ช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปประชุมเรื่องความเจ็บปวด ของสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทยที่หัวหิน มีหมอจากหลาย ๆ แผนกมาประชุมกันมากมาย ได้รู้ว่าความเจ็บปวดนี่เป็นเรื่องสำคัญระดับต้น ๆ กันเลยทีเดียว
ผมเกิดความสงสัยแล้วถามตัวเองว่า ทำไมธรรมชาติต้องสร้างความเจ็บปวดมาให้เราทรมานกันด้วยนะ หรือเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่มาเตือนเราว่า ให้เราเลี่ยงจากสิ่งนั้น อย่างเช่น คนที่คิดมาก กังวลนู่นนี่ หรือทำงานหามรุ่งหามค่ำก็จะปวดหัว ปวดไมเกรน คนที่รับประทานเผ็ดจัดเปรี้ยวจัด ก็ปวดท้อง คนที่ไปจีบคนที่สวยกว่าหล่อกว่าแล้วไม่สำเร็จก็ปวดใจ เห็นได้ว่าความปวดนี่มันผสมผสานทั้งร่างกายและจิตใจเข้าด้วยกัน
ผมเคยอ่านหนังสือเรื่อง 500 ล้านปีของความรักของคุณหมอชัชพล เขียนเรื่องนี้ได้ดีมาก ๆ ชอบประโยคที่ว่า ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่มาเตือนเราว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นอาจจะไม่ถูกต้อง ให้เราลองตั้งสติแล้วกลับมาคิดหาทางอีกครั้ง แต่บางครั้งเรารู้ทั้งรู้ แต่เราก็ยังแก้ไขความเจ็บปวดนี้เองไม่ได้สักที เราเลยต้องมาพึ่งวิธีที่ช่วยลดการเจ็บปวดกันซะหน่อยนะครับ
เกริ่นเรื่องปวดมาซะนาน ฉบับนี้คงพูดถึงถ้าใครมีอาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อหรือกระดูก เช่น นั่งหลังค่อมทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ หรือต้องก้มยกของหนักบ่อยก็อาจจะมีอาการปวดขึ้นมา ก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ถ้ายังไม่หายก็อาจจำเป็นต้องพึ่งยาไว้หน่อย ยาที่อยากพูดถึงและเป็นยาที่คนไทยใช้มากที่สุดคือ ยาต้านการอักเสบหรือ NSIAD (เอน-เสด) อย่าสับสนกับ ยาแก้อักเสบนะครับ อันนั้นจะใช้กินเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียเวลาเราเจ็บคอหรือเป็นแผล แต่นี่เป็นยาต้านการอักเสบ
ยากลุ่ม NSAIDS นี้มักจะใช้สำหรับแก้อาการปวดกล้ามเนื้อหรือกระดูกมากที่สุด ชื่อที่คุ้น ๆ กันก็พวก ไดโคฟีแนค บลูเฟน เมวลอกซิแคม อินโดสิด และตัวอื่น ๆ อีกมาก พวกนี้เราหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ใช่ว่ายากลุ่มนี้จะวิเศษไปซะทุกอย่าง เพราะยาพวกนี้พอเข้าไปในร่างกายไม่เพียงแต่จะไปลดสารต้านการอักเสบซึ่งออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อและกระดูก แต่ยังไปมีผลต่อกระเพาะอาหาร ระบบไต และที่สำคัญคือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง แล้วมันกลับไปสร้างผลข้างเคียงให้กับอวัยวะเหล่านี้ด้วย อย่างเช่นที่กระเพาะอาหาร ยาพวกนี้จะมีผลกระทบต่อการสร้างสารที่รักษาสมดุลของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร ใช้ไปนาน ๆ เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยบางรายถ้ารับประทานติดต่อเป็นเวลานานเกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้เพิ่มเป็น 2-3 เท่ากันเลย ส่วนที่ไตก็จะมีผลต่อการไหลเวียนเลือดที่ไปเลี้ยงไต ทำให้ค่าการทำงานของไตลดลง อีกส่วนที่หมอหัวใจมักจะไม่ชอบกันเลยเพราะยา NSIADS ไปมีผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ โดยไปทำให้เกล็ดเลือดเกิดการรวมตัวเป็นก้อน เลยมีโอกาสที่ไปอุดตันที่หัวใจและเส้นเลือดสมองได้ เห็นได้ว่า ยาไม่ได้เป็นพระเอกเสมอไป
จากประสบการณ์ที่ผมได้ดูแลพวกคนไข้โรคข้อเข่าเสื่อม กระดูกสันหลังเสื่อม หรือพวกวัยรุ่นก็พวกออฟฟิศซินโดรมที่ปวดตามกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า ไหล่ มักจะพึ่งยาเป็นเวลานานซะส่วนใหญ่ ทำให้โอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงข้างต้นสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในรายที่อายุมาก และมีโรคเส้นเลือดหัวใจตีบอยู่ก่อนแล้วควรที่จะหลีกเลี่ยง อ่านมาถึงตรงนี้บางท่านคงเกิดคำถามว่า “ก็ปวดจะให้ทำอย่างไรล่ะ”
ผมก็จะบอกว่า ถ้าเรารับประทานช่วงสั้นไม่เกิน 1-2 อาทิตย์ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าต้องรับประทานเป็นเวลานานก็อาจจะต้องมีการตรวจการทำงานของไต กระเพาะอาหาร และหลอดเลือดหัวใจเป็นระยะ หรือที่ผมแนะนำใช้เป็นแนว เรียกว่า Cocktail therapy คล้าย ๆ เหมือนเวลาเราไปงานเลี้ยงเราก็จะเลือกรับประทานอาหารหลาย ๆ อย่าง แต่อย่างละน้อย ๆ นี่ก็เช่นกัน ถ้าเกิดอาการปวดขึ้นมา เราอาจจะใช้ยาต้านการอักเสบในปริมาณยาที่ต่ำที่ช่วยแก้ปวดในช่วง 1-2 อาทิตย์แรก ก็จะช่วยลดอาการอักเสบได้แล้ว ร่วมกับใช้วิธีอื่น เช่น กายภาพบำบัด ปรับพฤติกรรม ออกกำลังกาย ยืดกล้ามเนื้อพวกนี้ช่วยอีกทาง
บางโอกาสหมอมีคนไข้ต่างชาติทั้งยุโรปและอเมริกามารักษาเรื่องปวดข้อสะโพก ข้อเข่า พวกนี้ตอนหมอจะจ่ายยาทีไรจะได้คำตอบ “โนววววว…ดอกเตอร์ ไอไม่ขอกินยาได้ไหม ขอเป็นวิธีอื่นแทนได้ไหม” เห็นได้ว่าพวกนี้จะกลัวการกินยามาก ๆ เพราะเขารู้ว่ามีผลข้างเคียงต่อร่างกายเขา แล้วมักจะมาขอใช้วิธีกายภาพบำบัด การ stretching หรือยืดกล้ามเนื้อแทน นอกจากนี้ของไทยเรายังมีอีกวิธีคือ การนวดแผนไทย ถือว่าเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยมีศาสตร์เฉพาะอย่างนี้เหมือนอย่างที่จีนมีฝังเข็ม พวกนี้ถึงจะไม่ได้ช่วยให้หายขาดแต่ก็ช่วยลดอาการลงได้ หรือที่ฝรั่งใช้คำว่า relief not cure แต่ก็ต้องระวังว่าบางท่าทางที่มีการดัด การดึงในคนไข้สูงอายุบางรายที่มีภาวะกระดูกบาง อาจจะทำให้กระดูกหักได้เช่นกัน หรือถ้าแรงกดนวดที่มากเกินก็อาจเกิดการอักเสบมากขึ้น
เห็นได้ว่าคงไม่มีการรักษาไหนทีดีที่สุด เพราะยาเองก็มีผลข้างเคียง แต่ถ้าเราสามารถใช้การรักษาแบบผสมผสานก็สามารถช่วยในการรักษามากขึ้น งั้นหมอตัวไปรับประทานงานเลี้ยงค็อกเทลก่อนจะไปทำค็อกเทลเทราพีก่อนนะครับ
Resource: HealthToday Magazine, No.196 August 2017