“คุณหมอครับ…ผมเคยได้ยินแต่โรคหัวใจขาดเลือด แล้วโรคกระดูกสะโพกขาดเลือดนี่มีด้วยเหรอครับ?” คนไข้หน้าตาตื่นเข้ามาถามหมอ
“มีสิครับ เพราะในร่างกายเกือบทุกส่วนของเราต้องมีเส้นเลือดไปเลี้ยงอยู่แล้ว โดยเลือดจะเป็นตัวนำพาออกซิเจนไปให้ร่างกายส่วนนั้นเผาผลาญเป็นพลังงาน…” ยังพูดไม่จบประโยค คนไข้คนนั้นก็ยิ่งคำถามต่อ
“แล้วผมจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ไหมครับ ผมกลัวเดินไม่ได้ ขับรถไม่ได้ ต้องทำอย่างไงบ้างครับคุณหมอ??” คำถามที่คนไข้สงสัยเริ่มพุ่งมาหาหมอราวกับธนู …ใจเย็น ๆ ครับ เดี๋ยวหมอจะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้กันว่าคืออะไร
สะโพกขาดเลือด เป็นโรคหนึ่งที่เจอเยอะในเมืองไทย อย่างในรูปจะเห็นว่าธรรมชาติสร้างกระดูกสะโพกเราออกมาในรูปกลม ๆ เหมือนลูกกลิ้งอยู่ในเบ้าของกระดูกเชิงกราน (เพื่อที่เราจะได้ขยับได้เกือบทุกทิศทาง) แล้วมีเส้นเลือดมาล้อมรอบไว้ อันที่จริงถ้ามองเป็น 3 มิติ ข้างในตัวกระดูกเองก็มีเส้นเลือดมาเลี้ยงด้วยนะครับ กระดูกของเราจึงได้รับออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ มาเลี้ยงตลอดเวลา
คราวนี้ถ้าเกิดการขาดเลือดขึ้นมา หมอเปรียบง่าย ๆ เหมือนต้นไม้ หากไม่ได้รดน้ำก็จะค่อย ๆ กร่อน กรอบแห้ง กระดูกเองก็เช่นเดียวกัน หากขาดเลือดก็จะอ่อนแอลง เวลาเราเดิน วิ่ง ลงน้ำหนัก ข้อสะโพกข้างนั้นก็จะโดนกดไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายจากที่เคยกลมก็จะขรุขระ บี้ แบน ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะเกิดอาการปวดสะโพก ขยับสะโพกข้างนั้นลำบาก เคยมีคนไข้มาบอกหมอว่าจะเจ็บคล้าย ๆ เราเอามือไปถูพื้นคอนกรีตที่ขรุขระนั่นเอง
Q: แล้วต้นเหตุที่ทำให้เป็นจะเหมือนโรคหัวใจขาดเลือดหรือเปล่า เช่น จากคอเลสเตอรอล ความดันฯ เบาหวาน
A: อันที่จริงก็ไม่ใช่ซะทีเดียว สาเหตุส่วนใหญ่ของข้อสะโพกขาดเลือดเกิดจาก อุบัติเหตุ เช่น คนไข้ที่เคยกระดูกสะโพกหลุดหรือหักมาก่อน ส่วนสาเหตุอื่นที่สำคัญก็คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์นั่นเอง เพราะพวกนี้ถ้าดื่มไปมาก ๆ นานวันเข้าจะทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงข้อสะโพกเล็กลง เลยทำให้ออกซิเจนที่มาเลี้ยงลดลง นอกจากนี้การที่ต้องรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำก็เป็นสาเหตุหนึ่งได้เช่นกัน หรือที่เจออย่างในพวกนักดำน้ำลึกแล้วจำเป็นต้องขึ้นมาที่ผิวน้ำโดยเร็วหรือที่เรียกว่า โรคน้ำหนีบ (Caisson disease อ่าน เค-ซอง ) ก็อาจจะเป็นโรคนี้ได้ เพราะก๊าซไนโตรเจนไปแทนที่ออกซิเจนมากเกินไป หลัก ๆ สาเหตุก็จะเป็นไปตามนี้ครับ
Q: ถ้าเกิดเป็นขึ้นมาจะทำอย่างไร
A: โดยทั่วไปหมอจะแบ่งความรุนแรงของโรค ถ้าในช่วงแรกที่เป็นไม่มาก ปวดเพียงเล็กน้อย เอกซเรย์แล้วยังพบรอยโรคไม่มาก ก็อาจจะให้ลดการทำกิจกรรมหนัก ๆ อย่างเช่นการเล่นกีฬาหนัก ๆ แต่ถ้าเห็นรอยโรคจากเอกซเรย์แล้วก็อาจจะต้องไปทำการกรอกระดูกเป็นช่องเพื่อให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดมาเลี้ยงขึ้นมาใหม่ ( Core decompression ) หรือบางครั้งก็ทำการนำเส้นเลือดมาต่อแทนบริเวณนั้น แต่ถ้าในรายที่เป็นมากจนหัวกระดูกสะโพกบี้แบนแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม (Total hip replacement ) เพื่อที่คนไข้จะได้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเดิม
จะเห็นได้ว่า โรคแต่ละโรคถ้าเป็นแล้วคงนำพาแต่ความกังวลและลำบากใจมาสู่คนไข้ทั้งนั้น ทางที่ดีเราควรหาทางหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนั้นน่าจะง่ายกว่า ดังที่กล่าว “อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ นั้นจริงนะครับ
Resource: HealthToday Magazine, No.203 March 2018