ภาวะสมองตาย

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
12077
ภาวะสมองตาย

ภาวะสมองตาย (Brain Death) คืออะไร

หลายต่อหลายครั้งที่หมอพบว่าญาติผู้ป่วยมีความไม่เข้าใจเมื่อได้รับการชี้แจงว่าผู้ป่วยท่านนั้น ๆ มี ภาวะสมองตายอีกทั้งทางการแพทย์มักจะได้รับคำถามตามมามากมาย เช่น ผู้ป่วยยังหายใจตามเครื่องช่วยหายใจได้อยู่ ทำไมหมอจึงบอกว่าสมองไม่ทำงานแล้ว? หรือ ทำไมยังตรวจพบว่าผู้ป่วยมีสัญญาณชีพ คือความดันโลหิต อุณหภูมิ อัตรากการหายใจ และชีพจรได้อยู่ ทั้ง ๆ ที่แพทย์บอกว่าสมองไม่ทำงานแล้ว? เป็นต้น บทความฉบับนี้หมอเลยขอชี้แจงและทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ผู้อ่านได้รับรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันครับ

ที่มาของนิยาม “ภาวะสมองตาย”

หากย้อนกลับไปในอดีต การจะดูว่าบุคคลใดเสียชีวิตแล้วในทางการแพทย์เราจะพิจารณาจากการเกิดภาวะที่อวัยวะสําคัญทั้ง 3 อวัยวะ อันได้แก่ หัวใจ ปอด และ สมอง หยุดการทํางาน แต่เมื่อความรู้และเทคโนโลยีการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะที่อวัยวะสําคัญทั้ง 3 ไม่ได้หยุดการทํางานลงพร้อมกัน โดยอาจมีเพียงสมองเท่านั้นที่ไม่มีการทํางานแล้ว แต่หัวใจยังคงเต้นต่อไปได้จากยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ หรือปอดยังคงทํางานต่อไปได้โดยอาศัยอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์บางอย่าง เช่น เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้นับได้ว่าเป็นภาวะอันละเอียดอ่อนทางการแพทย์ เพราะนําไปสู่สถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจทางการแพทย์อีกหลายประเด็น เช่น การตัดสินใจหยุดการรักษาพยาบาล การตัดสินใจช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือแม้แต่การตัดสินใจนําอวัยวะออกจากร่างกายเพื่อการบริจาคปลูกถ่ายอวัยวะให้ผู้ป่วยคนอื่น จึงนําไปสู่การนิยามศัพท์คําว่า “สมองตาย” หรือ “Brain death” ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น

เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะสมองตายมีอะไรบ้าง

เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะสมองตายโดยอ้างอิงจากแพทยสภา ปี พ.ศ.2554 นั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่หลายข้อด้วยกัน หมอขอนำส่วนที่สำคัญมาแสดงไว้บางส่วนดังนี้ครับ

  1. ผู้ป่วยต้องไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจโดยมีข้อวินิจฉัยถึงสาเหตุให้รู้แน่ชัดว่าสภาวะของผู้ป่วยนี้เกิดขึ้นจากการที่สมองเสียหายโดยไม่มีหนทางเยียวยาได้ และ
  2. การไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจนี้ไม่ได้เกิดจาก
    2.1 พิษยา (Drug intoxication) เช่น ยาเสพติด ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ สารพิษที่มีผลให้กล้ามเนื้อไม่ทำงาน
    2.2 ภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำรุนแรง (น้อยกว่า 32 องศาเซลเซียส)
    2.3  ภาวะผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อและเมตาโบลิก
    2.4 ภาวะช็อก ( Shock) ยกเว้นที่เกิดจากการสูญเสียหน้าที่ของระบบประสาทที่ควบคุมการเต้นของหัวใจและการหดตัวของหลอดเลือด (Neurogenic shock)
  3. เมื่อผู้ป่วยอยู่ในสภาวะครบตามเงื่อนไขข้อ 2 แล้ว เพื่อยืนยันการวินิฉัยสมองตายให้ตรวจตามเกณฑ์ดังนี้

3.1 ตรวจไม่พบการเคลื่อนไหวใด ๆ ได้เอง ยกเว้นการเคลื่อนไหวที่เกิดจากรีเฟลกซ์ของไขสันหลัง (Spinal reflex)

3.2 ตรวจไม่พบรีเฟลกซ์ของก้านสมองทั้งหมด ยกเว้นในส่วนที่มีข้อจำกัดไม่สามารถตรวจได้

  1. สภาวะทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นนี้ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง จึงวินิจฉัยสมองตายได้
  2. มีการทดสอบการไม่หายใจ (Apnea test) ให้ผลเป็นบวก หมายความว่าไม่มีการเคลื่อนไหวของทรวงอกและหน้าท้องเมื่อหยุดเครื่องช่วยหายใจเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที บ่งบอกถึงก้านสมองสูญเสียหน้าที่โดยสิ้นเชิงและสมองตาย

วิธีปฏิบัติในการวินิจฉัยสมองตาย 

  1. การวินิจฉัยสมองตายให้กระทำโดยองค์คณะของแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน และต้องไม่ประกอบด้วยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะรายนั้น หรือแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยที่ต้องการอวัยวะไปปลูกถ่าย
  2. แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยสมองตายที่อยู่ในข่ายเป็นผู้บริจาคอวัยวะได้ตามเกณฑ์ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ควรดำเนินการตรวจวินิจฉัยสมองตายโดยไม่ชักช้า และแจ้งให้ญาติของผู้ป่วยทราบ เมื่อผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ที่จะทดสอบการไม่หายใจ เพื่อเตรียมความพร้อมของญาติ และให้โอกาสในการบริจาคอวัยวะเมื่อวินิจฉัยสมองตายแล้ว
  3. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือผู้ได้รับมอบหมายจะต้องร่วมเป็นผู้รับรองการวินิจฉัยภาวะสมองตายและเป็นผู้ลงนามรับรองการตาย และแพทย์ควรให้การดูแลผู้ป่วยตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์บริจาคอวัยวะได้ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยต่อไป

ผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะนี้มีรายละเอียดและระมัดระวังรอบคอบในทุกขั้นตอนเป็นอย่างยิ่งกว่าที่จะถึงขั้นตอนการนำผลไปแจ้งต่อญาติที่ตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความลังเลสงสัยที่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายแล้วการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ตามมาหลังจากนี้ เช่น การยุติการรักษาเพื่อการจากไปอย่างสงบของผู้ป่วย รวมถึงการตัดสินใจว่าจะบริจาคอวัยวะหรือไม่ คงสุดแล้วแต่ญาติสายตรงเป็นผู้พิจารณาเองครับ ทางการแพทย์เราไม่มีสิทธิ์บังคับใด ๆ ได้ทั้งสิ้นนะครับ

ที่มา: HealthToday Magazine, No.217 May 2019