ใครกันแน่ที่เป็นทุกข์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์

0
1364
ทุกข์

เราทุกคนเคยมีทุกข์ และเคยพบสถานการณ์เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือคนที่รักกำลังมีทุกข์

ควรทำตัวอย่างไร?

หลักการกว้าง ๆ ของเรื่องนี้คือ บ่อยครั้งที่เราเองคือฝ่ายถูกกระตุ้น แล้วพูดหรือทำอะไรบางอย่างออกไป เพื่อปลอบประโลมตัวเอง มากกว่าที่จะปลอบประโลมเขา แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ เราไม่ควรปลอบประโลมเขา

กระแสโรคซึมเศร้าทำให้เกิดดราม่าที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือมีการเผยแพร่ข้อความที่ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
บางข้อเขียนรวบรวมได้ถึง 20 ประโยค จนกระทั่งเกิดคำถามว่าแล้วจะให้พูดอะไร ผู้ป่วยอะไรจะสำออยเปราะบางได้ขนาดนั้น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็มีศักดิ์และสิทธิ์ของผู้ป่วยเช่นกัน เหมือนโรคภัยไข้เจ็บทั่วไป

ชวนให้เกิดคำถามที่กว้างขึ้นอีกคือ แล้วกับคนที่กำลังมีทุกข์เฉย ๆ เล่า มีอะไรที่ห้ามพูดห้ามทำอีก คำถามอีกข้อคือถึงกับต้องห้ามเชียวหรือ  แล้วกับประชาชนคนทั่วไปซึ่งไม่รู้ว่าใครกำลังเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือโศกเศร้าชั่วคราว หรือกำลังมีทุกข์เฉย ๆ จะให้ทำอะไร เรื่องมากนัก เดินหนีเลยดีไหม

อย่างง่ายที่สุด เรื่องที่ควรทำคือให้เพ่งความสนใจไปที่สภาพจิตใจหรืออารมณ์ของคนที่กำลังมีทุกข์ อย่าใส่ใจ
ตัวปัญหาหรือเหตุการณ์ที่เกิดแก่เขามากไป และ อีกครั้งหนึ่ง อย่าเผลอใส่ใจที่ตัวเราเอง เช่น ถ้าเป็นเรา เราจะพูดกับตัวเองว่าอย่างไร หรือปลอบใจตัวเองว่าอย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน
อีกครั้งหนึ่ง อย่าเผลอเอาประสบการณ์ตัวเองมาสอนเขา

คนที่รักตาย อาจจะเป็นคู่สมรส บุตร หรือบุพการี
คนรักตาย  อาจจะเป็นแฟน หรือคู่แต่งงานใหม่ (ซึ่งไม่เหมือนกัน)
สอบตก สอบเข้าไม่ได้ ถูกไล่ออกจากงาน
ได้รับอุบัติเหตุร้ายแรงถึงระดับเสียงานการอย่างหนัก
หรือรู้ว่าเป็นมะเร็ง ติดเชื้อ หรือรู้ว่าคนที่รักเป็นมะเร็ง
แฟนหรือคู่สมรส นอกใจหรือกำลังจะหย่า

เหล่านี้คือความทุกข์สามัญ คนทุกคนจะได้พบแน่ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว แปลกแต่จริงที่อยากจะบอกว่าคนบางคนพบทุกเรื่อง แต่เขาก็รอดมาได้

เรื่องที่ควรคำนึงอีกข้อหนึ่งคือเราพบเหตุการณ์เหล่านี้เมื่อตัวเองอายุเท่าไร ความข้อนี้สำคัญมาก โลกทัศน์ที่ต่างกันของอายุ  ประสบการณ์อาบน้ำร้อนมาก่อนที่ต่าง ๆ กัน เหล่านี้ทำให้เราไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่า “เขาต้องรู้สึกอย่างนี้แน่ ๆ” และ “ทางออกต้องเป็นแบบนี้แน่ ๆ” อย่าได้มั่นใจจนเกินไป เขียนมาตั้งนาน แล้วจะให้ทำอะไร?

คำตอบอย่างสั้นที่สุดคือ connect

ใช่แล้ว มีเรื่องที่เราควรทำเรื่องเดียวคือ connect แปลว่า เชื่อมต่อ มิใช่ sharing ที่แปลว่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาจจะใช้คำว่า share ได้เหมือนกันแต่ต้องใช้ในความหมายที่ว่าช่วยหาร เช่น เขาทุกข์ 10 กิโลกรัม เราช่วยหารสองเหลือ 5 กิโลกรัม แต่จะทำเช่นนี้ได้ไม่พ้นเราต้องเชื่อมต่อก่อนคือ connect   เก่งกว่านั้นคือหารมา 5 กิโลกรัมแล้วอย่าทะลึ่งแบกไว้เอง ให้ทำท่อระบายออกจากตัวเราไปด้วย จะเห็นว่าเพราะคนส่วนใหญ่ไม่กล้าเชื่อมต่อนี่เองเราจึงพูดสารพัดเพื่อปลอบใจเขา โดยเอาโลกทัศน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วเดา แล้วพูด

จะเชื่อมต่อได้อย่างไร?

ด้วยการนั่งเป็นเพื่อน เงียบ ใช้มือแตะบ่าได้ แตะมือ แตะหลัง อย่าเดินหนี อย่ารีบร้อน ทำให้เขารู้ว่าเราผ่อนคลาย เหมือนฟองน้ำที่รอจะชุ่มน้ำ คือน้ำตา นั่งเฉย ๆ มองไปที่ขอบฟ้าหรือกำแพงห้องพร้อมเขาได้ นี่คือเชื่อมต่อ connect

สมมติว่าคันปากอยากพูด “เป็นฉัน ฉันคงแย่แน่ ๆ” ประมาณนี้ ลองอ่านดูประโยคนี้แปลว่าอะไร ไม่แปลอะไรเลยนอกจากความพยายามจะเชื่อมต่อ ไม่ปลอบ ไม่ตัดบท และไม่ปลุก แค่เชื่อมต่อแล้วรอ แน่นอนเราภาวนาว่าเขาจะ
ฟื้นตัวได้เองในเวลาไม่นานจนเกินไป ให้มาเชื่อมต่อทุกวันคงต้องหนีเอาตัวรอดเหมือนกัน

แล้วอะไรที่ห้ามพูด อันที่จริงมิได้ถึงกับห้ามพูด ของลองได้เสมอเหมือนทุกเรื่องแต่มิใช่ทำซ้ำ ๆ โดยไม่ไปไหน คำพูดประเภท เวลาช่วยได้ แล้วจะดีขึ้น เขาไปดีแล้วล่ะ ฉันก็เคยเป็น มันเป็นบุพเพสันนิวาสอะนะ ฯลฯ ลองได้ทั้งนั้นแหละครับ ดังที่บอกว่าที่จริงแล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะชอบหรือไม่ชอบคำพูดแบบไหน เพียงแต่ลองแล้วก็แล้ว  อย่าเซ้าซี้

 

Resource: HealthToday Magazine, No.208 August 2018