อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ – เข้าถึง เข้าใจ ชีวิตวัยเปลี่ยน

0
3781
อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวกันแล้ว เราได้เตรียมพร้อมกับเรื่องนี้กันมากน้อยแค่ไหน ทั้งในแง่ของการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว และในแง่ของการเตรียมตัวเองให้พร้อม
ก้าวไปสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต ‘ต้นแบบสุขภาพ’ ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ (คุณหมอพิช) หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาบอกเล่ามุมมองพร้อมทั้งให้ข้อคิดที่จะช่วยให้เราเข้าใจและอยู่กับความสูงวัยได้อย่างราบรื่น

เส้นทางสู่เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ

อาจกล่าวได้ว่าเส้นทางการเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุของคุณหมอพิชนั้นเริ่มฉายแววมาตั้งแต่
วัยเด็ก เพราะคุณหมอชอบพูดคุยกับผู้สูงอายุ ได้ซักนู่นถามนี่ตามประสาเด็ก สนุกกับการฟังคุณปู่คุณยายเล่าเรื่องราวในอดีตสมัยนั่งรถราง ใช้สตางค์แดงร้อยห่วง ซึ่งคุณหมอฟังได้ไม่เคยเบื่อ อย่างไรก็ตามเหตุผลหลักที่ทำให้
คุณหมอพิชตัดสินใจศึกษาต่อเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คือ การมีโอกาสได้รักษาคนไข้รายหนึ่งในระหว่างศึกษาต่อด้านอายุรศาสตร์ทั่วไปที่ต่างประเทศ

“ตอนนั้นมีเคสหนึ่ง คนไข้เป็นหญิงสูงอายุ ได้รับการรักษาตามหลักการแพทย์อย่างดีที่สุดแล้ว แต่ปรากฏว่าคนไข้ยังกลับมานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลบ่อยมาก ซึ่งที่นั่นมีกฎว่าถ้าคนไข้ออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ภายใน 72 ชั่วโมงหากต้องกลับเข้ามารักษาตัวอีกครั้ง ต้องรักษากับคุณหมอคนเดิมเสมอถ้าคุณหมอยังประจำอยู่ที่แผนกนั้น คุณยายท่านนี้มารักษาตัวบ่อยมากจนพิชจำประวัติได้ และเริ่มรู้สึกว่าทำไมเราถึงรักษาเขาไม่หาย สุดท้ายทางโรงพยาบาลจึงส่งทีมไปเยี่ยมคุณยายที่บ้านเพื่อสืบหาสาเหตุ และพบว่าคุณยายทานยาเฉพาะวันแรกที่ออกจากโรงพยาบาล หลังจากนั้นก็ไม่ยอมทานอีก ปล่อยให้น้ำท่วมปอดเพื่อจะได้มานอนโรงพยาบาล เมื่อรู้อย่างนี้พิชจึงถามคุณยายว่าเพราะอะไร คุณยายไม่อยากอยู่บ้านหรือ คุณยายบอกว่าเขาอยากมาเจอพิช อยากเห็นรอยยิ้มของพิชทุกเช้า เพราะรอยยิ้มของพิชทำให้โลกสดใส หลังจากนั้นเราจึงทำข้อตกลงกันใหม่ พิชบอกคุณยายว่าการมานอนโรงพยาบาลบ่อย ๆ นั้นไม่ดี
คุณยายกลับบ้านนะ แล้วพิชจะส่งทีมไปเยี่ยมที่บ้าน และพิชจะไปกับทีมด้วยถ้าจัดตารางได้

เหตุการณ์นี้ทำให้พิชได้คิดว่า ศาสตร์นี้ไม่ได้เป็นแค่องค์ความรู้ทางด้านอายุรศาสตร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีศิลปะในการดูแลคนไข้แบบองค์รวมด้วย ยาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาทางอายุรศาสตร์ไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับผู้สูงอายุทั้งหมด พิชอยากรู้ว่าทำอย่างไรเราจะดูแลคนกลุ่มนี้ได้ดี จึงตัดสินใจเลือกเรียนแพทย์อายุรศาสตร์ต่อยอดด้านผู้สูงอายุ ซึ่งพิชชอบมาก สมัยก่อนแพทย์สาขานี้ไม่มีคนเรียน ไม่ค่อยมีใครรู้ว่ามีศาสตร์นี้อยู่ในอายุรศาสตร์ด้วย ต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่ยอมรับและเข้าใจ ให้พิชได้เรียนในสิ่งที่พิชรัก คนไข้ของพิชน่ารักมากค่ะ รวมทั้งญาติของคนไข้ด้วย สำหรับพิช บนโลกกลม ๆ ใบนี้มีคุณหมอเยอะมากนะคะ เขาสามารถเลือกให้คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้มีพระคุณรักษากับคุณหมอท่านใดก็ได้ แต่เขาเลือกที่จะให้เราเป็นเจ้าของไข้ พิชถือว่าคนไข้และญาติให้เกียรติเรา และเชื่อมันในตัวเรา พิชจึงทำงานด้านนี้มาโดยตลอด และไม่เคยไม่มีความสุขกับการดูแลคนไข้สูงอายุเลยค่ะ”

อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์

สุขภาพผู้สูงอายุ ปัญหา และการป้องกัน

เมื่อพูดถึงปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ คุณหมอพิชมองว่าปัญหาหลัก ๆ ที่น่ากังวลคือเรื่องของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ส่งผล
กระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหากระดูกบาง กระดูกพรุน โรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง เช่น ภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุ และปัญหาด้านสภาพจิตใจ เนื่องจากพบว่าผู้สูงอายุหลายรายเริ่มมีความเครียดและภาวะซึมเศร้า ปัญหาเหล่านี้ในระยะยาวจะส่งผลให้ผู้สูงวัยสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเอง ต้องพึ่งพาครอบครัวสูงมาก วิธีที่ดีที่สุดคือ ‘การป้องกันไม่ให้เป็นโรค’ ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาว หากเกิดโรคขึ้นแล้วก็ควรรีบรักษา และควบคุมอาการให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

“โรคบางอย่างไม่มีสัญญาณเตือน มาแสดงอาการตอนอายุมากแล้วซึ่งแก้ไขได้ค่อนข้างยาก เช่น โรคหัวใจและ
หลอดเลือด อัมพาต อัมพฤกษ์ การดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีตั้งแต่วัยหนุ่มวัยสาวจะช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเหล่านี้ได้ หรือหากป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ความรุนแรงของโรคก็จะไม่มาก สามารถควบคุมภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้”

นอกจากนี้คุณหมอพิชยังให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองไว้ว่า “อันดับแรกคือ ต้องทำตัวเราให้แข็งแรงด้วยการมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่เรามักทำงานอยู่กับที่ ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว
การทำงานเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่การออกกำลังกายก็สำคัญมากเช่นกันนะคะ นอกจากออกกำลังกายแล้ว เราควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ทานอาหารเค็มจัด หวานจัด มันจัด อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและมักพบในผู้ใหญ่
วัยทำงานคือ ความเครียด ความวิตกกังวล ดังนั้นควรพยายามทำจิตใจให้คิดบวก มองโลกในแง่ดี พฤติกรรมเหล่านี้ถ้าเราฝึกปฏิบัติให้เป็นนิสัย เมื่อสูงวัยเราก็จะปรับตัวได้ง่ายขึ้นค่ะ

สำหรับผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวที่จะต้องก้าวไปเป็นผู้สูงอายุในอนาคตข้างหน้านี้ ส่วนใหญ่จะมีการเตรียมพร้อมทางสังคมไว้แล้ว คือมีเพื่อน มีกลุ่มสังคมที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ใครที่ยังไม่มี ถ้าเป็นไปได้พิชแนะนำให้มองหากลุ่มที่มีความชอบหรือความสนใจในเรื่องเดียวกันไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรกหรือกิจกรรมต่าง ๆ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อยากแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพก็คือ การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อคัดกรองโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่อาจจะยังไม่แสดงอาการ แต่สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ตัวอย่างเช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ค่าความดันโลหิต การประเมินน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวควรทำ สำหรับผู้ใหญ่วัยกลางคนและผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว มีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำ นั่นคือการตรวจคัดกรองภาวะกระดูกพรุน รวมไปถึงการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งบางชนิดที่พบได้บ่อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลจากคุณหมอได้ว่าควรจะเริ่มตรวจคัดกรองเมื่อไร และบ่อยแค่ไหน ที่สำคัญคือ อย่าเป็นโรคเลื่อน เมื่อครบกำหนดควรไปตรวจ สำหรับใครที่กลัวลืม พิชมีเทคนิคเตือนความจำแบบง่าย ๆ มาแนะนำค่ะ คือให้จำว่าทุกวันเกิดคือวันครบกำหนดตรวจสุขภาพประจำปี ให้ของขวัญตัวเองด้วยการดูแลตัวเองกัน
นะคะ”

อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์

เรื้อรัง อย่าท้อ

ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สำหรับผู้ที่กำลังวิตกกังวล รู้สึกแย่กับโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ คุณหมอพิชมีแง่คิดดี ๆ มาฝากค่ะ

“คำว่า โรคเรื้อรัง จริง ๆ คือโรคที่รักษาไม่หาย แต่…ไม่ได้มีมาเพื่อให้เราท้อใจ การที่มีโรคเรื้อรังและเรารู้ว่าเราป่วย เราได้อยู่ในการดูแลของแพทย์และทีมงานผู้รักษา นั่นหมายความว่า เราโชคดีที่ได้รักษาโรคเหล่านี้ก่อนที่จะมีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่ผู้สูงวัยทุกคนที่มีโรคเรื้อรังสามารถช่วยคุณหมอได้คือ การรับประทานยาตามที่คุณหมอแนะนำ และการพยายามปรับพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ ข้อดีของการปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ก็คือ จะทำให้ผู้สูงวัยมีกำลังใจมากขึ้น หลายรายตอนมาพบคุณหมอครั้งแรกน้ำหนักตัวเยอะมาก แต่พอเริ่มออกกำลังกาย น้ำหนักก็ลดลง ปริมาณยาที่รับประทานก็ลดลง จำนวนชนิดยาก็ลดลง โรคเรื้อรังเหล่านี้ไม่ได้มาเพื่อทำให้เราเสียกำลังใจ แต่มาเพื่อให้เรารู้ว่าถึงเวลาต้องดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องแล้ว และถ้าเราทำได้ดี เราก็จะอยู่กับโรคเหล่านี้ได้อย่างมีความเข้าใจในสภาพร่างกายของเรา ไม่ทุกข์ ไม่วิตกกังวลจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมค่ะ”

ความเข้าใจผิดที่คุณหมอขอย้ำ

เมื่อถามถึงความเข้าใจผิดเรื่องสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คุณหมอพิชมองว่ามีผู้สูงอายุหลายรายที่มีปัญหาหรือมีความกังวลใจบางอย่างเกี่ยวกับสุขภาพ แต่ไม่ได้บอกคุณหมอ ส่วนหนึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของผู้สูงอายุ คือ เกรงใจ กลัวคุณหมอจะเหนื่อยเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณหมอพิชย้ำอย่างหนักแน่นว่า อย่าเกรงใจ ถ้ารู้สึกว่ามีอาการผิดปกติอะไรขอให้บอกคุณหมอที่รักษาอยู่ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อผิด ๆ บางอย่างเกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่คุณหมอพิชได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ เป็นประเด็นที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม

“ก่อนอื่นต้องบอกว่า อาการป่วย ไม่สบายตัว ไม่สบายใจที่เกิดขึ้น ถ้าผู้สูงอายุรู้สึกว่ามันผิดปกติไปจากเดิม ก็ไม่ควรละเลย เพราะเป็นไปได้ว่าอาจจะมีโรคทางกายเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หลายคนมีความเชื่อว่าแก่แล้วก็ต้องเวียนหัว หกล้ม หรือหลง ๆ ลืม ๆ เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะอาการแสดงบางอย่างที่คิดว่าไม่ใช่โรค จริงๆ แล้วอาจจะเป็นโรคก็ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเวียนหัว หกล้ม หรือหลงลืม ทั้งหมดนี้ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุค่ะ อยากให้เข้าใจกันใหม่ค่ะว่า เราแก่เราไม่หกล้ม เราแก่เราไม่หลงลืม เราแก่เราไม่เวียนศีรษะหรือหน้ามืด บ่อย ๆ นะคะ อันนี้ไม่ใช่อาการของความแก่ แต่เป็นอาการของความเจ็บป่วย ถ้าไม่แน่ใจ มาปรึกษาคุณหมอดีกว่าค่ะ”

ดูแล ห่วงใย ใช้กำไรชีวิตอย่างคุ้มค่า

ผู้สูงวัยบางส่วนอาจมีปัญหาด้านสภาพจิตใจ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เริ่มตั้งแต่สุขภาพกาย ผู้สูงวัยทุกคนต่อให้ไม่มีโรคก็จะเกิดความเสื่อมของร่างกายในทุกระบบอยู่แล้ว เกิดจากสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ขบวนการชราภาพ’ ทำให้ความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น  เดินได้ไม่ไกลเหมือนเดิม ขึ้นรถลงเรือไม่คล่องเหมือนเดิม ความรู้สึกว่าสภาพร่างกายไม่แข็งแรงเท่าเดิมอาจทำให้ผู้สูงอายุขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม ส่งผลให้เกิดความรู้สึกกังวลหรือซึมเศร้าได้ นอกจากนี้เมื่อเกษียณยังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน สังคม เศรษฐกิจ รายได้เหล่านี้ล้วนทำให้ผู้สูงอายุเครียดและเศร้าได้ง่าย หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษา อาจจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

“อันที่จริงในปัจจุบันผู้สูงอายุได้รับการยอมรับทางสังคมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เสมอไป เราพบว่าผู้สูงอายุหลายคนถูกจำกัดอยู่แค่บ้าน ไม่มีสังคมที่เหมาะสมกับวัยของตัวเอง จึงยิ่งทำให้รู้สึกเหงา ว้าเหว่ ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า ผู้สูงวัยที่ออกนอกบ้านได้ส่วนใหญ่เป็นคนที่แข็งแรงไม่ค่อยต่างจากคนวัยทำงาน แต่ถ้าเขามีภาวะที่จำเป็นต้องพึ่งพาบางอย่าง เช่น การใช้ไม้เท้า การใช้รถเข็น ถ้าสิ่งแวดล้อมนอกบ้านไม่
เอื้ออำนวย ก็จะทำให้เขาสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเอง การเข้าสังคม เขาจะยิ่งขาดความมั่นใจ และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ เพราะฉะนั้นการที่ผู้สูงวัยคนหนึ่งจะมีสุขภาพที่ดีได้ กายต้องดี ใจต้องไม่ป่วย สังคมต้องให้การสนับสนุน และสิ่งแวดล้อมต้องเอื้อ แล้วเขาจะใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรง” คุณหมอพิชสรุปให้เห็นภาพรวมอย่างชัดเจนก่อนที่ทีมงานจะตั้งคำถามต่อไป ซึ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับประโยคหนึ่งที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ หรือบางทีเราอาจจะเป็นหนึ่งในคนที่เคยพูดประโยคนี้ออกมา นั่นคือประโยคที่ว่า ‘ไม่มีเวลา’ ในยุคสมัยที่ใคร ๆ ต่างก็มองว่าตนเองขาดแคลนเวลาแบบนี้ เราจะดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวได้อย่างไร แล้วคุณหมอพิชมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

“พิชจะสอนลูกหลานทุกคนว่า สมัยที่เราเล็ก ๆ พ่อกับแม่เลี้ยงดูเรามา พ่อกับแม่ไม่เคยมีตารางเวลากับเราใช่ไหมคะ เช่นเดียวกัน การดูแลผู้สูงวัยไม่ใช่ภาระ แต่เป็นหน้าที่ของเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดว่าสิ่งนี้เป็นหน้าที่ เราจะสามารถจัดสรรเวลาได้เอง เราจะสามารถเผื่อเวลาเพื่อดูแลท่านได้ เหมือนกับว่าทำไมเรามีเวลาทานข้าว หนึ่งนาทีที่เราให้กับท่านมันมีค่ามากกว่าเวลาหนึ่งนาทีที่เรารู้สึกนะคะ ดังนั้นทำเถอะค่ะ บอกกับตัวเอง ถามตัวเอง ว่าวันนี้คุณคุยกับ
คุณพ่อคุณแม่แล้วหรือยัง ถามท่านหรือยังว่าทานข้าวได้ไหม ทำอะไรมาบ้าง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำแล้วไม่มีข้อเสีย
หรอกค่ะ อีกอย่างคุณไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่าสิ่งที่คุณบอกว่า ‘เอาไว้ก่อน’ นั้นจะเป็นวันสุดท้ายหรือเปล่า คุณจะต้อง ‘เอาไว้ก่อน’ ไปตลอดชีวิตไหม คือไม่มีโอกาสได้ทำอีกแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าตื่นมาพบว่าเรายังหายใจอยู่ และคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้มีพระคุณกับเรายังอยู่เนี่ย พิชจะบอกเลยว่า วันนี้คุณกำไรแล้ว เพราะฉะนั้นใช้กำไรของคุณให้ดี ไปคุยกับท่าน แวะไปหาท่านบ้าง นี่คือแนวคิดของพิช พิชไม่รู้นะคะว่าคนอื่น ๆ จะรู้สึกแบบพิชไหม แต่วันที่คุณปู่ทานขนมที่พิชซื้อไปให้ได้ จากที่ไม่ค่อยยอมทาน ขนมหนึ่งคำของเขาหรือยิ้มของเขาหนึ่งยิ้มมันมีความหมายเหลือเกิน และพิชบอกตัวเองว่าเราจะไม่ยอมสูญเสียเวลาเหล่านี้ไป เราจะยิ่งพยายามทำอีก…ทำอีกเรื่อย ๆ”

อ.พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์

เคล็ดลับสุขภาพดีในแบบฉบับคุณหมอพิช

หลังจากได้ฟังคุณหมอพิชเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในบทบาทการเป็นแพทย์ไปแล้ว ทีมงานจึงขอตามติดชีวิตส่วนตัวของคุณหมอพิชกันบ้าง แต่ก็ยังไม่วายเริ่มต้นด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ นั่นคือ เคล็ดลับการดูแลตนเองในแบบฉบับของคุณหมอพิช

“จากความรู้ที่มี สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพแน่ ๆ คือ การออกกำลังกายพิชจึงเริ่มต้นดูแลตัวเองจากการออกกำลังกายค่ะ แต่ก็คงจะเหมือนกับอีกหลาย ๆ คนที่มีสารพัดข้ออ้าง ยุ่งบ้าง ไม่ว่างบ้าง ผลัดไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพิชได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง คือ ศ.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด ท่านบอกกับพิชว่า ในเมื่อเรากินข้าวได้ทุกวัน ทำไมเราถึงออกกำลังกายไม่ได้ แค่วันละครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเอง จากนั้นอาจารย์ก็แนะนำว่า เราต้องตั้งกฎกติกา เหมือนกับที่เราบอกว่าต้องกินข้าว เราหิวข้าว เราต้องหิวออกกำลังกายด้วย ดังนั้นพิชจึงมีตารางเวลาสำหรับการออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมไปถึงเรื่องของอาหาร พิชจะเลือกทานมากขึ้น เช่น อาหารที่มีไขมันไม่ดีเยอะ พิชจะไม่ทาน โดยปกติพิชเป็นคนไม่ชอบทานอาหารมัน ๆ อยู่แล้ว เป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบทานผักผลไม้ แต่ที่ยังอดไม่ได้คือพวกขนม ขนมเค้ก ไอศกรีม แต่เดี๋ยวนี้เก่งขึ้นค่ะ ควบคุมตัวเองให้ทานในสัดส่วนที่เหมาะสมได้ แล้วก็หันมาดูเรื่องอาหารแลกเปลี่ยนมากขึ้น”

นอกจากการดูแลสุขภาพกายแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณหมอพิชให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ‘การดูแลสุขภาพใจตัวเอง’ คุณหมอจะคอยดูตัวเองอยู่เสมอว่าเครียดหรือไม่ ตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกไม่สดชื่นหรือเปล่า โดยหนึ่งในวิธีลดความเครียดของคุณหมอพิชคือ การได้อยู่กับครอบครัว ซึ่งทำให้คุณหมอมีความสุข ปล่อยวางความเครียดลงได้ และอีกหนึ่งวิธีคลายความเครียดที่คุณหมอพิชได้รับมาจากการไปเป็นอาสาสมัครของวัดไทยขณะที่ศึกษาอยู่ใน
ต่างประเทศก็คือ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ

“ถ้าเจอปัญหาที่เรารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว พิชจะถอยออกมาก้าวหนึ่ง การถอยออกมาก้าวหนึ่งจะช่วยให้เราเห็นปัญหาได้รอบด้านมากขึ้น อันที่จริงหลักการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของพิชคือการใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าเข้ามาช่วย โดยดูที่เหตุแห่งทุกข์ ดูว่าทุกข์นั้นเกิดอย่างไร แล้วแก้ไขที่ตรงนั้น แต่ถ้าเราไปจมกับความทุกข์ เราจะคิดไม่ออก อีกสิ่งหนึ่งคือ ถ้าพิชทุกข์เรื่องงาน เมื่อกลับบ้านพิชจะไม่เอางานกลับบ้าน พิชจะบอกตัวเองว่าถึงเวลากลับบ้านแล้ว เมื่ออยู่บ้านเราก็จะมีความสุขกับครอบครัว พอเราผ่อนคลายลง ได้สวดมนต์ นอนหลับพักผ่อน ได้ออกกำลังกาย เช้าขึ้นมาเราจะคิดออกว่าควรทำอย่างไร สิ่งหนึ่งที่พิชบอกตัวเองเสมอคือ ทุกปัญหาไม่จำเป็นต้องแก้ได้เดี๋ยวนี้ ทุกปัญหามีทางออก จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง เป็นคำพูดที่พิชใช้ให้กำลังใจตัวเองและเพื่อนร่วมงานทุกคน ว่าทุกปัญหามีทางแก้ เพียงแต่เรายังคิดไม่ออก เดี๋ยวก็คิดออก

สุดท้ายนี้พิชขอฝากไว้ว่า สุขภาพของคนเราสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพสังคม สุขภาพ การเงิน สุขภาพสิ่งแวดล้อม สำคัญมาก การดูแลสุขภาพ สำหรับพิชไม่เคยมีคำว่า ‘สาย’ ทุกคนเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้วันที่อ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ บอกกับตัวเองว่า ต่อไปนี้เราจะดูแลสุขภาพ เพื่อจะได้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต สำหรับท่านที่มีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน เมื่อไรก็ตามที่ท่านรู้สึกเหนื่อยหรือท้อกับการดูแลพวกเขา ให้บอกกับตัวเองว่า เราช่างโชคดีที่มีพระในบ้าน มีโอกาสได้ดูแลเขา ได้กราบเขาทุกวัน และทุกคนที่ยังมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านวันนี้
คุณเป็นคนที่โชคดีมากบนโลกใบนี้ เพราะหลาย ๆ คนไม่มีโอกาสอีกแล้ว”

 

Resource: HealthToday Magazine, No.207 July 2018