เรื่องนอน อย่านอนใจ

อ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน

0
1601

โดยปกติแล้วคนเรามักใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอนหลับ คุณภาพการนอนที่ไม่ดีจึงส่งผลให้การประกอบกิจวัตรประจำวันทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งยังส่งผลต่อสภาพร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ปัจจุบันผู้ที่ประสบปัญหาความผิดปกติในการนอนหลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป HealthToday ได้รับเกียรติจาก อ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาให้ความรู้ในประเด็นนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุก ๆ คน

ความผิดปกติด้านการนอนหลับ คืออะไร

ความผิดปกติด้านการนอนหลับมีได้หลายแบบ ได้แก่

  • ปัญหาทางระบบการหายใจ เช่น ภาวะนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ปัญหาด้านพฤติกรรมผิดปกติ เช่น ภาวะละเมอ ภาวะนอนกัดฟัน ภาวะขากระตุกขณะหลับ
  • โรคนอนไม่หลับ เช่น การใช้เวลานานกว่าจะหลับได้ ตื่นบ่อยตอนกลางคืน ตื่นเช้าผิดปกติ
  • โรคง่วงนอนผิดปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติทางการหายใจส่งผลทำให้หลับๆ ตื่นๆ ทำให้ง่วงนอนระหว่างวัน โรคทางระบบประสาท เช่น การลดลงของสารกระตุ้นให้ตื่น (โรคลมหลับ)

ภาวะนอนกรน จำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่

ส่วนใหญ่ผู้ที่มาพบแพทย์มักมาด้วยปัญหาบางอย่าง เช่น สำลัก คอแห้งมากตอนเช้า ตื่นแล้วไม่สดชื่น หลับๆ ตื่นๆ บ้างก็รู้สึกตัวว่าหายใจเฮือกขึ้นมา จึงสงสัยว่าตนเองนอนกรนหรือเปล่า และอาจเชื่อมโยงไปถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วย ดังนั้นถ้านอนกรนแล้วเริ่มมีอาการตามที่กล่าวมาควรปรึกษาแพทย์ หรือแม้จะไม่มีอาการ แต่ถ้าผู้ที่นอนด้วยสังเกตว่ามีอาการหายใจเฮือก มีช่วงกรนแล้วเงียบไป หรือหยุดหายใจขณะหลับ ก็ควรมาพบแพทย์

ภาวะนอนกรนรักษาหายขาดหรือเปล่า

ขึ้นกับว่าผู้ป่วยมีอาการมากน้อยเพียงใด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากร่วมกับมีภาวะนอนกรนแต่ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การลดน้ำหนักลง 5 – 10% ของน้ำหนักตัวจะช่วยให้ปัญหาการกรนดีขึ้นได้ แต่ถ้ามาตรวจการนอนหลับแล้วพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea หรือ OSA) ระดับปานกลางขึ้นไป การลดน้ำหนักอาจทำให้อาการดีขึ้น แต่อาจจะไม่หายขาด ต้องได้รับการรักษาโดยวิธีหลัก เช่น การให้ผู้ป่วยใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) ระหว่างหลับ การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรมช่วยเลื่อนกรามออกมาข้างหน้าเพื่อให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือการผ่าตัด ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมเป็นกรณีไป

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น นำไปสู่ปัญหาอะไรได้บ้าง

มีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับนอกจากทำให้ไม่สดชื่น ปวดศีรษะ ง่วงนอนแล้ว ยังส่งผลเกี่ยวข้องกับโรคระบบหลอดเลือดด้วย เช่น เสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต มากกว่าคนทั่วไป รวมทั้งภาวะไขมันเกาะตับ เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ หัวใจวาย และภาวะอื่นๆ เช่น ซึมเศร้า ปัญหาทางจิตเวช สมองเสื่อม ในทางกลับกันผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่กล่าวมา ถ้ามีอาการสงสัยว่าจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นก็ควรมารับการตรวจด้วยว่ามีภาวะนี้หรือไม่ เพราะภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นอาจทำให้เกิดโรคเหล่านี้ หรือทำให้โรคเหล่านี้ควบคุมได้ไม่ดี

ภาวะนอนกัดฟันอันตรายแค่ไหน

ปัญหากัดฟันระหว่างนอนหลับมักพบในวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ปัญหาที่พบบ่อยเนื่องจากการกัดฟัน ได้แก่ ฟันกร่อน ปวดกราม และปวดศีรษะในตอนเช้าโดยไม่ทราบสาเหต พบว่าภาวะนอนกัดฟันมีความสัมพันธ์กับความเครียดและการอดนอน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมด้วย กล่าวคือถ้าพ่อแม่กัดฟัน โอกาสที่ลูกจะนอนกัดฟันก็เพิ่มสูงขึ้น การรักษาทำได้โดยลดปัจจัยเสี่ยงเรื่องความเครียดและการอดนอน ถ้าเป็นมากอาจต้องใส่อุปกรณ์กันการกัดฟัน ช่วยให้ฟันสึกกร่อนน้อยลง กรามได้รับผลกระทบน้อยลง และในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจต้องใช้ยาร่วมด้วย

โรคลมหลับ คืออะไร

โรคลมหลับเกิดจากการที่สมองขาดสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า ไฮโปเครติน (hypocretin) ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้ตื่น เมื่อขาดไปจึงรู้สึกง่วง โรคนี้พบไม่บ่อย ประมาณ 1 ใน 3,000 คน มักพบในวัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น อาการหลัก คือ ง่วงมาก ง่วงหลับตลอดเวลา และอาจพบความผิดปกติอย่างอื่น เช่น หลับไปแบบไม่รู้ตัว เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะหลับ อาการผีอำ นอนหลับๆตื่นๆ หรือภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงฉับพลันเวลาที่ถูกระตุ้นด้วยอารมณ์ เช่น หัวเราะ ตื่นเต้น ตกใจ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการนอนหลับช่วงสั้นๆระหว่างวันเพื่อลดอาการง่วงนอน

รู้ได้อย่างไรว่านอนเพียงพอแล้วหรือยัง

ปัญหาที่พบมากเกี่ยวกับการนอนของคนในสังคมปัจจุบันคือ “นอนไม่พอ” ผู้ที่หลับทันทีที่หัวถึงหมอน อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่านอนหลับไม่พอ วิธีดูว่านอนพอหรือไม่ทำได้โดยสังเกตความต่างของเวลาตื่นนอนระหว่างวันธรรมดากับวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ไม่ต้องตื่นไปทำงาน ถ้าเราตื่นนอนต่างกันเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป (เช่น วันธรรมดาตื่น 6.00 น. วันเสาร์ตื่น 10.00 น.) แสดงว่าช่วงวันธรรมดาเรานอนไม่พอ ให้ปรับเวลาเข้านอนวันธรรมดาให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้จำนวนชั่วโมงการนอนที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

โรคนอนไม่หลับต้องปรับตัวอย่างไร

โรคนอนไม่หลับเป็นความผิดปกติในการนอนที่รบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้หงุดหงิด ไม่สดชื่น สมองไม่แล่น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ความจำลดลง สำหรับผู้ที่ใช้เวลานานกว่าจะหลับ แต่ภาวะดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อการดำเนินชีวิต อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคนอนไม่หลับ ผู้หญิงมักมีปัญหานอนไม่หลับมากกว่าผู้ชาย และมักพบอาการนี้ในวัยกลางคนขึ้นไป เนื่องจากพออายุมากขึ้น นาฬิกาการนอนจะทำงานมีประสิทธิภาพน้อยกว่าผู้ที่มีอายุน้อย การตอบสนองต่อแสงก็จะเปลี่ยนไป ทำให้นอนได้ยากขึ้น นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีกิจกรรมน้อยลง มีการนอนกลางวัน ทำให้มีรูปแบบการนอนที่ไม่เหมาะสม สำหรับการรักษา ในเบื้องต้นแพทย์มักแนะนำให้ปรับพฤติกรรมก่อน หากไม่ได้ผลจึงพิจารณารักษาด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การใช้ยา

สุดท้ายนี้คุณหมอได้เน้นย้ำว่า “อยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับ กิจกรรมที่เราใช้เวลามากที่สุดในชีวิต อยากให้พยายามสังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติอะไรจากการนอนหลับหรือเปล่า เพราะความผิดปกตินี้จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพโดยรวมของเรา ถ้าสงสัยว่าจะมีความผิดปกติจากการนอนหลับ ควรมาพบแพทย์ เพราะปัจจุบันมีศูนย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ แพทย์จะได้ทำการตรวจรักษาตั้งแต่เบื้องต้น”

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 177 January 2016