โรคฮิต เมื่ออับชื้น

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
1417

เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีประสบกับปัญหาอาการ “คัน” เกาแล้วเกาอีก ยิ่งเกา…ก็ยิ่งคัน ยิ่งคัน…ก็ยิ่งเกา ทำอย่างไรก็ไม่หายขาดสักที โดยเฉพาะในผู้ที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาการดังกล่าวเป็นอาการคันเนื่องจาก “กลาก เกลื้อน”

กลากและเกลื้อนต่างก็เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา เพียงแต่เป็นเชื้อราคนละชนิด ซึ่งต่างก็ทำให้เกิดโรคที่ผิวหนังกำพร้าชั้นนอกเหมือนกัน โรคกลากทำให้เกิดโรคได้ในหลายๆ ตำแหน่ง และมีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่ง เช่น เรียกว่าชันนะตุเมื่อเกิดที่ศีรษะ หากเกิดที่เท้ามักเกิดบริเวณซอกนิ้ว มีอาการเปื่อยยุ่ย คัน ผิวหนังแตกเป็นร่องแดง มักเกิดในผู้ที่ออกกำลังกายมากๆ จนเท้าชุ่มเหงื่อ และใส่ถุงเท้ารองเท้าที่อับ ระบายเหงื่อได้ไม่ดี จึงเรียกอีกอย่างว่า โรคเท้านักกีฬา (Athlete’s foot) อีกทั้งยังเป็นโรคที่ติดต่อได้หากใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น หวี เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า

โรคเกลื้อนเป็นโรคไม่ติดต่อ และมีลักษณะแตกต่างจากกลาก โดยจะเป็นวงเล็กๆ รอบรูขุมขน หรือรวมกันเป็นปื้นใหญ่ก็ได้ อาจจะเป็นสีขาวที่อ่อนกว่าสีผิวข้างเคียง หรือสีน้ำตาลที่เข้มกว่าสีผิวข้างเคียง ในคนไทยมักพบเป็นสีขาวมากกว่า ไม่ค่อยมีอาการคันเหมือนกลาก จึงมักถูกละเลย ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อเกลื้อนเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนคนรอบข้างทัก โดยบริเวณที่เกลื้อนขึ้นนั้นมักจะเป็นบริเวณที่มีไขมันและมีความชื้นของเหงื่อมาก เช่น ใบหน้า ต้นคอ แผ่นอก แผ่นหลัง และบริเวณเอว

แพทย์จะทราบได้ว่าเป็นกลากหรือเกลื้อนโดยดูจากลักษณะของผื่น หรืออาจใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการขูดเบาๆ ที่บริเวณผื่นจนเกิดเป็นขุย แล้วนำขุยนั้นไปย้อมดูเพื่อตรวจหาเชื้อรา การรักษาเริ่มแรก ในโรคกลากจะเริ่มจากการใช้ยาทา เช่น ยากลุ่มอิมิดาโซล (Imidazole) ส่วนเกลื้อนอาจใช้กลุ่มยาฟอกทั่วตัว เช่น ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium sulfide) หรือหากเป็นไม่มากอาจใช้ยากลุ่มอิมิดาโซลได้เช่นกัน

หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากทายาไปแล้วประมาณ 3-4 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุหรือให้การรักษาเพิ่มเติมที่สำคัญคือ อย่าลืมรักษาความสะอาด เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

กลากเกลื้อนป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาดร่างกาย หลังจากทำงานหรือเล่นกีฬาควรอาบน้ำฟอกสบู่ เน้นบริเวณซอกอับ เช่น รักแร้ ขาหนีบ ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า เช็ดตัวให้แห้ง เลือกเสื้อผ้า ถุงเท้า และรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี ถ้ามีเหงื่ออกมากควรเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือถุงเท้าบ่อยๆ และไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 179 March 2016