ถึงแม้ว่าปัญหากระดูกคอเสื่อมจะมีปัจจัยสำคัญมาจาก “อายุ” ที่มากขึ้น แต่พฤติกรรมบางอย่างก็ส่งผลให้เกิดการเสื่อมได้เร็วขึ้น ลักษณะการดำเนินชีวิตแบบใดของคนในยุคสมัยนี้ที่เป็นตัวเร่งให้กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้น หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วเราจะยังแก้ไขทันหรือไม่ อย่างไร
ดังที่ระบุไว้ข้างต้นแล้วว่า ปัจจัยสำคัญของการเกิดกระดูกคอเสื่อมคือเรื่องของอายุ เราจึงมักพบโรคนี้ในกลุ่มคนอายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเมื่อยบริเวณคอ มีอาการปวดร้าวลงแขน รู้สึกชาที่แขน ในรายที่เป็นมาก มีหินปูนกดทับบริเวณเส้นประสาทไขสันหลัง จะมีผลเรื่องการทรงตัว ทำให้บางครั้งผู้ป่วยเดินแล้วรู้สึกมึน ๆ คล้าย ๆ เวียนศีรษะ อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่จะค่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ
พฤติกรรมทำกระดูกคอเสื่อมเร็ว
พฤติกรรมที่ส่งผลให้กระดูกคอเสื่อมเร็วมีด้วยกันหลายอย่าง แต่ที่พบบ่อยในปัจจุบัน และอยากให้ผู้อ่านทุกท่านได้พึงระวัง คือ
- การนั่งทำงานด้วยตำแหน่งท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ๆ เป็นคำถามที่พบบ่อยในกลุ่มคนวัยทำงาน ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยออกมาแล้วว่า การที่เรานั่งก้มหน้า ยื่นคอไปข้างหน้ามาก ๆ จะเกิดแรงกดบริเวณกระดูกคอมากกว่าปกติ 8-10 เท่า เช่นเดียวกับบริเวณหลัง ถ้าเรานั่งตัวตรง หลังพิงพนัก แรงที่กดลงมาบริเวณกระดูกและกล้ามเนื้อก็จะอยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ถ้านั่งหลังค่อม แรงที่กดลงมาก็จะมากกว่าปกติ การที่เรานั่งทำงานวันละ 8 ชั่วโมงจึงยิ่งเกิดการสะสม พูดง่าย ๆ ก็เหมือนกับมีก้อนหินหนัก ๆ มาทับที่ศีรษะเราตลอดเวลา ทำให้กระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้น
- การนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือนาน ๆ เป็นพฤติกรรมเสี่ยงกระดูกคอเสื่อมที่พบบ่อยมากในปัจจุบัน การก้มหน้าเล่นโซเชียลมีเดียผ่านมือถือนาน ๆ จะทำให้กระดูกคอต้องรับแรงกดทับมากขึ้นเช่นเดียวกับการนั่งทำงานด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ
- การขับรถ เพราะแขนของเราจะต้องจับที่พวงมาลัยตลอดเวลา จึงเกิดการเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อคอและกระดูก เพราะฉะนั้นในต่างประเทศจึงมีกฎระบุไว้ว่าในการขับรถข้ามเมือง ผู้ขับขี่จะต้องหยุดพักทุก 2 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายร่างกาย
รักษากระดูกคอเสื่อม
การรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม แพทย์จะรักษาตามอาการเป็นหลัก เนื่องจากถึงแม้จะเอกซเรย์พบว่ามีกระดูกคอเสื่อม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะต้องมีอาการทุกราย หรือต้องรักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดหรือการผ่าตัดทุกรายไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการที่เป็น ต่อไปนี้เป็นแนวทางการรักษาเรียงลำดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก
- กรณีที่เริ่มมีอาการปวดต้นคอหลังจากการทำงาน ผู้เขียนจะแนะนำให้ผู้ป่วยลองปรับท่าทางต่าง ๆ ให้ถูกต้อง โดยจัดตำแหน่งของโต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม รวมทั้งให้มีช่วงพักเบรกบ้างเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- หากวิธีแรกไม่ได้ผลก็จะใช้ “ยา” เป็นตัวช่วยในการรักษา อย่างไรก็ตามควรพึงระลึกไว้เสมอว่า การใช้ยาเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ นั่นคือทำให้หายปวด โดยทั่วไปแพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาบรรเทาอาการปวดประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อหายปวดแล้วจึงแนะนำให้ออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อต้นคอให้แข็งแรงขึ้น จะช่วยให้ทนต่อแรงกดทับได้มากขึ้น
- หากอาการยังไม่ดีขึ้นอีก แพทย์จะรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด ซึ่งนักกายภาพบำบัดก็จะมีวิธีต่าง ๆ ในการรักษา เช่น การอัลตราซาวนด์ การใช้เครื่องดึงกระดูกคอ แต่การรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้ก็จะช่วยให้หายได้ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าเราไม่ปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ยังนั่งทำงานด้วยลักษณะท่าทางที่ผิด อาการก็จะกลับมาอีก
- หลังจากรักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดประมาณ 6-9 เดือนแล้วไม่หาย หรืออาการเป็นถี่ขึ้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเพื่อเอาหินปูนที่กระดูกคอออกแล้วดามเหล็กไว้ อย่างไรก็ตามในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน การรักษาด้วยการผ่าตัดอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควรเนื่องจากเนื้อกระดูกที่พรุนอาจทำให้การดามเหล็กทำได้ไม่ดี แพทย์จึงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับกลาง ๆ ไม่รุนแรงมาก พบว่าการรักษาด้วยการรับประทานยาบรรเทาอาการปวดร่วมกับการทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย จะช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ประมาณ 80% มีอาการดีขึ้น และช่วยชะลอการเสื่อมของกระดูกคอได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าวิธีชะลอการเกิดกระดูกคอเสื่อมนั้นทำได้ง่ายมาก อยู่ที่เราจะเห็นความสำคัญและตระหนักถึงมันหรือไม่ การแก้ไขปัญหาด้วยวิธี “ป้องกันไว้ก่อน” เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งหลายอย่างเราสามารถเริ่มที่ตัวเราเองได้ เช่น การให้เวลากับการออกกำลังกาย แม้จะมีเวลาไม่มาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่เริ่มเลย ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน สร้างสมดุลให้กับตัวเอง แบ่งเวลางานและเวลาพักอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรค และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข อย่าลืมว่าร่างกายของคนเราก็เปรียบได้กับเครื่องยนต์ ถ้าเราใช้อย่างทะนุถนอม มีการดูแลที่เหมาะสม ก็จะใช้ได้อย่างยาวนาน แต่ถ้าใช้อย่างสมบุกสมบันมากเกินไปก็มีแต่จะทำให้เครื่องยนต์พังเร็วขึ้น
Resource: HealthToday Magazine, No.191 March 2017