ข้อมือเปรียบเสมือนตัวเชื่อมระหว่างแขนท่อนล่างกับมือ เชื่อมต่อกันด้วยกระดูกหลายชิ้นที่ช่วยให้เราขยับหมุนข้อมือในทิศทางต่าง ๆ ได้ เมื่อกระดูกข้อมือหักจึงทำให้เคลื่อนไหวมือและแขนได้ลำบาก
การล้มในลักษณะที่ยื่นมือออกไปรองรับน้ำหนักที่พื้นมักจะทำให้กระดูกข้อมือหักได้ง่าย โดยลักษณะการหักที่พบได้บ่อยที่สุดคือ กระดูกเรเดียส (Distal radius) เป็นกระดูกส่วนปลายของแขนท่อนล่างที่เชื่อมต่อเป็นข้อมือ ส่วนกระดูกที่พบการหักได้น้อยที่สุดคือ กระดูกสแคฟฟอยด์ (Scaphoid) เป็นกระดูกมือส่วนต้นชิ้นเล็กที่อยู่บริเวณฐาน
นิ้วโป้ง หากกระดูกชิ้นนี้หักจะสังเกตหรือตรวจพบได้ยาก รวมทั้งรักษายากเพราะเป็นกระดูกชิ้นเล็ก
กระดูกหักสามารถตรวจพบได้จากการสังเกตมุมการเคลื่อนไหวของข้อมือ และจากการถ่ายภาพรังสีต่าง ๆ โดยเทคนิคที่ใช้บ่อยที่สุดคือ การถ่ายภาพเอกซเรย์ แต่ในรายที่มองเห็นไม่ชัด อาจต้องใช้เทคนิคที่ละเอียดขึ้น เช่น ซีทีสแกน (CT Scan) หรือ เอ็นอาร์ไอ (MRI)
รักษากระดูกข้อมือหัก
โดยธรรมชาติ หลังจากเกิดกระดูกหักร่างกายจะมีกระบวนการซ่อมแซมให้กระดูกกลับมาติดกัน แต่การรักษาด้วยวิธี “ปรับแนวกระดูก (Reduction)” จะช่วยจัดกระดูกให้ตรงตามตำแหน่งเดิมมากขึ้น
การปรับแนวกระดูกแบบปิด แพทย์จะปรับแนวกระดูกจากด้านนอกและยึดด้วยอุปกรณ์ต่อไปนี้ โดยไม่ต้องมีการผ่าตัด
- เฝือกอ่อน เป็นอุปกรณ์ที่มีความแน่นและแข็งพอประมาณ ใช้ในการดามหรือพยุงบริเวณที่กระดูกให้ไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหว
- เฝือกแข็ง เป็นอุปกรณ์ที่มีความแข็ง โดยใช้พอกและดามรอบ ๆ บริดวณกระดูกที่หักเพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหว
- อุปกรณ์ยึดจากภายนอก เป็นแท่งโลหะยึดบริเวณที่กระดูกหักจากภายนอก โดยมีลวดโลหะแทงผ่านผิวหนังเข้าไปยึดให้กระดูกอยู่กับที่ ไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหว
การปรับแนวกระดูกแบบเปิด แพทย์จะผ่าตัดเปิดบริเวณกระดูกที่หักเพื่อปรับแนวกระดูกโดยตรง และใช้อุปกรณ์ต่างๆ ยึดกระดูกให้อยู่ตรงตำแหน่ง หลังจากกระดูกติดแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยและปรึกษากับผู้ป่วยอีกครั้งว่าจะต้องผ่าตัดถอดอุปกรณ์หรือไม่ อุปกรณ์ที่ใช้ยึดกระดูกประกอบด้วย
- ลวด เส้นลวดพิเศษขนาดเล็กที่เจาะผ่านกระดูกเพื่อยึดกระดูกที่แตกหักเข้าไว้ด้วยกัน
- สกรู เป็นอุปกรณ์พิเศษ ลักษณะคล้ายน็อตขนาดเล็ก ใช้ในการเจาะยึดกระดูกที่แตกหักเข้าด้วยกัน
- แผ่นดาม คือแผ่นโลหะที่วางขนานไปตามแนวกระดูกที่หักเพื่อใช้ในการดามแนวกระดูก โดยจะใช้สกรูขนาดเล็กช่วยในการยึดติดกับกระดูก
กระดูกที่หักจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ในการซ่อมแซมตัวเองจนกลับมาติดกันเหมือนเดิม เมื่อต้องใส่เฝือกดามกระดูกควรหลีกเลี่ยงการโดนน้ำ โดยเฉพาะระหว่างอาบน้ำควรหาถุงพลาสติกมาคลุมป้องกันไว้ และห้ามถอดเฝือกหรือที่ดามออกด้วยตัวเองเด็ดขาด ยกเว้นแพทย์แนะนำว่าให้ทำได้โดยควรปฏิบัติตามขั้นตอนจากแพทย์อย่างเคร่งครัด
ระหว่างรอกระดูกติดสนิทควรพยายามยกมือและแขนให้สูงกว่าระดับลำตัวเพื่อป้องกันอาการปวดบวม แพทย์อาจสั่งยาลดปวดหากผู้ป่วยปวดมาก หลังจากกระดูกติดและเริ่มขยับข้อมือได้ แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดจะช่วยสอนวิธีขยับและบริหารข้อมือที่ถูกวิธีเพื่อช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมและฟื้นฟูให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจนสามารถกลับมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018