ปวดมะเร็ง รักษาได้

รศ.พญ.พงศ์ภารดี เจาฑะเกษตริน

0
3108

ความปวดในผู้ป่วยมะเร็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ร้อยละ 90 เป็นผลจากโรคมะเร็งโดยตรง ร้อยละ 20 เกิดจากการรักษามะเร็ง เช่น การผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี รศ.พญ.พงศ์ภารดี เจาฑะเกษตริน ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิสัญญีวิทยา-ระงับความปวด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “อาการปวดเป็นเรื่องของกายและใจ แม้ว่าผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะมีลักษณะของอาการปวดที่เกิดจากภาวะทางร่างกาย แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นอาการปวดจากภาวะทางกายและใจได้ในระยะกลางๆ หรือระยะท้ายของการเป็นโรค ดังนั้นการมุ่งเน้นรักษาอาการปวดเฉพาะทางกายด้วยการใช้ยาอย่างเดียวจึงอาจไม่เพียงพอ เพราะในบางครั้งปัญหาความปวดมีพื้นฐานมาจากความกังวลใจในภาวะโรคที่เป็นอยู่ การดูแลรักษาที่ขาดความเข้าใจตรงจุดนี้ จะทำให้ผลการรักษาออกมาไม่ดีเท่าที่ควร” นอกจากประเด็นนี้แล้ว การดูแลรักษาอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่สำคัญอีกหลายอย่าง ซึ่ง รศ.พญ.พงศ์ภารดี เจาฑะเกษตริน ได้กรุณาบอกเล่าอย่างเข้าใจง่าย ให้ทีมงานได้นำมาถ่ายทอด เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกคน

“ประเมินความปวด” จุดเริ่มต้นสำคัญ

“การประเมินความปวด” เป็นขั้นตอนในการบำบัดความปวดที่สำคัญที่สุด มักพบว่าการบำบัดความปวดจากโรคมะเร็งที่ไม่ได้ผลส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ได้ประเมิน หรือให้การประเมินต่อความปวดที่เป็นอยู่ได้อย่างไม่เพียงพอ

การซักประวัติ คือ หัวใจสำคัญในการประเมินความปวด หากขาดการพูดคุยซักประวัติจากผู้ป่วยโดยตรงแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่การรักษาอาการปวดจะประสบผลสำเร็จ สำหรับผู้ป่วย ควรเตรียมความพร้อมของข้อมูลต่างๆ ไว้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ประวัติการรักษาโรคมะเร็ง วิธีรักษาอาการปวดที่เกิดขึ้น ใช้วิธีใด กินยาตัวไหน ผลของการใช้ยาเป็นเช่นไร มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาหรือไม่ รวมทั้งประวัติอาการเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น โรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และที่ขาดไม่ได้คือ ลักษณะของความปวดที่เกิดขึ้น ว่าปวดแบบไหน อย่างไร การตรวจร่างกาย เป็นตัวช่วยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้การประเมินถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น เพราะบางครั้งสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นถ้าพิจารณาจากข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติอาจจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลยก็ได้เมื่อดูจากผลการตรวจร่างกาย เพราะฉะนั้นการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการประเมินความปวดในผู้ป่วยมะเร็ง

“ปวด” ต้องรักษา

โดยทั่วไปความปวดที่มีสาเหตุจากโรคมะเร็ง ในเกือบทุกกรณีสามารถดีขึ้นได้ด้วยการใช้ยา เพราะฉะนั้นจึงถือได้ว่า “ยา” เป็นวิธีการรักษาความปวดที่สำคัญมาก สำคัญกว่าการรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยา อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยมะเร็งจะต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการปวดเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละรายด้วยว่ามีข้อจำกัดในการใช้ยาหรือไม่

ยาส่วนใหญ่ที่ใช้ในการรักษาอาการปวดจากมะเร็งก็คือ “ยาแก้ปวด” ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน พิจารณาเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับสาเหตุ ระดับของความปวด และกลไกของความปวด ยาอีกชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้นอกเหนือจากยาแก้ปวด คือ “กลุ่มยาเสริม” ใช้เพื่อรักษาอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากผลของความปวดอีกที

สิ่งหนึ่งที่พบเกี่ยวกับการรักษาอาการปวดจากโรคมะเร็งคือ ผู้ป่วยหลายรายที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการรักษาโรคมะเร็ง เช่น การฉายรังสี เคมีบำบัด หรืออยู่ระหว่างรอให้ถึงวันนัดเข้ารับการรักษา อาจจะ 3-4 วัน 1 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ยอมทนปวดทรมานแทนที่จะรับประทานยาแก้ปวด เพราะเข้าใจว่าต้องรักษาทีละอย่าง ทีละขั้นตอน ความจริงคือ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทนปวด รอจนการรักษาแต่ละขั้นตอนเสร็จสิ้น แล้วค่อยมารักษาความปวด แต่ผู้ป่วยสามารถเริ่มต้นใช้ยาเพื่อรักษาความปวดได้เลย การยอมทนทรมานต่อความปวดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะความปวดที่ทิ้งไว้นานเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์จะบั่นทอนกำลังกาย กำลังใจ และความรู้สึกของผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือให้ยาเคมีบำบัด สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการก็คือกำลังใจและความรู้สึกที่ดี กินอิ่ม นอนหลับ ร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าความปวดกลับทำให้ผู้ป่วยต้องกินไม่ได้ นอนไม่หลับ บั่นทอนความรู้สึก ทำให้ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องรักษาควมาปวดด้วย พึงระลึกไว้เสมอว่า “การดูแลความปวดมีความจำเป็นในทุกขั้นตอนของการรักษามะเร็ง” ได้จำเป็นต้องรอให้การรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งผ่านไปก่อน สามารถดูแลรักษาไปพร้อมๆ กันได้ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับยาที่ใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละกรณี

สำหรับการรักษาอาการปวดแบบไม่ใช้ยานั้นมีด้วยกันหลายวิธี เช่น ดนตรีบำบัด วารีบำบัด กายภาพ สะกดจิต ทว่าข้อจำกัดของการรักษาแบบไม่ใช้ยาคือ เป็นการรักษาที่ได้ผลช่วงสั้นๆ ในขณะที่ความปวดจากมะเร็งเป็นความปวดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องระยะยาว อย่างไรก็ตามเราสามารถนำการรักษาแบบไม่ใช้ยามาเสริมการรักษาแบบใช้ยาได้ อย่างเช่น ผู้ป่วยที่รับประทานยาอยู่แล้ว เมื่อนำดนตรีบำบัดเข้ามาร่วมด้วย จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น ผ่อนคลายขึ้น ผลการรักษาก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

“ผลข้างเคียง” แก้ได้

ผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ชนิดแรง (strong opioid) มักเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้หลายอย่าง และบางอาการทำให้ผู้ป่วยเลือกที่จะทนกับความเจ็บปวดแทนการรับประทานยา อาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว ได้แก่

  • มึนงง รู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง เดินเซ เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วง 3 วันแรกที่เริ่มต้นใช้ยา หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไป แพทย์ควรอธิบายให้ผู้ป่วยรู้ล่วงหน้าว่ายาจะส่งผลอะไรได้บ้างในช่วงแรก เพื่อที่ผู้ป่วยและญาติจะได้เตรียมพร้อมรับมือ ช่วยกันดูแลประคับประคองจนผู้ป่วยสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นไปได้
  • ท้องผูก เป็นอาการข้างเคียงอีกหนึ่งอย่างที่ผู้ป่วยกังวลกันมาก เพราะอาการจะคงอยู่แบบนี้ตลอดระยะเวลาที่รับประทานยา ต่างจากอาการมึนงงที่จะเป็นเฉพาะในช่วง 3 วันแรกที่เริ่มใช้ยาเท่านั้น ดังนั้นเมื่อต้องสั่งยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ชนิดแรง แพทย์จึงต้องสั่งยาระบายให้ควบคู่กันไปด้วย พร้อมทั้งย้ำเรื่องการปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการท้องผูก เช่น ดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีกากใย และขยับร่างกายบ้างเพื่อให้ลำไส้ได้มีการเคลื่อนไหว
  • ผะอืดผะอม คลื่นไส้ อาเจียน เป็นผลโดยตรงจากยา มียาหลายประเภทที่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ ผู้ป่วยบางรายที่หมั่นสังเกตจะบอกได้ว่ายาตัวใดที่ก่อให้เกิดอาการ แต่ในผู้ป่วยที่ไม่ทราบ แพทย์จะพิจารณาดูว่ายาตัวใดที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้มากที่สุด จากนั้นจึงปรับเปลี่ยนยาตัวนั้นออกไป แต่ในกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ายาตัวนั้นมีความจำเป็น หรือหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นเป็นผลข้างเคียงจากยาแก้ปวดหรือยาเคมีบำบัด (ในกณีที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัด) แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาที่ช่วยรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนแทนการหยุดยาตัวนั้นๆ

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยควรได้รับการดูแลรักษา ตรวจติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมลงตัวมากที่สุด อันจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ได้ดียิ่งขึ้น

ความปวดทุกชนิดรักษาได้ เราจึงไม่ควรปิดกั้นโอกาสในการรักษา อย่างไรก็ตามในแต่ละการรักษามีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดี ส่วนที่ดีเป็นส่วนที่เราอยากได้จากการรักษาวิธีนั้นๆ นั่นคือทำให้เราหายปวด ส่วนที่ไม่ดีก็คือ อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ที่เกิดจากการรักษา ซึ่งอาจพบได้ในบางครั้งและบางคน หากพบอาการไม่พึงประสงค์เหล่านั้นอย่าพึ่งท้อใจ หรือคิดว่าหมดนาทางแล้ว เพราะทุกอย่างย่อมมีหนทางเสมอ สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้คือ การรักษาอาการปวดที่ดีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแพทย์เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยและญาติด้วย เพราะความปวดที่เกิดขึ้น มักมีเรื่องของ “จิตใจ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ อะไรก็ตามที่ทำให้ผู้ป่วยสบายใจ จะยิ่งส่งผลให้การรักษาดียิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยด้วยความรักความเข้าใจ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้การรักษามีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 178 February 2016