20 ข้อคิดเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย

ภูมรินทร์ ณ วิเชียร มัณฑนากร

0
2694
จัดบ้านให้ปลอดภัย

หลายครั้งที่อ่านข่าวการเสียชีวิตของเด็ก ๆ จะรู้สึกเศร้าใจมาก บางเหตุการณ์เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นก็เกิด ลองประมวลจากเหตุการณ์เหล่านี้พอจะสรุปได้ว่า สถานที่ที่เกิดเหตุมักเกิดขึ้นที่บ้าน ส่วนสาเหตุนั้นเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตัวเด็กเอง ความประมาทของผู้ดูแลเด็ก และความไม่สมบรูณ์ของอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ทั้งหมดทั้งมวลนี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่น่าเศร้าได้ ในส่วนของการป้องกันอุบัติเหตุของเด็กเล็กที่ต้องใช้ชีวิตในบ้านทั้งวันขอเลือกให้เข้ากับคอลัมน์ของเราคือ เน้นในส่วนของการจัดบ้านและการใช้เครื่องใช้ภายในบ้าน เพื่อป้องกันไม่ไห้เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เพื่อให้ลูกหลานของเรา ๆ ท่าน ๆ อยู่บ้านด้วยความปลอดภัยค่ะ

การจัดบ้านเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในเด็กเล็ก

  1. การจัดวางเครื่องเรือน ไม่ควรจัดวางในตำแหน่งที่เด็กสามารถเดินชนได้ ถ้าจะให้ดีควรจัดเข้ามุม ชิดผนังให้หมด เหลือพื้นที่โล่งไว้สำหรับเด็กเดินและวิ่งเล่นได้สะดวก ไม่ต้องกลัวว่าบ้านจะไม่สวยงามนะคะ ปล่อยไปก่อน Safety first ดีกว่าค่ะ
  2. โต๊ะหรือตู้ที่มีเหลี่ยมมุม ควรเลือกใช้แบบเหลี่ยมมน หรือหาแผ่นปิดเหลี่ยมมุมเหล่านี้ เพื่อป้องกันการเดินชน หรือหกล้มศีรษะกระแทก ทำให้ศีรษะแตก โต๊ะต้องเป็นโต๊ะที่แข็งแรง ไม่ล้มง่าย เคยมีข่าวในต่างประเทศว่ามีเด็กยืนพิงโต๊ะที่พับได้ หล่นลงมาทับถึงกับเสียชีวิตเลยค่ะ ถ้าหลีกเลี่ยงการใช้โต๊ะกระจกได้ก็ควรหลีกเลี่ยงนะคะ เพราะหากเด็กล้มลงแล้วกระจกแตกขึ้นมา ไม่กล้านึกภาพเลยค่ะ ไม่ควรวางโต๊ะหรือเก้าอี้ให้ชิดกับหน้าต่าง ป้องกันเด็กปีนขึ้นไปแล้วกระโดดออกมา
  3. พื้นบ้าน ควรปูด้วยวัสดุที่มีพื้นผิวกันลื่นบริเวณที่อาจโดนฝน บริเวณซักล้าง หรือบริเวณพื้นในห้องน้ำ เหตุที่กระเบื้องกันลื่นไม่เป็นที่นิยมอาจเป็นเพราะทำความสะอาดค่อนข้างยาก เดินแล้วไม่นุ่มเท้า สีสันไม่สวยงาม เรามักชอบพื้นที่ถูทำความสะอาดง่าย เป็นเงางาม สำหรับบ้านที่พื้นไม่ได้ปูกระเบื้องแบบกันลื่น มีวิธีแก้ไขคือ  ให้ใช้พรมไวนิลปูทับเพื่อเพิ่มความอ่อนนุ่มและไม่ลื่นล้มง่ายบริเวณพื้นที่ภายในบ้าน สำหรับบริเวณพื้นส่วนที่เปียก เช่น  เฉลียง  ระเบียง  ห้องน้ำ  และส่วนซักล้าง  วิธีแก้ไขคือให้ใช้น้ำยากันลื่นชนิดทากระเบื้องทาทับได้เลยค่ะ  อายุการใช้งานประมาณ 1 ปี  ถ้าจะให้ดีก็ต้องเลือกใช้วัสดุให้ถูกต้องกับลักษณะการใช้งานนะคะ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ
  4. ห้องครัว อุปกรณ์ครัวทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นช้อน ส้อม มีด หรือกาต้มน้ำร้อน ไม้ขีดไฟ ไลท์เตอร์ ให้เก็บอย่างมิดชิด ตรวจสอบเตาแก๊สให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ถ้าจำเป็นไม่ควรให้เด็กเข้าไปในห้องครัวโดยไม่มีผู้ดูแลตามไปด้วย เด็กอายุสามขวบข้างบ้านดิฉันเกือบสร้างวีรกรรมเผาหมู่บ้านด้วยการเข้าไปในครัวแล้วเดินไปเปิดวาล์วของเตาแก๊ส แล้วเอาตุ๊กตาผ้าไปสุมไว้บนเตากะว่าจะเผา เลียนแบบละครในทีวี ในขณะที่ยายอายุเกือบเจ็ดสิบที่เลี้ยงเด็กคนนี้กำลังนั่งหลับสัปหงกอยู่ โชคดีที่เพื่อนบ้านได้กลิ่นแก๊ส จึงช่วยได้ทัน นึกไม่ถึงเลยล่ะค่ะ
  5. ห้องน้ำ พื้นนอกจากจะปูด้วยวัสดุชนิดกันลื่นแล้ว การทำความสะอาดพื้นห้องน้ำก็สำคัญ ควรทำความสะอาดบ่อย ๆ เพราะคราบสบู่หรือแป้งที่เคลือบอยู่บนพื้นทำให้พื้นลื่น เด็กเดินแล้วอาจลื่นล้ม ศีรษะอาจฟาดพื้นเป็นอันตรายได้ คุณพ่อที่โกนหนวดเสร็จแล้วกรุณาเก็บใบมีดโกน แก้วน้ำ หรือภาชนะที่สามารถแตกได้ไว้ในที่ที่เด็กไม่สามารถหยิบถึง
  6. เครื่องทำน้ำอุ่น หลังจากใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแล้ว ควรปรับอุณหภูมิให้กลับมาอยู่ในระดับปกติเพื่อความปลอดภัย
  7. อุปกรณ์ดับเพลิง ควรมีอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ในบ้าน และสอนวิธีใช้ให้ผู้ที่อาศัยในบ้านด้วยจัดบ้านให้ปลอดภัย
  8. ปลั๊กไฟและเต้าเสียบ ปลั๊กไฟเป็นของชอบของหนู ๆ จอมซน เด็กร้อยทั้งร้อยชอบเอานิ้วไปแหย่ ป้องกันได้โดยการหาที่ครอบแบบพลาสติกกันเด็กซนที่มีขายทั่วไปครอบปลั๊กไฟไว้ สายไฟที่ระเกะระกะก็เก็บม้วนไว้ให้เป็นระเบียบ หลีกเลี่ยงการใช้เต้าเสียบแบบหลายช่องเพื่อป้องกันการเกิดประกายไฟที่เต้ารับ ก่อนเสียบเต้าเสียบให้ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ๆ ก่อน
  9. สระน้ำ บ่อเลี้ยงปลา อ่างน้ำหรือถังรองน้ำ ห้ามปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียวตามลำพังเด็ดขาด
  10. ประตู ควรมีอุปกรณ์บังคับบานประตูให้ปิดแบบนุ่มนวล ที่ไม่ทำให้ประตูปิดได้ง่าย เรียก “door closer “   บ้านใดที่มีประตูแบบกระจก ควรใช้กระจกนิรภัยที่ไม่แตกง่าย หรือถ้าแตกก็จะไม่แตกเป็นชิ้นแหลมคม เพื่อนดิฉันมีลูกอยู่ในวัยกำลังซน มีข้อแนะนำสำหรับบ้านที่มีประตูกระจกว่า ให้หาสติ๊กเกอร์สีสันสดใส ลายการ์ตูนน่ารัก มาติดไว้ที่กระจกป้องกันลูกวิ่งชน เป็นไอเดียที่ดี ลองนำไปใช้ได้ค่ะ
  11. บันได หนึ่งในอุบัติเหตุในเด็กที่เกิดขึ้นบ่อยคือ ตกบันได ในกรณีที่บ้านมีสองชั้น บันไดควรมีลูกกรงหรือเหล็กกั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกลงมา ขั้นบันไดควรมีความสูงและความลึกของขั้นบันไดสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการก้าวพลาด ขนาดของขั้นบันไดที่เป็นมาตรฐานคือต้องมีความสูง 9 นิ้ว และกว้างหรือลึก 11 นิ้ว มีความลาดชันไม่เกิน 45 องศา บันใดที่กว้างย่อมดีกว่าบันใดที่แคบ การเดินขึ้นลงจะสะดวก ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ  ไม่ควรวางของเกะกะตามขั้นบันได ความห่างของซี่ราวบันไดต้องห่างไม่เกิน 9 เซนติเมตร
  12. แสงสว่างภายในบ้านและไฟส่องนำทาง การประหยัดไฟนั้นดีค่ะ แต่ไม่ควรประหยัดไฟจนเกินไปนะคะ ในเวลากลางคืน ไฟส่องนำทางไม่ว่าจะเป็นโถงทางเดิน บันได ในห้องน้ำ ควรมีความสว่างเพียงพอ
  13. โคมไฟตกแต่งบ้าน ส่วนใหญ่มักมีในห้องนอน ห้องนั่งเล่น หากใช้หลอดไฟแบบธรรมดาควรตั้งโคมไฟให้ห่างจากวัสดุที่อาจเป็นเชื้อเพลิง ดวงโคมที่ใช้หลอดฟลูออเรสเซนส์ ควรตรวจสอบขารับหลอดและบัลลาสต์ เพราะอาจเกิดความร้อนจนทำให้เกิดไฟไหม้ได้ คุณแม่บางท่านชอบสร้างบรรยากาศการนอนของลูกโดยการเปิดโคมไฟ แล้วนำผ้าลายการ์ตูนน่ารักไปคลุมโคมไฟไว้ เผลอลืม ความร้อนจากหลอดไฟอาจทำให้ผ้าไหม้ได้
  14. ของเล่นและของตกแต่งกระจุกกระจิก   ของเล่นของลูกที่แตกหัก ชำรุดกรุณาตัดใจทิ้งไปเสียนะคะ ไม่คุ้มเลยถ้าลูกเกิดหยิบชิ้นส่วนเข้าปาก ของเล่นควรเก็บให้เป็นระเบียบ หากล่องพลาสติกใสสันสดใสมาใส่ดีกว่าค่ะ เมื่อเล่นเสร็จแล้วควรเก็บลงกล่องให้เรียบร้อย ป้องกันการเดินเหยียบ ลื่นล้ม สำหรับของตกแต่งกระจุกกระจิกที่ตั้งโชว์ไว้ตามชั้นของตู้โชว์หรือตามชั้นวางของ ระวังหน่อยนะคะ เพราะมีหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บจากของเหล่านี้ สาเหตุก็มาจากของส่วนใหญ่นั้นทำมาจากเซรามิคหรือแก้ว พอตกลงพื้นก็แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยพอที่จะบาดมือหรือบาดเท้าได้ เคยมีรายงานในต่างประเทศว่าเคยมีเด็กชายคนหนึ่งเสียชีวิตเนื่องจากโดนรูปปั้นซีเมนต์ตกใส่ศีรษะ ดังนั้นวิธีการจัดเก็บของเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ควรจัดเก็บไว้ให้พ้นมือเด็ก เช่นเก็บในตู้โชว์ที่มีบานปิดแน่นหนา
  15. สารพิษในบ้าน เคมีภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้านทุกชนิดมักออกแบบให้มีสีสวยงาม บรรจุหีบห่อดึงดูดใจทำให้เด็กเข้าใจผิดคิดว่าเป็นขนม ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ ยาฉีดยุง ให้จัดเก็บให้พ้นมือเด็ก ไม่ให้เด็กหยิบถึงหรือเก็บในตู้ล็อคกุญแจให้แน่นหนา
  16. ถ้าหากบ้านคุณมีอาวุธปืน ควรอย่างยิ่งที่จะเก็บไว้ที่ที่ปลอดภัย อย่าให้เด็กรู้หรือทราบที่เก็บซ่อนอย่างเด็ดขาด และไม่ควรบรรจุกระสุนปืนไว้ในกระบอก
  17. เตียงหรือเปล ก็สามารถทำให้เด็กเกิดอันตรายได้หากกลิ้งตกลงมา สำหรับเด็กอ่อนที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้นั้นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เปลหรือเตียงต้องมีเหล็กกั้น ความถี่ของเหล็กกั้นควรเล็กว่าศีรษะของเด็ก หรือหากนอนบนที่นอนรวมกับคุณพ่อคุณแม่โดยให้คุณลูกนอนตรงกลางซึ่งเป็นที่นิยมกันมากเพื่อความสะดวกในการดูแลลูกยามที่ลูกตื่นกลางดึก แต่นั่นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการที่คุณพ่อหรือคุณแม่จะเผลอนอนทับลูกน้อยขณะที่กำลังหลับสนิท เคยมีข่าวว่าแม่นอนทับลูกจนลูกขาดอากาศหายใจเสียชีวิต วิธีป้องกันคือ แยกลูกน้อยให้นอนในเตียงเด็กใกล้กับคุณแม่ดีกว่าค่ะ ปลอดภัยกว่าจัดบ้านให้ปลอดภัย
  18. สัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก เดี๋ยวนี้คนนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้ในบ้าน ที่ฮิต ๆ กันก็เห็นจะเป็นน้องหมา น้องแมว สังเกตได้จากการที่มีร้านขายอาหารสัตว์ คลินิกรักษาสัตว์เกิดขึ้นมากมาย บางท่านเลี้ยงกันไว้ในบ้าน กินนอนด้วยกันเหมือนเป็นสมาชิกตัวหนึ่ง เอาไว้ให้เป็นเพื่อนเล่นกับลูก แต่อย่าลืมนะคะว่าขน เขี้ยว เล็บ หรือน้ำลายของมันอาจทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว ทางที่ดีเลี้ยงไว้นอกบ้านดีกว่าค่ะ สร้างบ้านเล็ก ๆ หรือจำกัดบริเวณให้มันอยู่ ดูแลเรื่องความสะอาดและการนำไปฉีดวัคซีนต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของลูก
  19. ระเบียงชั้นบนของบ้านหรือคอนโด ควรมีความสูง 1 เมตรขึ้นไปป้องกันเด็กปีน ลูกกรงราวระเบียงต้องห่างไม่เกิน 9 เซนติเมตรป้องกันเด็กลอดแล้วศีรษะติด ไม่ควรวางกระถางต้นไม้บนขอบระเบียง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุกระถางหล่นโดนเด็กได้
  20. ประตูรั้ว เป็นด่านแรกที่จะนำพาเราเข้าบ้าน ต้องเปิดเข้าออกทุกวัน ดังนั้นประตูรั้วจึงต้องมั่นคง แข็งแรง เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่าประตูรั้วเหล็กล้มทับเด็กอายุ 5 ขวบได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้ง ๆ ที่คุณแม่ของเด็กเพิ่งซื้อบ้านหลังนี้ได้ประมาณ 4 เดือนเท่านั้น สาเหตุเกิดจากเหล็กที่ประตูกับปูนเกิดหลุดออกจากกัน อันเนื่องมาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน บ้านใดที่มีประตูรั้วขนาดใหญ่ต้องหมั่นตรวจสอบว่ามีการชำรุดหรือไม่ ล้อเลื่อนหลุดออกจากรางหรือเปล่า

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ในส่วนของการจัดแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ของใช้ภายในบ้านเราสามารถดูแล ป้องกันได้ อีกประการหนึ่งที่จะสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันอุบัติเหตุให้เด็กได้คือ การสอนให้เด็กรู้จักการใช้อุปกรณ์ของใช้ภายในบ้านอย่างถูกวิธี เช่น สอนให้รู้จักการปิดเปิดประตู การขึ้นลงบันได การหยิบของร้อน เป็นต้น หวังว่าทั้งหมดนี้คงเป็นข้อคิดสำหรับคุณผู้อ่านได้นะคะ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.208 August 2018