ไขข้อข้องใจคนวัยทอง

อ.นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ สูตินรีแพทย์

0
1903

วัยหมดระดู หรือวัยทอง หมายถึงช่วงวัยของสตรีที่รังไข่หยุดทำงาน โดยทั่วไปจะมั่นใจได้ก็ต่อเมื่อไม่มีประจำเดือนครบ 1 ปี จากข้อมูลการสำรวจประชากรในประเทศไทยพบว่า อายุเฉลี่ยของสตรีไทยที่เข้าสู่วัยทองตามธรรมชาติคือ 48-50 ปี แต่บางรายก็เข้าสู่วัยทองโดยเหตุอื่น เช่น การผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง การได้รับยาเคมีบำบัด หรือฉายรังสีรักษา เป็นต้น ซึ่งภาวะที่มีการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สร้างจากรังไข่ในวัยทองนี้ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในเกือบทุกระบบของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบหลอดเลือด กล้ามเนื้อและกระดูก อวัยวะสืบพันธุ์ เต้านม ระบบทางเดินปัสสาวะ เส้นผมและผิวหนัง การกระจายตัวของไขมันในร่างกายรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ความจำ และการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย หลายการเปลี่ยนแปลงได้นำพาให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและขอคำแนะนำ ฉบับนี้จึงขอนำเสนอบางข้อสงสัยที่ผู้ป่วยมักสอบถามเมื่อมาพบแพทย์ ซึ่งอาจจะตรงกับของใครอีกหลายคน

เมื่อเข้าสู่วัยทอง…

ดังที่ได้เกริ่นไว้แล้วข้างต้นว่าการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในเกือบทุกระบบของร่างกาย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในหลายระบบของร่างกาย สตรีวัยทองหลายท่านจึงพบแพทย์พร้อมด้วยคำถามมากมาย เช่น

เข้าวัยทองแล้วผมร่วง ผิวไม่ดี อยากใช้ฮอร์โมนได้ไหม?

แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนโดยพิจารณาจากข้อบ่งชี้ 4 ข้อ คือ

  • มีอาการร้อนวูบวาบในระดับที่รบกวนชีวิตประจำวัน
  • ช่องคลอดแห้ง คัน เจ็บที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
  • เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40-45 ปี เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนและโรคหัวใจมากขึ้น
  • ใช้เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน

การใช้ฮอร์โมนเพื่อแก้ปัญหาผมและผิวไม่ได้อยู่ในข้อบ่งชี้ เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงแล้ว จึงไม่แนะนำให้ใช้ ยกเว้นว่ามีข้อบ่งชี้อื่นใน 4 ข้อดังกล่าวร่วมด้วย

ทำไมพอเข้าวัยทองแล้วจึงอ้วนลงพุงได้ง่ายทั้งที่กินเหมือนเดิม?

โดยทั่วไปจะสังเกตได้ว่าผู้ชายจะมีภาวะอ้วนลงพุงเพราะไขมันส่วนเกินจะถูกเก็บไว้ที่บริเวณเนื้อเยื่อในช่องท้องด้านใน ไขมันเหล่านี้เป็นไขมันไม่ดีที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ และนำไปสู่โรคระบบหัวใจและหลอดเลือดในที่สุด ในขณะที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ไขมันส่วนเกินจะถูกเก็บไว้ที่บริเวณสะโพก ต้นขา และหน้าอก แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง การลดลงและหมดไปของฮอร์โมนเพศหญิงได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยไขมันส่วนเกินจะถูกย้ายไปเก็บสะสมไว้ที่บริเวณช่องท้องด้านในคล้ายกับผู้ชาย เราจึงพบว่าผู้หญิงอายุน้อยมีโอกาสเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังน้อยกว่าผู้ชาย แต่เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยทองจะมีโอกาสเกิดโรคเหล่านี้ได้เท่า ๆ กับผู้ชาย จึงต้องระมัดระวังเรื่องพฤติกรรมการกินโดยเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

จะรักษาอาการร้อนวูบวาบได้อย่างไร?

การรักษาอาการร้อนวูบวาบในผู้หญิงที่กำลังเข้าสู่วัยทองมี 2 วิธี คือ การรักษาแบบใช้ยา ได้แก่ การใช้ฮอร์โมน หรือยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนบางชนิด เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้าบางตัวอาจใช้ลดอาการได้ และ การรักษาแบบไม่ใช้ยา เช่น การทำใจให้สบาย นั่งสมาธิ อยู่ในที่อากาศเย็น รับประทานไอศกรีม งดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนและอาหารเผ็ด เป็นต้น อย่างไรก็ตามพบว่า มีผู้หญิงไทยเพียง 20-30% เท่านั้นที่มาพบแพทย์เนื่องจากมีอาการร้อนวูบวาบจนรบกวนการใช้ชีวิต แตกต่างจากผู้หญิงชาวตะวันตกที่มีอาการนี้มากถึง 70-80% การรักษาอาการร้อนวูบวาบแบบไม่ใช้ยาสามารถปฏิบัติเองได้ที่บ้าน แต่หากมีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาใช้ยาที่เหมาะสม

ทำไมผู้หญิงวัยทองจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้มาก?

โดยธรรมชาติของร่างกาย กระดูกจะมีการสร้างและสลายอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง ฮอร์โมนอสโตรเจนที่หมดไปจะส่งผลให้กระดูกสลายตัวมากขึ้น จึงพบปัญหากระดูกบางและกระดูกพรุน(รุนแรงกว่ากระดูกบาง)ในผู้หญิงวัยทองเป็นจำนวนมาก โดยส่วนของกระดูกที่พบปัญหาได้บ่อย คือ กระดูกสะโพก และ กระดูกสันหลัง สิ่งที่แพทย์กังวลเกี่ยวกับภาวะกระดูกพรุนก็คือ “ปัญหากระดูกหัก” เนื่องจากนำมาซึ่งปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ส่วนสูงลดลง ปวดหลังเรื้อรัง เสียสมดุลในการทรงตัว ความรู้สึกต่อตนเองแย่ลง แยกตัวจากสังคม เสี่ยงต่ออาการซึมเศร้า เสี่ยงต่อโอกาสในการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนมากขึ้น ดังนั้นเป้าหมายหลักในการดูแลผู้ป่วยกระดูกพรุนของแพทย์จึงเป็น “การป้องกันไม่ให้กระดูกหัก” โดยการ…

  • ลดความเสี่ยงการพลัดตกหกล้ม โดยการจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่วางของเกะกะ ระวังไม่ให้พื้นลื่น วางของในที่หยิบฉวยได้ง่าย ห้องน้ำควรปูพื้นยางกันลื่น มีราวเกาะ มีเก้าอี้นั่งอาบน้ำ ทางเดินหรือบันไดควรมีราวจับ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลต่อจิตประสาท นอกจากนี้การออกกำลังกายบางประเภท เช่น ไทชิ ชี่กง ยังส่งผลดีต่อการทรงตัว จึงช่วยลดความเสี่ยงการหกล้มได้เช่นกัน
  • กินยารักษาโรคกระดูกพรุน ยาชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันกระดูกหักได้ 100% แต่จะช่วยลดความเสี่ยงกระดูกหักได้ประมาณ 40-70%

สำหรับการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีนั้น  ข้อเสนอแนะจากข้อมูลทางเวชประจักษ์ในปัจจุบันระบุว่า ถ้าได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอจากอาหารแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินแคลเซียมเสริม ในส่วนของวิตามินดีส่วนใหญ่ร่างกายสามารถสร้างได้เองโดยอาศัยแสงแดด การตรวจหาระดับวิตามินดีในเลือดควรส่งตรวจเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้ เช่นผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุน เป็นต้น แพทย์อาจพิจารณาเสริมวิตามินดีจากอาหารหรือยาในกรณีที่มีวิตามินดีในระดับต่ำ หรือในรายที่มีความเสี่ยงในการหกล้ม เช่น อายุมากกว่า 65 ปี

อันที่จริงการจะมีสุขภาพที่ดีได้นั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องเริ่มดูแลลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่วนตัวเราเองเมื่อเติบโตขึ้นมาก็ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลายครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเจ็บไข้ไม่สบายควรมาพบแพทย์ตามนัดหมาย และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้เราทุกคนก็จะมีสุขภาพที่ดีได้ไม่ยาก

Resource: HealthToday Magazine, No.195 July 2017