สร้างภูมิต้านทานต้านมะเร็ง

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
1493
ภูมิต้านทาน

รางวัลโนเบล สาขาการแพทย์และสรีรวิทยา ประจำปี ค.. 2018 เป็นเรื่องเกี่ยวกับมะเร็ง คือ การสร้างภูมิต้านทานต่อโรคมะเร็ง ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิวัติการรักษามะเร็งโดยใช้ภูมิต้านทานของร่างกาย ซึ่งแตกต่างจากการรักษาแบบเดิมที่ใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy) และการฉายรังสี

การรักษาโดยการใช้เคมีบำบัด สารเคมีจะเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งและเป็นต่อเซลล์ปกติด้วย ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากสารเคมี เช่น ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ฯลฯ แต่การใช้ภูมิต้านทานของร่างกายรักษามะเร็ง จะใช้สารที่สามารถปลดปล่อยภูมิต้านทานให้พุ่งไปทำลายเซลล์มะเร็งอย่างเดียวโดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ

เจมส์ อัลลิสัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน และ ทาซูกู ฮอนชู นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น เป็น 2 นักวิทยาศาสตร์ที่
ค้นพบโมเลกุลคนละตัว ซึ่งโมเลกุลทั้งสองตัวนี้เป็นเสมือนเบรก (ห้ามล้อ) ของระบบภูมิต้านทานในเม็ดเลือดขาว
(Checkpoint inhibitor molecules) ไม่ให้ไปทำร้ายเซลล์มะเร็ง แต่เมื่อโมเลกุลนี้ถูกปลดปล่อย (หรือปิดสวิตช์ไม่ให้ทำงาน) เซลล์เม็ดเลือดขาว (T-cells) ก็จะสามารถเข้าโจมตีทำลายเซลล์มะเร็งได้ โมเลกุล 2 ตัวนี้มีชื่อว่า CTLA-4 ซึ่งค้นพบโดยอัลลิสันในปี ค.. 1995 และอีกตัวคือ PD-1 ซึ่งค้นพบโดยฮอนชูในช่วงเวลาใกล้กัน

เมื่อรู้จักโมเลกุลนี้แล้ว เป้าหมายต่อไปคือ การหาวิธีทำลายหรือทำให้โมเลกุลทั้ง 2 ตัวนี้หมดฤทธิ์ วิธีการรักษานี้
ค่อนข้างจำเพาะเจาะจง เป็นการรักษาแบบพุ่งเป้า (
Targeted therapy) จึงมีผลข้างเคียงน้อย และเป็นวิธีที่มีการทดลองใช้กันมาเมื่อไม่กี่ปีนี้ ซึ่งได้ผลในมะเร็งบางชนิด บางชนิดก็ไม่ค่อยได้ผล เช่น มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งสมอง ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติยากระตุ้นภูมิต้านทาน (Immunotherapy) เข้าตลาดบ้างแล้ว อย่างเช่น ยาพุ่งเป้าทำลาย PD-1

วงการวิจัยเรื่อง Immunotherapy กำลังมาแรงมาก เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับคนที่อยู่ในวงการ และหวังผลการรักษาได้มาก ปัจจุบันการรักษาวิธีนี้สามารถควบคุมมะเร็งไฝดำ (Melanoma) ได้ประมาณ 20-50% ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานถือว่าตายแน่นอน อย่างไรก็ตามในวงการแพทย์ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ คือไม่ใช่ว่าการรักษาด้วย
วิธีการนี้จะไม่มีผลข้างเคียงเสียทีเดียว การใช้การรักษาทางภูมิต้านทานนี้อาจจะเกิดภาวะภูมิต้านทานต่อตัวเอง
คืออวัยวะบางอย่างของคนไข้อาจจะเสียหาย แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ายังพอควบคุมได้

เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ได้มีรายงานเปรียบเทียบระหว่างการรักษาทางภูมิต้านทาน (Immunotherapy) กับการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ในโรคมะเร็งปอดที่เรียกว่า nonsmallcell lung cancer ซึ่งเป็นมะเร็งปอดที่พบบ่อยที่สุด จากรายงานพบว่า ยากระตุ้นภูมิต้านทานชื่อ Pembrolizumab สามารถยืดชีวิตได้ 4 – 8 เดือนเมื่อเปรียบเทียบกับเคมีบำบัด ซึ่งยาตัวนี้เคยใช้ยืดชีวิตอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ผู้ซึ่งเป็นมะเร็งไฝดำแพร่กระจายไปสู่สมองได้ผลดีมากมาแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่า ยานี้อาจจะไม่ได้ผลสำหรับทุกคน คนไข้บางคนตอบสนองน้อย เช่น คนที่มะเร็งไม่ค่อยกดภูมิต้านทาน หรือไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง (mutation) ในเซลล์ มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ได้แก่ มะเร็งไฝดำ (Melanoma) และมะเร็งปอด เป็นต้น คนไข้บางคนอาจจะเข้าใจผิดจนเกิดความคาดหวังเกินขอบเขต ที่สหรัฐฯ คนไข้บางคนถึงขนาดขอให้หมอใช้ยากระตุ้นภูมิต้านทานนี้เป็นแนวหน้าในการรักษาแทนการใช้เคมีบำบัดเลยทีเดียว ทั้ง ๆ ที่เคมีบำบัดได้ผลมากกว่า

หมออัลลิสัน หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลออกมาเตือนว่า Immunotherapy เป็นเพียงการรักษาอย่างหนึ่งที่ใช้เสริมการรักษา ไม่ใช่สิ่งที่จะใช้ทดแทนวิธีการรักษามะเร็งที่มีอยู่เดิม และอาจจะเป็นการรักษาที่คนไข้มะเร็งส่วนมากจะได้รับในอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนหมอฮอนชูกล่าวว่า เขาจะทำการวิจัยต่อไป เพื่อว่าการรักษาโดยภูมิต้านทานนี้จะช่วยรักษาโรคมะเร็งให้ได้มากเป็นประวัติการณ์ สมาคมมะเร็งอเมริกันกล่าวว่า ขณะนี้มีการทดลองในคนไข้ (clinical trial) 800 รายทั่วโลก และมียาที่กำลังได้รับการพัฒนาขึ้นมาราว 30 อย่าง และบริษัทยาได้ลงทุนในเรื่องนี้ด้วยเงินจำนวนมาก

สำหรับเมืองไทยเรา มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้คือ นพ.ไตรลักษณ์ พิศิษฐ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบจากโรงพยาบาลรามาธิบดี จากนั้นก็ศึกษาต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านอายุรศาสตร์ และต่อทางด้านโรคไต ก่อนจะไปศึกษาที่สถาบันเอ็นไอที (National Institute of Health; NIT) สหรัฐฯ ทางด้านเซลล์มะเร็งและการใช้ภูมิต้านทางของร่างกายต่อสู้กับมะเร็ง ศึกษาอยู่ 9 ปี ขณะนี้กลับมาเมืองไทยเพื่อทำงานวิจัยเพื่อผลิตสารกระตุ้นภูมิต้านทานต้านมะเร็งในไทย ขณะนี้กำลังระดมทุนทำวิจัยซึ่งต้องใช้เงินราว 1,500 ล้านบาทกว่าจะถึงจุดที่ทำยามาลองรักษามะเร็งทางคลินิก เริ่มแรกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอนุมัติเงินลงทุนไปแล้ว 100 ล้านบาท นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีมากในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทย ขอเชิญประชาชนช่วยกันบริจาคคนละไม้คนละมือ

 Resource: HealthToday Magazine, No.212 December 2018