อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็ก

พญ. อรวรรณ เอี่ยมโอภาส พบ., ว.ว. (กุมารเวชศาสตร์), อ.ว. (กุมารเวชศาสตร์โภชนาการ)

0
5383
อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็ก

อาหารมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการของสมองสำหรับเด็กในทุกช่วงวัย  เด็กที่มีภาวะโภชนาการไม่ดี จะส่งผลทำให้ร่างกายเจริญเติบโตไม่เต็มที่ มีความบกพร่องต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย และอาจส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต

เด็กทุกคนควรได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย สำหรับทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนแรก ควรได้รับนมแม่เป็นหลัก ยกเว้นในบางกรณีที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ อาจพิจารณาให้นมดัดแปลงสำหรับทารกได้ หลังจากนั้นทารกจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอื่นเพิ่มเติมจาก “อาหารตามวัยสำหรับทารก” เพื่อให้มีการเจริญเติบโตได้ตามเกณฑ์ปกติ ส่งเสริมการทำงานของสมอง เพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้และความจำ นอกจากนี้ การให้อาหารตามวัยสำหรับทารกเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม จะช่วยให้ทารกสามารถปรับตัวให้คุ้นเคยกับอาหารที่มีลักษณะและรสชาติที่ต่างไปจากเดิม ทั้งยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการในการกินอาหารแบบผู้ใหญ่ได้ด้วย การที่เด็กมีพฤติกรรมการกินที่ดี จะช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน เช่น โรคขาดโปรตีนและพลังงาน ภาวะขาดธาตุเหล็ก ภาวะเด็กกินยากและเลือกกิน เป็นต้น

คำแนะนำในการจัดเตรียมอาหารตามวัย เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนเพียงพอ
  1. ให้เด็กได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและหลากหลาย เพื่อให้พลังงานและสารอาหารได้เพียงพอกับความต้องการของเด็ก เด็กควรกินเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ทุกวัน เพราะมีโปรตีนและธาตุเหล็กสูง ควรกินผักผลไม้ให้หลากหลายชนิด เป็นแหล่งของแร่ธาตุ วิตามิน และใยอาหาร

สารอาหารที่ทารกมักจะได้รับไม่เพียงพอจากอาหารเสริมตามวัย ได้แก่ โปรตีน เหล็ก แคลเซียม สังกะสี ไอโอดีน และวิตามินเอ ดังนั้นจึงแนะนำให้เด็กกินอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ ดังนี้

  • อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ เลือด ไข่แดง
  • อาหารที่มีสังกะสีสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ อาหารทะเล
  • อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม เต้าหู้ ผักใบเขียว
  • อาหารที่มีวิตามินเอสูง ได้แก่ ตับ ไข่แดง นม ผัก และผลไม้สีเหลือง ส้ม
  • อาหารที่มีไอโอดีนสูง ได้แก่ อาหารทะเล
  1. ใช้น้ำมันพืช โดยเฉพาะน้ำมันรำข้าวและน้ำมันถั่วเหลืองในการประกอบอาหารสำหรับเด็ก เพื่อเป็นแหล่งพลังงานและกรดไขมันจำเป็น และยังช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน
  2. จัดทำอาหารชนิดใหม่ให้ทารกคราวละ 1 ชนิด เพื่อผู้ปกครองจะสังเกตได้ว่ามีอาการแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ หรือไม่
  3. ให้นมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยต่อเนื่องไปได้ และสำหรับเด็กอายุ 1 – 2 ปี ควรเสริมนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง หรือนมวัวรสจืดวันละ 2 แก้ว
  4. ให้อาหารมีความหยาบละเอียดที่เหมาะสมตามช่วงวัย โดยอาหารที่ให้ทารกในช่วงอายุ 6 – 8 เดือน ควรมีเนื้อค่อนข้างละเอียดโดยใช้การบด ไม่ควรใช้อาหารปั่นเพราะทารกจะไม่ได้ฝึกทักษะการเคี้ยวและกลืน เมื่อทารกสามารถรับอาหารได้ดี จึงค่อยเพิ่มความความหยาบของอาหารขึ้นไป ส่วนทารกช่วง 8 – 10 เดือน ให้เลือกอาหารชนิดที่ไม่แข็งมากและให้เด็กใช้นิ้วมือหยิบกินเองได้ เช่น ฟักทองนึ่ง หั่นเป็นชิ้นบาง แต่ไม่ควรให้อาหารที่เป็นเม็ดเล็กและแข็ง เช่น เมล็ดถั่ว เพราะอาจทำให้เกิดการสำลักได้ ทารกอายุ 12 เดือนขึ้นไป สามารถกินอาหารแบบผู้ใหญ่ได้โดยเลือกอาหารที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เคี้ยวกลืนได้ง่าย
  5. ทารกควรกินอาหารธรรมชาติ ไม่ควรใช้เครื่องปรุงแต่งอาหารให้มีรสเค็มจัด หรือหวานจัดจนเกินไป

สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย หรือมีปัญหารับประทานยากซึ่งอาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนเพียงพอ อาจพิจารณาให้อาหารทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเสริมโภชนาการ

อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กแนวทางการจัดเตรียมและให้อาหารตามวัยที่เหมาะสมสำหรับทารก ดังนี้
  1. ผู้เลี้ยงดูอาจจัดตกแต่งจานอาหารให้น่ารับประทานเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก
  2. สร้างบรรยากาศที่ดีในระหว่างมื้ออาหาร ผู้เลี้ยงดูช่วยคอยกระตุ้นให้เด็กกินอาหาร แต่ไม่ควรบังคับ ไม่กินไปเล่นไป และกำหนดเวลากินอาหารมื้อละไม่เกิน 30 นาที
  3. ฝึกระเบียบวินัยในการกิน เช่น ฝึกนั่งกินที่โต๊ะอาหาร ให้เด็กใช้ช้อนตักอาหารเอง ไม่ตามป้อน
  4. ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างในการรับประทานอาหารที่ดี เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมแก่บุตรหลาน ได้แก่ การรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ งดขนมถุง หรือการดื่มน้ำอัดลมและน้ำหวาน