ความสัมพันธ์ออนไลน์

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
2834

จากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่า การใช้ออนไลน์ดึงเวลาออกไปจากการมีความสัมพันธ์จริงทางสังคม เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการสื่อสารกับคนที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้า หรือดึงออกไปจากสังคม ไปอยู่ตามลำพัง ไม่อยากสุงสิงกับใคร นานวันมักมีเพื่อนในชีวิตจริงน้อยลง  สำหรับครอบครัวส่วนใหญ่สมาชิกเกือบทุกคนมีออนไลน์ของครอบครัว และมีกลุ่มส่วนตัวของแต่ละคน การใช้ออนไลน์ในครอบครัวมีข้อควรระวังหลายประการ

  • กฎข้อแรก เป็นเช่นเดียวกับสื่อทุกประเภทที่ ไม่ควรแทรกแซงเวลาในครอบครัว อย่างเวลารับประทานอาหาร ถ้าอยากจะใช้บ้างต้องวางลงเมื่อถึงเวลาทำกิจกรรมที่ทุกคนควรหันมาสนใจ แลกเปลี่ยน พูดคุยกันในครอบครัว เป็นพื้นฐานที่ควรทำกับทุกสื่อในครอบครัว ที่ในเวลาของครอบครัวทุกคนจะหันจากการอยู่ในโลกส่วนตัวมาอยู่กับกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวเสมอ
  • กฎข้อที่สอง สำหรับเด็ก พ่อแม่ต้องตัดสินใจเรื่องการเริ่มให้ลูกใช้เมื่อไหร่ และดูแลทำข้อตกลงเรื่องค่าใช้จ่าย เวลาที่จะใช้ และการรักษาข้อตกลงเรื่องของการใช้งาน
  • กฎข้อที่สาม เรื่องความเป็นส่วนตัว ออนไลน์เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่แต่ละคนสร้างพื้นที่ขึ้นมา ทุกคนไม่ชอบให้บุคคลอื่นเข้ามามากกว่าที่ตนเองยอมรับได้ การแอบเข้าไปดู เข้าไปตรวจสอบโดยไม่มีการพูดคุยกัน เป็นเรื่องที่กระทบความสัมพันธ์มาก บ่อยครั้งเด็กรู้สึกว่าพ่อแม่เข้ามาควบคุมติดตามเขามากขึ้น
  • กฎข้อที่สี่ คิดก่อนโพสต์ พบว่าบางครั้งความรวดเร็วในการพิมพ์ข้อความ หรือการแสดงออกทันทีในออนไลน์ อาจเป็นส่วนที่ทำให้ความขัดแย้งเปิดตัวรุนแรงมากขึ้น หรือเป็นความพยายามจะเฝ้าติดตามคนในครอบครัวตลอดเวลา ด้วยการส่งข้อความและต้องการให้ตอบกลับทันที เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่พยายามจะรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเขา
  • กฏข้อที่ห้า อย่าให้ออนไลน์มาแทนการทำอะไรด้วยกัน แม้ออนไลน์จะพัฒนาให้สามารถโพสต์บอกความรู้สึกได้ แต่ก็ไม่สามารถแทนความรู้สึกที่สัมผัสได้จากการได้ใช้เวลาด้วยกัน เจอกัน สัมผัส พูดคุย แลกเปลี่ยน หรือแม้แต่นั่งลงใกล้ๆ กันในวันเวลาที่สมาชิกในครอบครัวต้องการ

ข้อดีของออนไลน์กับสัมพันธภาพในครอบครัว

ท่ามกลางการคืบคลานเข้ามาของอุปกรณ์การสื่อสาร คาดว่าในแต่ละวันเราใช้เวลากับสื่อต่างๆ ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน สัมพันธภาพของครอบครัวสามารถใช้ประโยชน์จากการสื่อสารผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ พ่อและแม่ต้องเปิดใจยอมรับความคุ้นเคยของลูกที่จะเติบโตในยุคที่มีการใช้งานออนไลน์ในชีวิตของลูก จากการศึกษาพบว่าเด็กสามารถใช้การสื่อสารผ่านทั้งสามช่องทางกับคนในครอบครัว ทั้งการส่งข้อความหรือภาพ  การพูดคุยด้วยเสียง  และการทำวีดีโอคอลเห็นทั้งภาพและได้ยินเสียง

  • เลือกใช้ออนไลน์เพื่อให้ครอบครัวติดต่อกันได้เสมอ ข้อดีของออนไลน์คือ ทำให้สามารถส่งข้อความถึงกันได้ในเวลาที่ทุกคนสะดวก ไม่ต้องรอเวลาที่จะต้องกลับมาเจอกัน หรือว่างที่จะรับสายโทรศัพท์ โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องเดินทาง  หรือต้องออกไปอยู่ห่างกันเนื่องจากการทำงานหรือการไปเรียน
  • ออนไลน์ยังอาจทำให้ครอบครัวขยายยังสื่อสารกันได้ จากการเป็นครอบครัวเดี่ยวที่ต่างแยกออกไปเป็นครอบครัว ออนไลน์ช่วยให้ครอบครัวใหญ่มีช่องทางสื่อสารกันเป็นวงใหญ่ ปู่ย่าตายายแม้จะอยู่ห่างจากหลานก็ได้ติดตามเห็นหลานเติบโต ลูกพี่ลูกน้องได้พูดคุยกันมากขึ้น  การนัดรวมตัวพบปะกันในกลุ่มทำได้ง่ายขึ้น
  • เลือกใช้ออนไลน์สื่อสารข่าวสาร ทำให้ได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หรืออาจเป็นข้อมูลที่ต้องการให้สมาชิกได้ทราบ และบันทึกเก็บไว้ใช้งานร่วมกัน
  • เลือกใช้ออนไลน์เสริมการส่งความรู้สึกกับทุกคน อย่างการส่งความปราถนาดีในวันเกิด เป็นการเพิ่มช่องทางการส่งความรู้สึกในโอกาสพิเศษในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น โดยไม่ทิ้งการเจอกันและทำอะไรด้วยกันในโอกาสพิเศษ

การสื่อสารผ่านข้อความออนไลน์มีประโยชน์ช่วยเสริมความสัมพันธ์ของครอบครัวได้ แต่มีข้อควรระวังที่สำคัญคือ การใช้เวลาที่มากขึ้นเรื่อยๆ  ถ้าใช้มากเกินไปจะส่งผลต่อการที่จะได้พบปะ สบตา รู้สึกรับรู้ต่อกันอย่างจริงจัง  และถ้าไม่ระมัดระวังอย่างเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของอีกฝ่ายมากเกิน อาจกลายเป็นสร้างความตึงเครียดและขัดแย้งกัน  “ใช้อย่างพอดี ไม่ทิ้งการคุยกัน รักษาพื้นที่ครอบครัว ปลอดสื่อทุกชนิดในบางเวลา” คงทำให้การเติบโตของเด็กยุคเทคโนโลยียังมีสายสัมพันธ์ครอบครัวเป็นหลักยึด

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No. 177 January 2016