เบาหวาน ปัญหาหนัก

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร

0
1323

คุณคงจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “โรคเบาหวานเป็นฆาตกรเงียบ” นั่นก็เพราะว่ามันจะค่อย ๆ เอาชีวิตคุณไปอย่างช้า ๆ และกว่าจะรู้ตัวก็มักจะสายไปเสียแล้ว ถึงแม้จะฟังดูเกินจริง แต่คำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำขู่ให้กลัว…หากแต่แฝงความจริงเอาไว้ด้วย

เบาหวานชนิดที่ 2 มีความเกี่ยวพันกับโรคร้ายแรงต่าง ๆ หลากหลายโรค หลายครั้งความสัมพันธ์นั้นก็มาในลักษณะของงูกินหาง เพราะเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าโรคใดเกิดก่อนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น…มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า เบาหวานเป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาต่อดวงตา ไต และหัวใจ และยังส่งผลกระทบไปถึงสุขภาวะโดยรวมและสุขภาพระยะยาวของคุณอีกด้วย

น้ำตาลกลูโคสคือตัวการของเรื่องทั้งหมด

ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น คนส่วนใหญ่ทั่วโลกก็รักของหวานไม่แพ้กัน ไอศครีมในวันที่อากาศร้อน ๆ เค้กสักชิ้น หรือช็อกโกเลตในวันแย่ ๆ แค่นี้ก็ทำให้คุณยิ้มออกแล้วใช่มั้ยล่ะ? หรือจะเป็นน้ำแข็งใสเย็น ๆ ราดด้วยซอสสตรอว์เบอร์รี่ หรือแม้กระทั่งขนมง่าย ๆ อย่างโรตีราดน้ำตาลและนมข้น นอกจากนี้ข้าวยังคงเป็นอาหารหลักที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของคนไทยทุกคน ของพวกนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายคุณได้รับในแต่ละวัน ซึ่งคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายรับเข้าไปจะถูกแปรสภาพเป็นน้ำตาลเพื่อให้ง่ายต่อการดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร น้ำตาลเหล่านี้คือแหล่งพลังงานหลักที่เราใช้เพื่อดำรงชีวิต กลูโคสเป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยวที่ร่างกายต้องการ และยังเป็นตัวการของโรคเบาหวานอีกด้วย

กลูโคสและอินซูลิน

หลายคนคงเคยรู้จักกับอวัยวะที่มีชื่อว่า “ตับอ่อน” ตับอ่อนเป็นต่อมไร้ท่อขนาดใหญ ตั้งอยู่ตรงใต้ลิ้นปี่ แทรกตัวอยู่ระหว่างกระเพาะอาหารและกระดูกสันหลัง ตับอ่อนถูกจัดเป็นต่อมไร้ท่อเนื่องจากมันมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญหลายชนิด และหนึ่งในนั้นก็คือ “อินซูลิน” (Insulin)

อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมระดับกลูโคสในเลือด หรือที่ถูกเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า “ระดับน้ำตาลในเลือด” ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากถ้ามีปริมาณกลูโคสในเลือดสูงเกินไปในช่วงระยะเวลาที่นานพอก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะหลายอย่าง เช่น ดวงตา เส้นประสาท ไต หลอดเลือด และหลายครั้งที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายอย่างถาวร

ปัญหาที่เกิดขึ้นเรียกว่า “เบาหวาน”

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าในโรคเบาหวานนี้มีผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญสองคน คือ กลูโคสและอินซูลิน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับตับอ่อนซึ่งเป็นแหล่งผลิตอินซูลินที่สำคัญของร่างกาย หรือมีปัญหาใด ๆ ที่ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติในการตอบสนองต่อระดับของอินซูลิน จะนำไปสู่ภาวะกลูโคสในเลือดที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น และเมื่อระดับกลูโคสพุ่งขึ้นสูงเกินกว่าระดับที่ปลอดภัย นั่นคือต้นกำเนิดของโรคเบาหวาน

เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติในตัวตับอ่อนโดยตรง นั่นคือตับอ่อนไม่สามารถที่จะผลิตอินซูลินออกมาให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถที่จะควบคุมระดับของน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 นี้มักเกิดขึ้นในเด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่น และพบน้อยกว่าภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 มาก

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเบาหวานชนิดที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมคนเมืองที่คนส่วนใหญ่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์  ห่างไกลจากการออกกำลังกายและอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้เกิดโรคเบาหวาน เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากการที่ร่างกายมีอาการดื้อต่ออินซูลิน ทำให้การตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินในระดับปกติลดลง ตับอ่อนจำเป็นต้องผลิตอินซูลินที่มากขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้เกณฑ์ตามเดิม แต่เมื่อถึงระดับหนึ่งที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินให้เพียงพอต่อความต้องการอินซูลินที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ของร่างกายอีกต่อไป ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะพุ่งสูงขึ้นอย่างไร้การควบคุม ซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) นั้นไม่ดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน เพราะน้ำตาลในเลือดที่สูงจนผิดปกติจะส่งผลต่อเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ เช่น ดวงตา ไต เส้นประสาท ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะหมดสติจากน้ำตาลในเลือดสูง Hyperosmolar hyperglycemic state ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติไปมาก ทำให้เลือดเกิดความข้นหนืด และส่งผลให้มีภาวะการขาดน้ำอย่างรุนแรง

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

เมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานขนิดที่ 2 แล้ว แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนอาหารและวิถีชีวิต (Life style modification) เพื่อที่จะควบคุมน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้แพทย์อาจสั่งยาที่จะช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ควบคู่กัน ผู้ป่วยมีความจำเป็นจะต้องมาพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจเช็คระดับน้ำตาล และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากโรคเบาหวาน

นอกจากแพทย์แล้ว อีกคนหนึ่งที่จะช่วยให้คุณมีชีวิตอย่างปลอดภัยแม้จะป่วยเป็นเบาหวานก็คือ ตัวของผู้ป่วยเอง การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การออกกำลังกาย รับประทานอาหารอย่างสมดุล และดูแลสุขภาพองค์รวมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะปกป้องผู้ป่วยจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

Resource: HealthToday Magazine, No.196 August 2017