H. pylori: เชื้อเอช ไพโลไร ภัยเงียบมะเร็งกระเพาะอาหาร

รศ.พญ. รภัส พิทยานนท์

0
2133
มะเร็งกระเพาะอาหาร

บทนำ: เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori; H.pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียรููปเกลียวที่พบในกระเพาะอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น คน ลิง แมว สุนัข เป็นต้น เชื้อนี้มีความสามารถในการอาศัยในภาวะที่เป็นกรดสูงได้ดี ทำให้เกิดการอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น และเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

อาการของการติดเชื้อเอช ไพโลไร: ผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ในกระเพาะอาหารอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมีอาการปวดแสบท้องหรือแน่นท้องจากการอักเสบหรือแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น หากแผลลึกมากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผล เช่น เกิดเลือดออกทางเดินอาหาร ถ้าเลือดออกปริมาณน้อยจะพบอาการของโลหิตจางโดยที่สีอุจจาระปกติ แต่หากเลือดออกปริมาณมากจะมีถ่ายดำได้ หรือหากแผลลึกมากขึ้นสามารถเกิดแผลทะลุ ซึ่งมีอาการปวดท้องรุนแรงได้

H. pylori เชื้อเอช ไพโลไร กับโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร: สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เราต้องรู้จักเชื้อนี้คือ เชื้อเอช ไพโลไร สามารถทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้โดยอาจไม่มีอาการเตือนใด ๆ นำมาก่อน พบอุบัติการณ์ได้ร้อยละ 1-3 ของการติดเชื้อเอช ไพโลไร ทั้งหมด หากเริ่มเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรกจะไม่แสดงอาการผิดปกติ จนก้อนมะเร็งกินบริเวณกว้างขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการรับประทานอาหารได้ลดลง อิ่มเร็วกว่าปกติ น้ำหนักลด หรือมีถ่ายดำจากเลือดออกจากก้อนมะเร็งได้ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าว มักจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

การวินิจฉัยและการรักษา: การวินิจฉัยการติดเชื้อเอช ไพโลไร สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การส่องกล้องและนำชิ้นเนื้อมาตรวจ การตรวจลมหายใจ หรือการตรวจอุจจาระ โดยควรหยุดยาลดกรดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และหยุดยาปฏิชีวนะและสารประกอบบิสมัทอย่างน้อย 4 สัปดาห์ก่อนการทดสอบเชื้อ หากพบการติดเชื้อควรได้รับการรักษาโดยการรับประทานยาลดกรดร่วมกับยาปฏิชีวนะ 2-3 ชนิด เป็นเวลา 10-14 วัน แล้วแต่สูตรยาที่แพทย์เลือกใช้ และควรได้รับการตรวจซ้ำโดยวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อยืนยันว่ารักษาเชื้อเอช ไพโลไรหายแล้ว

ผู้ที่ควรได้รับการแนะนำให้ทดสอบการติดเชื้อเอช ไพโลไร คือ

  1. ผู้ที่มีอาการปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบนเรื้อรังจากกระเพาะอาหารและไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่เหมาะสม
  2. ผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือใช้แอสไพรินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือสเตียรอยด์ในระยะยาว
  3. ผู้ที่เป็นแผลหรือพบการอักเสบในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น
  4. ผู้ที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารตำแหน่งอื่น ๆ
  5. ผู้มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถตรวจพบมะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรกได้จากการส่องกล้อง ดังนั้นแม้ไม่มีอาการผิดปกติ ก็ควรมาตรวจหาเชื้อนี้โดยใช้วิธีการส่องกล้อง

การป้องกันการติดเชื้อเอช ไพโลไร: เชื้อนี้อยู่ในน้ำลาย อุจจาระ และอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน ดังนั้นการรักษา สุขอนามัย ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ใช้ช้อนกลาง รับประทานอาหารปรุงสุก เป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด และหากมีข้อบ่งชี้ในการตรวจหาเชื้อเอช ไพโลไร ดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรมาปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการตรวจเพิ่มเติม เนื่องจากอาจสามารถตรวจพบมะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรกและรักษาให้หายขาดได้

เอกสารอ้างอิง: แนวทางเวชปฏิบัติในการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (HELICOBACTER PYLORI) ในประเทศไทย พ.ศ. 2558

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.takedathailandhealth.com/

C-ANPROM/TH/VCT/0012