เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
1519
การเติบโต

ประสบการณ์ในชีวิตของเด็กแต่ละคนมีทั้งที่คล้ายคลึงและแตกต่างกัน ตัวอย่างประสบการณ์ที่เด็กมีโอกาสเจอคล้าย ๆ กัน เช่น การไปโรงเรียนครั้งแรก การมีน้อง การย้ายโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เด็กต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไปได้ สำหรับเด็กบางคนอาจเจอประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป เช่น การเกิดอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บรุนแรง การสูญเสียพ่อแม่หรือคนในครอบครัวที่ผูกพัน ไปจนถึงเรื่องร้ายแรงที่ไม่ควรเกิดขึ้น เช่น ถูกทำร้าย ถูกลักพาตัว อยู่ในภาวะสงคราม เป็นต้น การผ่านประสบการณ์เหล่านี้ต้องใช้การดูแล ฟื้นฟูด้านจิตใจมากกว่าเหตุการณ์โดยทั่วไป เช่นเดียวกับเหตุการณ์เฉพาะอย่างการตกเป็นผู้ประสบภัย

การมีประสบการณ์เฉพาะอย่างการเป็นผู้ประสบภัยเป็นสิ่งที่กระทบต่อการรับรู้ ความรู้สึก และมุมมองต่อตัวเองและโลกที่อยู่รอบตัว สิ่งที่ทุกคนปรารถนาคือการหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่กระทบด้านจิตใจ ที่รบกวนการเติบโตของเด็ก หรือเกิดเป็นบาดแผลทางใจที่กระทบต่อเด็กไปตลอดชีวิต แต่หากเกิดขึ้นแล้วการช่วยเหลือฟื้นฟูให้เด็กสามารถเรียนรู้ เติบโตอย่างแข็งแกร่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญ หมายความว่าเราไม่อยากให้เด็กต้องเจอวิกฤต แต่ถ้าเกิดแล้วต้องใช้วิกฤตในการสร้างพลังด้านบวกให้จิตใจมีความแข็งแกร่ง

โดยพื้นฐานของมนุษย์เมื่อเผชิญกับความยากลำบากจะพยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ทุกคนต้องเชื่อมั่นว่าเด็กที่ประสบภัยจะปรับตัวได้ กลับสู่การใช้ชีวิตตามปกติ ตามวัย ตามสภาพความเป็นอยู่
โดยเฉพาะในครอบครัวของเด็กเอง สิ่งที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุดคือ การฟื้นคืนการใช้ชีวิตแบบปกติให้กับเด็ก โดยหลักการทั่วไป ดูให้เด็กปลอดภัยด้านร่างกาย ได้อาหาร ได้น้ำ ได้ผ่อนคลาย และได้อยู่ร่วมกับครอบครัว ทำกิจวัตรประจำวันอย่างที่เคยทำ หากเด็กที่ประสบภัยมีครอบครัว ครอบครัวจะช่วยเรื่องการฟื้นฟูด้านจิตใจเด็กได้ดีที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงผู้สนับสนุนเด็ก สนับสนุนครอบครัวให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน คนอื่น ๆ เป็นเพียงผู้ส่งกำลังใจ ไม่ควรเข้ามาแทรกแซงพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ความเป็นครอบครัว และการใช้ชีวิตปกติของเด็ก

เด็กที่ผ่านการเป็นผู้ประสบภัยสามารถเติบโตแข็งแกร่งในด้านใดได้บ้าง ด้านแรกเป็นเรื่องมุมมองต่อชีวิต เด็กรับรู้ เข้าใจ มองความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ไม่ควรใช้วิธีต่อว่า ตำหนิ เพื่อสอนให้ระมัดระวัง เขาผ่านความเสี่ยงที่เขารู้ว่า
บางครั้งการที่มองอะไรด้านเดียวแบบที่เคยทำ ผลลัพธ์อาจไม่เหมือนเดิม เด็กบางคนอาจเสียใจ โทษตัวเองมาก
เกินไป ซึ่งครอบครัวควรสื่อสาร ให้ความมั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เด็กยังคงต้องรักษาการมองโลกในด้านบวก ไม่ใช่หวาดกลัวจากเหตุการณ์จนไม่กล้าออกไปใช้ชีวิต พ่อแม่สามารถสังเกตท่าทีที่หวาดหวั่น
ไม่กล้า ให้การสนับสนุนโดยเฉพาะทางร่างกาย เช่น การโอบกอด การสนับสนุนให้เขาทำกิจกรรมที่จะช่วยผ่อนคลาย เผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเด็กโตที่สามารถออกไปใช้ชีวิตกับเพื่อนตามลำพัง

การเรียนรู้อาการความรู้สึกที่อาจเกิดจากผลกระทบจากภัยที่ได้รับ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติ ไม่ใช่เพราะเขาอ่อนแอ ระยะแรก ๆ อาจมีอาการหวนคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บางคนฝันร้าย นอนไม่หลับ บางคนตั้งสมาธิไม่ค่อยได้ มีอาการวิตกกังวล หวาดหวั่น เมื่อระยะเวลาผ่านไปอาการเหล่านี้จะลดลงจนหมดไป พ่อแม่ต้องพร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะแรก ๆ คอยสนับสนุนให้เด็กมั่นใจ ไม่หวาดวิตก หรือมองอาการที่เกิดขึ้นเป็นความ
ผิดปกติจนปฏิบัติต่อเด็กอย่างไม่เหมาะสม เช่น ประคบประหงมเหมือนเขาเป็นเด็กเล็กที่ทำอะไรเองไม่ได้ หรือขยายอาการให้กลายเป็นเรื่องที่จะต้องคอยจับจ้องกันตลอดเวลา พยายามสนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ การมีสัมพันธภาพกับพี่น้อง เพื่อนจะช่วยเด็กได้มาก

การเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ เด็กจะรู้สึกได้ถึงความสัมพันธ์ที่เขามีกับคนรอบข้าง ทั้งคนในครอบครัว คนใกล้ชิด รวมไปถึงคนที่เข้ามาช่วยเหลือเขาให้รอดจากภัย ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้เด็กได้เห็นความรู้สึกที่ดี การช่วยเหลือ ความใส่ใจ ความคิดคำนึงถึงกันในยามที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ซึ่งกับครอบครัวเป็นความผูกพันที่แน่นแฟ้นที่เกิดในภาวะผ่านเหตุการณ์ที่ตึงเครียดมาด้วยกัน และยังได้เห็นความปรารถนาดีของผู้คนที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลเขาด้วยความตั้งใจดี ไม่ได้หวังผลอะไรตอบแทน

การเรียนรู้ทั้งหมดที่กล่าวมาจะสะท้อนกลับมาที่การเรียนรู้จักตัวเองของเด็ก เขาจะเห็นตัวเขาเองในเวลาที่มีวิกฤตเขาเป็นอย่างไร เขารอดผ่านมาได้ เขาจะรู้ว่าตัวเขาเองเป็นคนสำคัญที่ดูแลช่วยเหลือตัวเองในวิกฤตอย่างไร เด็กกลุ่มนี้มักมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เห็นความสามารถตัวเอง และเห็นด้านที่อยากเปลี่ยนแปลง ถ้าคนที่อยู่แวดล้อมเข้าใจ เข้าไปเสริมให้เขาเป็นผู้รอดจากเหตุการณ์ ไม่ใช้เหยื่อที่จะต้องรอความช่วยเหลือไปตลอด เสริมมุมมองด้านบวก เห็นโอกาส และการกลับมาใช้ชีวิตปกติ เติบโตต่อไป โดยมีจิตวิญาณของคนที่มีทั้งความอดทน ความเป็นนักสู้ คนที่พร้อมจะช่วยคนอื่นไม่ให้ต้องเกิดวิฤตหรือผ่านวิกฤตได้ การเป็นผู้ประสบภัยของเด็กจะกลายเป็นประสบการณ์ที่ไม่ทิ้งรอยบาดแผลทางใจ แต่เป็นโอกาสของการเรียนรู้ที่จะเติบโตทั้งทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณภายใน

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.208 August 2018