ไอ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร

0
1174

ที่จริงแล้วอาการไอเป็นกลไกการป้องกันอีกแบบหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองจากสิ่งแปลกปลอมที่อาจจะตกลงไปในหลอดลม รวมถึงป้องกันตัวเองจากสารก่อการระคายเคืองและภูมิแพ้ต่าง ๆ รวมถึงเป็นกลไกที่จะช่วยให้การขับเชื้อโรคออกจากร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ไอ มีหลายสาเหตุ

อาการไอเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อของหลอดลมและปอด การระคายเคืองจากทั้งสารเคมี ควัน หรือสารก่อภูมิแพ้ กรดในกระเพาะอาหารที่อาจจะหลุดเข้ามาในหลอดลมเมื่อมีอาการกรดไหลย้อน หรือแม้กระทั่งสภาวะน้ำเกินจากหัวใจล้มเหลว ก็อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอได้เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าอาการไอนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะสาเหตุหลัก ๆ ที่พบบ่อยที่สุดของอาการไอก็คือ การระคายเคืองหลอดลมที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อาการไอแบบนี้มักจะมาในรูปแบบของไอมีเสมหะใส ๆ หลังจากผ่านไปสัก 2-3 วันเสมหะก็จะค่อย ๆ ลดลงพร้อม ๆ กับไข้และน้ำมูก เหลือแค่เพียงอาการไอที่จะยังคงอยู่ต่อไปอีกราว ๆ 2-3 อาทิตย์ สำหรับบางคนอาการไอแห้ง ๆ อาจจะอยู่นานถึงหนึ่งเดือนโดยที่ไม่มีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจเลยแม้แต่น้อย

อาการไอที่ควรไปพบแพทย์

ถึงแม้ว่าอาการไอจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่มีลักษณะอาการบางอย่างที่เป็นสัญญาณไม่น่าไว้วางใจ และบ่งบอกว่าคุณควรจะไปพบแพทย์

  • ไอเรื้อรัง คือไอติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าสองเดือน และไม่มีช่วงใดที่อาการไอทุเลาลงเลย
  • ไอเป็นเลือด อาการไอเป็นเลือดนี้อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ กล่าวคือการไอหนัก ๆ ไอนาน ๆ ก็อาจจะทำให้มีอาการไอเป็นเลือดเกิดจากการที่หลอดลมเกิดการบาดเจ็บจากการไอจนถลอกเป็นรอยแผลมีเลือดออก ซึ่งในกลุ่มนี้เลือดมักจะออกสีแดงเป็นเส้น ๆ แยกออกจากเสมหะอย่างเห็นได้ชัด แต่อาการไอที่มีเลือดออกจากปอดนั้น เลือดมักมีลักษณะเป็นสีชมพูอ่อน ๆ และมีฟองอากาศ
  • ไอร่วมกับหายใจมีเสียงวี้ด เป็นสัญญาณของโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยมักมีอาการไอขึ้นมาเมื่อพบกับสิ่งกระตุ้น
  • ไอร่วมกับอาการหอบตอนกลางคืนเวลาที่นอนราบ เป็นอาการของโรคน้ำท่วมปอดจากหัวใจล้มเหลว
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นสัญญาณของเนื้อร้ายที่อาจจะกำลังแอบซ่อนตัวอยู่ในปอดของคนไข้

บรรเทาอาการไอด้วยตัวเอง

การรักษาอาการไอที่บ้านนั้นมีหลากหลายวิธี ส่วนมากแล้วไม่สามารถทำให้อาการไอหายไปในทันทีได้ แต่จะทำให้อาการทุเลาลงในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

  • ดื่มน้ำเยอะ ๆ จะช่วยทำให้เสมหะที่เหนียวข้นนั้นเจือจางลง ทำให้สามารถขับออกได้ง่ายขึ้น
  • อยู่ในอากาศที่มีความชื้นและอุณหภูมิพอเหมาะ อากาศที่แห้งและเย็นจะกระตุ้นการสร้างเมือกในทางเดินหายใจ และทำให้อาการไอเป็นหนักมากขึ้น
  • รับประทานยาแก้ไอ ยาแก้ไอบางชนิดมาในรูปของน้ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองในหลอดลมได้ในระดับหนึ่ง
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและภูมิแพ้ อาทิ ขนของสัตว์เลี้ยง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ รวมไปถึงควันบุหรี่และควันจากเครื่องยนต์ต่าง ๆ

Resource: HealthToday Magazine, No.194 June 2017