ฝนตก น้ำขัง ระวังฉี่หนู!

อ.พญ.วิรงค์รอง เจียรกุล อายุรแพทย์

0
1607

โรคฉี่หนู เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียรูปเกลียวชนิดหนึ่ง ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira) ในช่วงแรกที่ค้นพบโรคนี้ มีการพบเชื้อในฉี่ของหนู จึงเรียกว่า “โรคฉี่หนู” แต่ปัจจุบันพบว่าสามารถพบเชื้อเลปโตสไปราได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิด เช่น หมู วัว ควาย สุนัข แมว ช้าง เป็นต้น แต่ปัญหาคือเมื่อสัตว์เหล่านี้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปแล้วไม่ได้เป็นโรค หรืออาจจะมีอาการบ้าง เช่น แท้งลูกง่าย แต่ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติ เมื่อเชื้อเลปโตสไปราเข้าสู่ร่างกายของสัตว์แล้ว จะไปอาศัยอยู่ในท่อไต โดยสามารถอยู่ได้นานตลอดชีวิตของสัตว์เหล่านั้น และปนเปื้อนออกมากับปัสสาวะของสัตว์ ซึ่งตลอดชีวิตของสัตว์ตัวหนึ่ง ๆ สามารถปล่อยปัสสาวะลงสู่แหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมได้มากมายหลายครั้ง เรียกได้ว่าเป็น “แหล่งรังโรค” เมื่อมีสัตว์ตัวอื่น ๆ มาดื่มกินหรือสัมผัสเชื้อก็จะได้รับเชื้อต่อกันไปเรื่อย ๆ

เชื้อเลปโตสไปราเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในธรรมชาติ แต่เชื้อจะไม่ทนต่อสภาพแวดล้อมในธรรมชาติเท่าใดนัก หากอยู่ในที่น้ำไหลแรง มีแสงแดดส่องถึง เชื้อก็จะตายในเวลาไม่นาน แต่ถ้าเป็นแหล่งน้ำนิ่งหรือนำขัง เชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ยกตัวอย่างกรณีการขุดลอกคูเมืองในจังหวัดหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ทราบกันดีว่าน้ำในคูเมืองส่วนใหญ่เป็นน้ำนิ่ง เชื้อเลปโตสไปราจึงมีชีวิตอยู่ได้นาน ซึ่งการขุดลอกคูเมืองในครั้งนั้นทำให้มีผู้ติดเชื้อโรคฉี่หนูมากกว่า 100 ราย

พบบ่อยในชนบท

การระบาดของโรคฉี่หนูแบ่งได้เป็นหลายแบบ แต่ที่พบมากคือ แบบในเมืองและแบบชนบท

  • โรคฉี่หนูแบบในเมือง ส่วนใหญ่ระบาดเป็นครั้งคราวตามแต่โอกาส เช่น ช่วงน้ำท่วม ฝนตกต้องเดินลุยน้ำขังเป็นเวลานาน เป็นต้น โอกาสสัมผัสเชื้อในช่วงเวลาปกติมีน้อย
  • โรคฉี่หนูแบบชนบท แตกต่างจากโรคฉี่หนูแบบในเมืองที่ระบาดเป็นครั้งคราว เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคในกรณีที่สัตว์ตัวนั้นได้รับเชื้อเลปโตสไปราเข้าสู่ร่างกาย และในทางปฏิบัติเราไม่สามารถฆ่าสัตว์เลี้ยงทุกตัวที่มีเชื้อโรคฉี่หนูได้ เกษตรกรที่ต้องทำงานสัมผัสน้ำและดินที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน ๆ และทำเป็นประจำจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคฉี่หนูได้มากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูในเขตชนบทมากกว่าเขตเมือง

เส้นทางเข้าสู่คน

เชื้อเลปโตสไปราสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้โดยการไชเข้าทางผิวหนัง หากผิวหนังมีบาดแผลก็จะยิ่งไชเข้าได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่ในคนที่ผิวหนังปกติ ไม่มีบาดแผล การแช่น้ำนาน ๆ จนผิวหนังเหี่ยวย่นจะเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อโรคฉี่หนูได้มากขึ้น แต่ถ้าสัมผัสเพียงครู่เดียวก็แทบจะไม่มีความเสี่ยง ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ช่วงฝนตกหนักจะมีน้ำขังรอการระบายอยู่ทั่วเมือง การเดินลุยน้ำจึงมีโอกาสติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ โดยเฉพาะเวลาที่ฝนตกใหม่ ๆ เพราะเชื้อจะมีความเข้มข้นสูงเนื่องจากน้ำบางส่วนจะเอ่อล้นมาจากท่อระบายน้ำซึ่งเต็มไปด้วยเศษสิ่งปฏิกูลรวมทั้งอุจจาระปัสสาวะของหนู จึงควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำขังเป็นเวลานาน ๆ นอกจากนี้เชื้อโรคฉี่หนูยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น เยื่อบุตา จมูก และปาก ดังนั้นการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคฉี่หนูจึงอาจทำให้ติดเชื้อได้

ความรุนแรงของโรค

ผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูอาจมีทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ ในกรณีที่ได้รับเชื้อปริมาณน้อย ภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถรับมือได้ก็จะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ 2-3 วันแล้วก็หายไป ในผู้ที่มีอาการมักแสดงหลังจากได้รับเชื้อ 3 วันถึง 3 สัปดาห์ โดยมีอาการที่สำคัญ ได้แก่ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อยเนื้อตัว ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการเหล่านี้ ในรายที่เป็นรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อโรคฉี่หนู ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ไตวาย เส้นเลือดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ และภาวะเลือดออกผิดปกติ ซึ่งที่แพทย์กังวลที่สุดคือ ภาวะเลือดออกในปอด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากสาเหตุนี้เนื่องจากขาดอากาศหายใจ เพราะปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศได้ ไม่ต่างอะไรกับคนจมน้ำ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคทวีความรุนแรงขึ้น แต่ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปริมาณเชื้อที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ในกรณีต้องสงสัยว่าเป็นโรคฉี่หนู แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลาประมาณ 7 วัน แต่ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ในขณะที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงแล้ว การรักษาจะเป็นแบบประคับประคองตามอาการจนอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ดีขึ้น

โรคฉี่หนูเมื่อเป็นแล้วสามารถกลับเป็นได้อีก แม้ว่าหลังจากรักษาจนหายแล้วร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์นั้น ๆ ได้ก็ตาม เนื่องจากเชื้อโรคฉี่หนูมีจำนวนหลายสิบสายพันธุ์ นอกจากนี้จากการศึกษาติดตามพบว่าในผู้ป่วยบางรายเมื่อเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคฉี่หนูที่ร่างกายสร้างขึ้นนั้นกลับลดลง ดังนั้นจึงไม่ควรประมาทคิดว่าเป็นแล้วจะไม่เป็นอีก

ลดความเสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนู

ในความเป็นจริง ฤดูฝนไม่ได้มีเพียงโรคฉี่หนูเท่านั้นที่ต้องระวัง แต่ยังมีโรคอื่น ๆ อีกหลายโรคที่มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งมาตรการป้องกันขั้นพื้นฐานที่ควรปลูกฝังให้กับทุกคนตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ก็คือ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ในมุมของโรคฉี่หนู การกินอาหารร้อน ๆ ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่วางทิ้งไว้ข้ามวันข้ามคืน และดื่มน้ำสะอาด จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคฉี่หนูได้

นอกจากนี้ในบริบทของคนเมือง ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง หากสุดวิสัยไม่สามารถเลี่ยงได้ให้ล้างทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสโดนน้ำขังทันทีที่สะดวก อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคที่ติดมาไชเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น หรือถ้ารู้ล่วงหน้าว่าต้องลุยน้ำควรเลือกใส่รองเท้าบูทจะช่วยป้องกันได้

สำหรับการป้องกันโรคฉี่หนูในชนบท นอกจากการกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาดแล้ว อีกวิธีที่แนะนำคือ การสวมใส่รองเท้าบูทเมื่อต้องออกไปนา ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันโรคฉี่หนูได้เท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันการโดนหอยเชอรี่บาด รวมถึงป้องกันการติดเชื้อโรคเมลิออยด์ได้อีกด้วย ทว่าในทางปฏิบัติกลับค่อนข้างมีข้อจำกัดเนื่องจากไม่เข้ากับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพราะการใส่รองเท้าบูทย่ำดินโคลนในท้องนาเป็นอุปสรรคในการเดิน ชาวนาส่วนใหญ่จึงไม่นิยม นอกจากนี้ยังมีวิธี กินยาป้องกัน วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากต้องกินยาหลายครั้ง อีกทั้งยายังมีผลข้างเคียง ทำให้คลื่นไส้อาเจียน และผิวจะดำมากถ้าโดนแดด ซึ่งไม่เข้ากับชีวิตเกษตรกรที่ต้องสัมผัสแดดเป็นประจำ  ในส่วนของวัคซีน ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนูในคน มีเพียงวัคซีนที่ใช้กับสัตว์เท่านั้น

ดังที่กล่าวมาแล้วว่ามีโรคติดเชื้อหลายอย่างที่มาพร้อมกับฝน การดูแลรักษาสุขภาพอย่างง่าย ๆ ที่อยากเน้นย้ำกันอีกครั้งคือ การกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ควรปฏิบัติให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การล้างมือ” ทุกครั้งก่อนกินอาหารหรือก่อนสัมผัสบริเวณที่มีเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ตา จมูก ปาก ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เพราะเราไม่รู้ว่าในแต่ละวันเราไปสัมผัสเชื้ออะไรมาบ้าง การล้างมือบ่อย ๆ จึงช่วยลดโรคได้ นอกจากนี้หากมีอาการป่วยควรปรึกษาแพทย์ อย่ารักษาเองหรือคิดเอาเองว่าป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้ เนื่องจากในช่วงหลัง ๆ นี้มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นบ่อยมากเมื่เปรียบเทียบกับในอดีต ดังนั้นถ้าไม่มั่นใจในอาการป่วยของตนเอง ควรไปพบแพทย์

Resource: HealthToday Magazine, No.194 June 2017