ยาขี้ผึ้ง (ointment) ที่มียาฆ่าเชื้อหรือไม่มีก็ได้ ละเลงบาง ๆ ปิดแผลเพื่อรักษาความชื้นของแผลไว้ แผลชื้นหายเร็วกว่าแผลแห้ง (แผลไม่ใช่คอนกรีต อย่าปล่อยให้มันอ้าซ่าแห้งผาก)
  • ปิดแผลไว้โดยใช้เทปปิดแผลหรือผ้าก๊อซที่ไม่ติดแผล แล้วปิดด้วยเทปเหนียวหรือพลาสเตอร์เพื่อปกป้องแผล กันกระแทก ให้ความชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้แผลหายเร็ว อนึ่งควรล้างแผลวันละครั้งเพื่อลดการติดเชื้อ ทำให้แผลหายดี มีแผลเป็นเกิดขึ้นน้อย

แผลบางชนิดเมื่อหายแล้วอาจจะมีแผลเป็นเยอะ เช่น แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรใช้วัสดุปิดแผลเพื่อไม่ให้เกิด
แผลเป็นมาก เช่น แผ่นซิลิโคนเจล, ไฮโดรเจล เดรสซิ่ง หรือ scar ointment วัสดุพวกนี้จะช่วยรักษาผิวหนังที่เพิ่งหาย (ยังบางอยู่) ให้ชุ่มชื้น และป้องกันการยืดออกหรือขยายใหญ่ของแผลเป็น (ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้ แต่เขาว่ายังไม่มีข้อมูลรับรองร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าช่วยได้) เวลาใช้ ควรใช้ทุกวันเป็นเวลานานหลายเดือน ข้อเสียคือ ราคา และอาจจะทำให้ผิวหนังระคายเคือง

สำหรับคนที่มีความโน้มเอียงที่จะเป็นคีลอยด์ มีทางเลือกอีกทางคือ กดทับแผลเป็นโดยใช้วัสดุปิดแผล (bandages) เสื้อผ้า (garment) กดแผลที่ใช้สวมใส่ หรือใช้เครื่อง (device) ที่สร้างแรงกดไปบนแผล เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นปูดนูนหรือคีลอยด์ วัสดุกดแผลเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เป็นเวลานานประมาณ 1 ปีจึงจะเห็นผล

การรักษาแผลเป็นที่เกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะเพิ่งเกิดหรือเกิดขึ้นหลายปีแล้วก็ตาม มีแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้แผลเป็น
มองเห็นได้ไม่ชัด ไม่น่าเกลียด วิธีง่าย ๆ วิธีหนึ่งคือ การใช้ครีมป้องกันแสงแดด ซึ่งจะทำให้แผลเป็นไม่เห็นเด่นชัดแล้วค่อย ๆ จางไปจนกลมกลืนเข้ากับผิวหนังโดยรอบได้ดี สำหรับผิวหนังที่ไม่ได้รับการปิดป้องโดยเสื้อผ้า ควรใช้
ครีมกันแดด สเปกตรัมกว้าง ความเข้มข้น (SPF) อย่างน้อย 30 เมื่อต้องออกไปนอกบ้าน

ทางเลือกอย่างอื่นที่มีเพื่อรักษาแผลเป็น

  • แผ่นซิลิโคนเจล (silicone gel sheets) อย่างที่กล่าวข้างต้น อาจจะลดขนาดและความแข็งของแผลเป็นที่
    เกิดขึ้นแล้ว
  • การฉีดสเตียรอยด์ หมอฉีด corticosteroid เข้าสู่แผลเป็นหรือคีลอยด์ วิธีนี้ใช้แล้วสามารถลดขนาดของแผลเป็นปูดนูนได้ราว 50% หรือมากกว่า แต่ต้องฉีดทิ้งช่วงเป็นระยะ ๆ เป็นเวลานาน บางรายต้องไปฉีดยาเป็นเวลาแรมปี
  • ถ้าฉีดสเตียรอยด์แล้วไม่ได้ผล ก็จำเป็นต้องฉีดยาต้านมะเร็งที่เรียกว่า 5FU ( 5-fluorouracil) การฉีดสารตัวนี้ เขาว่าอาจจะได้ผลมากกว่าสเตียรอยด์ บางคนว่าการฉีด 2 อย่างร่วมกันอาจได้ผลมากขึ้น
  • การรักษาด้วย imiquimod (Alda) เป็นยาเฉพาะที่ ออกฤทธิ์ผ่านระบบภูมิต้านทาน อาจจะมีผลดีต่อแผลเป็น
    คีลอยด์
  • การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ แสงเลเซอร์บางชนิดหรือแสงอย่างอื่นสามารถลดความแดงของแผลเป็นได้ บางชนิด
    ลดความแข็งและความนูนของแผลเป็นได้ อาจจะต้องใช้การรักษาหลายอย่างร่วมกัน และกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลา
  • การผ่าตัดรักษา (scar revision) เป็นวิธีสุดท้าย เป็นวิธีที่ใช้เมื่อวิธีอื่นไม่ได้ผลแล้วจริง ๆ เนื่องจากการผ่าตัดโดยตัวมันเองทำให้เกิดแผลเป็น การผ่าตัดอาจต้องใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น การฉีด imiquimod หรือการฉายแสงเพื่อช่วยป้องกันการเกิดซ้ำ

แผลเป็นชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่มีแผลมาก่อน เช่น แผลเป็นหน้าท้องของคนตั้งครรภ์ เกิดจากการที่หนังหน้าท้องโดนยืดจนเนื้อเยื่อข้างในผิวหนังเกิดแผลเป็น (stretch marks) ยากินยาทาช่วยไม่ได้ การใช้แสงเลเซอร์ช่วยทำให้สีของแผลเป็นจางลง ทำให้มองเห็นไม่ชัด หมอโรคผิวหนังที่เชี่ยวชาญด้านนี้สามารถบอกคุณได้ว่าท้องลายของคุณเหมาะกับการรักษาวิธีใด

Resource: HealthToday Magazine, No.210 October 2018