โปรตีนสารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย

0
4990
Albumin

โปรตีนเป็นสารที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย นอกจากนี้ยังให้พลังงานและทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาต่าง ๆ ภายในร่างกาย โปรตีนจัดว่าเป็นองค์ประกอบหลักภายในร่างกายของมนุษย์ โดยมีมากเป็นอันดับสองรองจากน้ำ และสามารถพบได้ในทุก ๆ เซลล์รวมถึงในกระแสเลือด

ส่วนประกอบหลักของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และ พลาสมา (plasma) โดยพลาสมาเป็นส่วนประกอบที่เป็นของเหลว มีลักษณะค่อนข้างใสและมีสีเหลืองอ่อน นอกจากทำหน้าที่ในการลำเลียงสารอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและการขนถ่ายของเสียจากเซลล์ต่าง ๆ เพื่อนำไปกำจัดแล้ว พลาสมายังมีบทบาท
ในการควบคุมความดันโลหิตและสมดุลต่าง ๆ ในร่างกายอีกด้วย สารโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบหลักของพลาสมา ได้แก่ ไฟบริโนเจน (fibrinogen) ที่เป็นปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด, โกลบูลิน (globulin) ทำหน้าที่ในการขนส่งไขมัน, อิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค และอัลบูมิน (albumin) เป็นสารโปรตีนหลักในพลาสมา ซึ่งทำหน้าที่หลากหลายในร่างกาย

อัลบูมิน – โปรตีนที่มีมากที่สุดในพลาสม่า

อัลบูมินเป็นสารโปรตีนที่มีปริมาณมากที่สุดในพลาสมา โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50–60 จากโปรตีนที่มี
อยู่ทั้งหมดในพลาสมา อัลบูมินจะถูกสร้างขึ้นได้ที่อวัยวะตับเท่านั้น และหลังจากที่สร้างเสร็จแล้วจะถูกหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดทันที ในทางกลับกันการสลายอัลบูมินนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ อวัยวะ เช่น กล้ามเนื้อ ผิวหนัง ตับ ไต และในทางเดินอาหาร เป็นที่น่าสนใจว่า อัลบูมินนั้นจะถูกสร้างขึ้นได้เมื่อเซลล์ตับอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญก็คือ การที่ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างพอเพียง

หน้าที่ของอัลบูมิน

อัลบูมินเป็นโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการกระจายของเหลวภายในร่างกาย และควบคุมความสามารถ
ในการเก็บกักน้ำไว้ภายในหลอดเลือด ซึ่งถ้าหากความสามารถนี้บกพร่องไปก็อาจนำไปสู่ภาวะบวมน้ำได้ และหน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างของอัลบูมินก็คือ การขนส่งสารต่าง ๆ ไปตามกระแสเลือด โดยอัลบูมินสามารถจับกับสารได้หลายชนิด เช่น ฮอร์โมน กรดไขมัน แร่ธาตุต่าง ๆ รวมไปถึงสารจากภายนอกร่างกายอย่างเช่นยารักษาโรค เป็นต้น นอกจากนี้
อัลบูมินยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด การปรับสมดุลกรด-ด่างในกระแสเลือด และมีความสามารถ
ในการต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

Albumin

สาเหตุที่ทำให้ระดับอัลบูมินในร่างกายลดต่ำลง

ภาวะระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ สามารถพบได้บ่อยใน
ผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องมีคนดูแล เด็กที่ขาดสารอาหาร และผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง และยังพบภาวะอัลบูมินต่ำในผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องมาน และผู้ป่วยที่มีการอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ภาวะเหล่านี้สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุผ่านกลไกที่แตกต่างกัน นอกจากนี้การขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน และภาวะโรคตับ ไม่ว่าจะเป็นตับแข็งหรือตับวาย สามารถส่งผลให้การสร้าง
อัลบูมินลดลง ในขณะเดียวกันโรคบางประเภทจะทำให้เกิดการสูญเสียโปรตีนที่มากเกินไปจนทำให้ระดับอัลบูมิน
ลดต่ำลง เช่น โรคไต โรคในทางเดินอาหารบางชนิด และภาวะผิวหนังไหม้ระดับรุนแรง เป็นต้น

ผลกระทบเมื่อร่างกายมีระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ

เนื่องจากภาวะอัลบูมินต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นอาการที่เกิดขึ้นจึงค่อนข้างที่จะหลากหลาย และไม่จำเพาะเจาะจง โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาการบวมน้ำ โดยเฉพาะที่มือหรือเท้า ตัวเหลือง อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว อาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย ในบางคนอาจพบว่ามีผมบางลง หรือมีอาการทางผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นอาการแห้งหรือคัน นอกจากนี้ เนื่องจากอัลบูมินมีหน้าที่สำคัญในการจับกับตัวยา และลำเลียงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การที่มีอัลบูมินลดลงจึงอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โดยปกติแล้วยาจะสามารถออกฤทธิ์ได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในรูปแบบโมเลกุลอิสระ การที่มีอัลบูมินลดลงจึงอาจทำให้มีโมเลกุลยาอิสระมากขึ้นและทำให้ยาออกฤทธิ์ได้มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นข้อที่ควรต้องระวัง ทั้งนี้ภาวะอัลบูมินในเลือดต่ำ ยังอาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่างได้ ในภาวะปกติ อัลบูมินจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนและมีส่วนช่วยรักษาสมดุลกรด-ด่างในเลือด เมื่อระดับอัลบูมินในเลือดลดต่ำจะทำให้มีไบคาร์บอเนต (bicarbonate) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่างได้ในที่สุด

Albumin

การเสริมอัลบูมินเพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะ
ระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ

การรับประทานอาหารที่มีอัลบูมินสูง เช่น ไข่ เนื้อวัว นม  และปลา อาจช่วยเพิ่มระดับอัลบูมินในร่างกายได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีอัลบูมินเป็นส่วนประกอบหลักวางขายอยู่ในท้องตลาด เคยมีการรายงานว่าการรับประทานเสริมโปรตีน
อัลบูมินจากไข่ในผู้ป่วยที่ต้องล้างไตผ่านทางช่องท้อง สามารถช่วยเพิ่มระดับอัลบูมินในเลือด และช่วยฟื้นฟูสภาวะทางโภชนาการของผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตามวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาระดับ
อัลบูมินในเลือดต่ำก็คือ การรักษาภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุหลัก แต่การรักษาอาการต้นเหตุนั้นไม่สามารถทำได้ในทุกกรณี ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีอัลบูมินอย่างเหมาะสมอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยเสริมโปรตีนอัลบูมิน โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนการเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์

สนับสนุนข้อมูลโดย บริษัท ไบโอบอร์น จำกัด

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Bioborne Care โทร. 02 685 1168     Line ID: @bioborne

ข้อมูลอ้างอิง
  1. British Nutrition Foundation. (2012). Protein. [online] Available at: https://www.nutrition.org.uk/nutritionscience/nutrients-food-and-ingredients/protein.html?limitstart=0 [Accessed 28 Sep. 2018].
  2. Sarode, R. (2018). Components of Blood. [online] MSD Manual Consumer Version. Available at: https://www.msdmanuals.com/home/blood-disorders/biology-of-blood/components-of-blood [Accessed 29 Sep. 2018].
  3. Yawn, D. (2017). Plasma. [online] Encyclopædia Britannica. Available at: https://www.britannica.com/science/plasma-biology [Accessed 18 Sep. 2018].
  4. Moman, R. and Bhimji, S. (2018). Albumin. In: StatPearls. [online] Treasure Island (FL): StatPearls Publishing. Available at: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK459198/ [Accessed 18 Sep. 2018].
  5. Nicholson, J., Wolmarans, M. and Park, G. (2000). The role of albumin in critical illness. Br J Anaesth., 85(4), pp.599-610.
  6. Peralta, R. and Rubery, B. (2018). Hypoalbuminemia. [online] Medscape. Available at: https://emedicine.medscape.com/article/166724-overview#a4 [Accessed 19 Sep. 2018].
  7. Villines, Z. (2018). What are the effects of low albumin?. [online] Medical News Today. Available at: https://www.medicalnewstoday.com/articles/321149.php [Accessed 19 Sep. 2018].
  8. Scheiner, B., Lindner, G., Reiberger, T., Schneeweiss, B., Trauner, M., Zauner, C. and Funk, G. (2017). Acid-base disorders in liver disease. J Hepatol, 67(5), pp.1062-1073.
  9. González-Espinoza, L., Gutiérrez-Chávez, J., del Campo, F., Martínez-Ramírez, H., Cortés-Sanabria, L., Rojas-Campos, E. and Cueto-Manzano, A. (2005). Randomized, open label, controlled clinical trial of oral administration of an egg albumin-based protein supplement to patients on continuous ambulatory peritoneal dialysis. Perit Dial Int., 25(2), pp.173-180.