เสริมเกราะถูกวิธี ผิวดีสู้แดด

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

0
1944
ครีมกันแดด

แม้ว่าตามตำราเรียนแล้วประเทศไทยจะมี 3 ฤดู อันได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว แต่เชื่อว่าหลายท่านคงกำลังเถียงอยู่ในใจว่า “ไม่จริง เมืองไทยเรามีแค่ 2 ฤดูเท่านั้น คือ ฤดูร้อน กับ ฤดูร้อนมากกกกกก” แสงแดดที่แผดเผาโดยเฉพาะในเวลากลางวันช่างแสบผิวเสียจริง พาลให้อารมณ์หงุดหงิดไปเสียนี่ เรามีเคล็ดลับดี ๆ ในการปกป้องผิวจากแสงแดดมาเล่าสู่กันฟัง อีกทั้งยังช่วยชะลอไม่ให้ผิวสวย ๆ ของท่านผู้อ่านถูกทำร้ายและหมองคล้ำก่อนวัยอันควร

ข้อดีของแสงแดด

อันที่จริงแสงแดดไม่ได้มีแต่โทษอย่างเดียว แต่ยังมีประโยชน์ที่สำคัญมาก คือมีส่วนช่วยร่างกายในการสังเคราะห์วิตามินดี 3 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ได้ แต่แสงแดดที่กล่าวมานั้นควรเป็นแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้า และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00 – 16.00 น. ซึ่งมีความเข้มข้นสูง ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง และยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้

นอกจากนี้แสงแดดยังช่วยทำให้นาฬิกาชีวิตของร่างกายดำเนินไปตามปกติ โดยร่างกายจะรับรู้ว่าตอนที่มีแสงแดดเป็นเวลากลางวัน และตอนที่ไม่มีแสงแดดเป็นเวลากลางคืน ซึ่งปัญหานี้จะเกิดขึ้นมากในผู้สูงอายุนอนติดเตียงในห้องที่มีแสงสลัว ๆ ตลอดทั้งวัน ทำให้สับสนเรื่องของเวลาและสถานที่ ดังนั้นแสงแดดจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนทุกวัย

แสงแดด 3 ประเภท

แสงแดดเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถแบ่งประเภทตามความยาวของคลื่นได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ แสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet; UV) แสงที่ตามองเห็น (Visible light) และแสงอินฟราเรด (Infrared) แต่แสงที่เราให้ความสำคัญในวันนี้คือ “แสงอัลตราไวโอเลต” ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ

  • UVA อยู่ในช่วงความยาวคลื่น 320-400 นาโนเมตร
  • UVB มีความยาวคลื่น 290-320 นาโนเมตร
  • UVC มีความยาวคลื่น 200-290 นาโนเมตร

สำหรับแสง UVC นั้นชั้นโอโซนของโลกสามารถกรองแสงเอาไว้ได้ UVC จึงผ่านลงมาที่ผิวโลกได้ค่อนข้างน้อยมาก

แสงส่วนใหญ่ที่เราได้รับเป็นแสง UVA ถึง 95% ซึ่งสามารถทะลุผ่านเมฆและกระจกจนเข้าสู่ผิวหนังชั้นลึกได้ ทำให้เกิดความเสื่อมของผิวหนังและริ้วรอยเหี่ยวย่น พบได้ในทุกช่วงเวลาของแสงแดด ในสมัยก่อนเชื่อกันว่าเฉพาะ UVB เท่านั้นที่สามารถทำลายดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์ผิวหนังได้ แต่ปัจจุบันพบว่า UVA เองก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายดีเอ็นเอได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้มากขึ้น

แสง UVB จะทำลายผิวหนังที่ชั้นตื้นกว่า UVA และไม่สามารถทะลุผ่านกระจกได้ แสง UVB เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผิวหนังแดงและผิวไหม้ (Sunburn) โดยงานวิจัยที่ศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า แสง UVB จะแรงมากที่สุดในช่วง 10.00 – 16.00 น. ของเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม และจะได้รับแสง UVB มากขึ้น หากอยู่ในพื้นที่สูง เช่น ไปท่องเที่ยวปีนภูเขาสูง หรือการที่ได้รับแสงสะท้อนจากหิมะและน้ำแข็ง

ครีมกันแดดปกป้องผิวจากภัยแดด

การป้องกันแสงแดดไม่ให้มาทำร้ายผิวของเรา นอกจากการหลีกเลี่ยงแสงแดดตามช่วงเวลาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในบางกรณีที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงแสงแดดได้ แนะนำให้หาอุปกรณ์ต่าง ๆ มาช่วยปกป้องผิว เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าแขนขายาวและใส่หมวกปีกกว้าง การใช้ร่มกันแสงยูวี การเดินหลบใต้ร่มเงาของแดดแทนการปะทะกับแดดโดยตรง รวมถึงการเลือกใช้และทาครีมกันแดดอย่างถูกต้อง

ครีมกันแดดโดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ครีมกันแดดชนิดเคมี และ ครีมกันแดดชนิดกายภาพ

  • ครีมกันแดดชนิดเคมี (Chemical sunscreen) ประกอบด้วยสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการดูดซับแสงแล้วเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานความร้อน สารเคมีเหล่านี้บางตัวสามารถดูดซับได้แค่ UVA หรือ UVB จึงมักจะมีการผสมเคมีหลาย ๆ ชนิดเข้าด้วยกันเพื่อให้ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB ตัวอย่างสารเคมีที่ใช้ เช่น PABA, Cinnamates, Salicylate, Benzophenones, Octocrylene เป็นต้น ซึ่งการที่มีส่วนผสมของสารเคมีจะทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย
  • ครีมกันแดดชนิดกายภาพ (Physical sunscreen) ประกอบด้วยสารเคมีที่มีคุณสมบัติทึบแสง ทำให้แสงไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังไปได้ จึงป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB รวมถึงแสงที่ตามองเห็น สารดังกล่าว เช่น Titanium dioxide, zinc oxide และเนื่องจากเป็นสารที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ ซึมผ่านผิวหนังได้น้อยมาก ไม่ค่อยก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง จึงสามารถใช้ได้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ครีมกันแดดประเภทนี้เมื่อทาแล้วมักจะทำให้ผิวดูเป็นสีขาว ไม่เป็นธรรมชาติ ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาสารที่มีโมเลกุลเล็กลงและสามารถดูดซับแสงได้คล้าย ๆ กับ chemical sunscreen เมื่อทาแล้วจะดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ความสามารถในการป้องกันแสงที่ตามองเห็นก็จะลดน้อยลงไปด้วย

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ผลิตภัณฑ์แบบไหนมีประสิทธิภาพในการป้องกันแสงยูวีอย่างไร คุ้มค่ากับเงินที่เราเสียไปหรือไม่ วิธีการดูง่าย ๆ โดยเริ่มจาก ค่า PA (Protection Grade of UVA) ใช้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันแสง UVA ค่านี้นิยมใช้กันในแถบเอเชีย เป็นค่าที่กำหนดโดยสมาพันธ์เครื่องสำอางของประเทศญี่ปุ่น โดยแบ่งระดับการป้องกันไม่ให้ผิวดำคล้ำจากแสง UVA ตามเครื่องหมาย + ดังนี้

  • PA + หมายถึง สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 1-4 เท่าของผิวปกติ หรือป้องกันได้น้อย
  • PA ++ หมายถึง สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 4-8 เท่าของผิวปกติ หรือป้องกันได้ปานกลาง เหมาะสำหรับคนที่ทำงานในร่ม
  • PA +++ หมายถึง สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 8-16 เท่าของผิวปกติ หรือป้องกันได้มาก เหมาะสำหรับคนที่ทำงานกลางแดดเป็นส่วนใหญ่
  • PA ++++ หมายถึง สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 16 เท่าขึ้นไป ของผิวปกติ หรือป้องกันได้สูงมาก เหมาะสำหรับคนที่ทำงานกลางแดดตลอดเวลา

ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB จะดูจาก SPF (Sunburn Protection Factor) ซึ่งเป็นค่าที่บอกความสามารถของครีมกันแดดนั้น ๆ ในการป้องกันอาการแดงของผิวหนังจากรังสี UVB โดยแต่ละคนจะมีช่วงระยะเวลาที่ UVB ทำให้ผิวแดงไม่เท่ากัน เช่น ปกติแล้วผิวหนังของคุณ A จะเริ่มแดงเมื่อตากแดดไป 10 นาที เมื่อทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 จะทำให้ยืดระยะเวลาที่ทำให้ผิวหนังแดงนานขึ้นเป็น 10×30 = 300 นาที หรือ 5 ชั่วโมงนั่นเอง แต่ในชีวิตจริงระยะเวลาในการป้องกันของ UVB อาจจะน้อยกว่านี้ เหลือเพียง 2-3 ชั่วโมง เนื่องมาจากเหงื่อที่มาเจือจาง หรือเสื้อผ้าที่อาจจะเปื้อนครีมกันแดด รวมถึงปริมาณครีมกันแดดที่ใช้ ซึ่งในการศึกษาจะใช้ครีมกันแดด 2 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตร แต่ในชีวิตจริงคนเราอาจจะใช้ได้ไม่ถึงปริมาณดังกล่าว

ค่า SPF ที่สูงมากขึ้นจะช่วยปกป้องผิวหนังจากรังสี UVB ได้มากขึ้น โดย

  • SPF 15 ช่วยป้องกันรังสี UVB ได้ 93% เหมาะสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน
  • SPF 30 ช่วยป้องกันรังสี UVB ได้ 97% เหมาะสำหรับการออกแดด
  • SPF 50 ช่วยป้องกันรังสี UVB ได้ 98%

การใช้ครีมกันแดด SPF 15 ถือว่าเพียงพอสำหรับชีวิตประจำวันทั่วไปที่ไม่ได้สัมผัสแดดมากนักหรือทำงานในที่ร่มเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้ามีการทำงานกลางแจ้งควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ซึ่งค่าในการป้องกันรังสี UVB ของ SPF ที่มากกว่า 30 เช่น SPF 30, 40 และ 50 จะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก สิ่งสำคัญในการทาครีมกันแดดคือ ให้ทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 – 30 นาที ควรทาในปริมาณที่เพียงพอ โดยยึดหลักว่า หากทาใบหน้าและลำคอให้บีบครีมประมาณครั้งละ 1 ข้อนิ้วมือสำหรับการทา 1 ครั้ง ควรทาซ้ำทั้งหมด 2 ครั้ง ดังนั้นจะใช้ครีมทั้งหมดประมาณ 2 ข้อนิ้วมือหรือ 1 ช้อนชาสำหรับใบหน้าและลำคอ หากครีมกันแดดเป็นชนิดน้ำจะใช้ขนาดประมาณเหรียญ 10 บาท นอกจากนี้สามารถใช้หลัก 1 ช้อนชาสำหรับแต่ละตำแหน่ง ได้แก่ ลำตัวด้านหน้า 1 ช้อนชา ลำตัวด้านหลัง 1 ช้อนชา ต้นแขน+แขนหนึ่งข้าง 1 ช้อนชา แต่สำหรับต้นขา+ขาหนึ่งข้างให้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 2 ช้อนชา)

หากยังมีกิจกรรมกลางแดดต่อเนื่องควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมง และถ้าหากเป็นกิจกรรมทางน้ำหรือกิจกรรมกลางแจ้งที่เหงื่อออกมากควรเลือกครีมกันแดดเป็นชนิด water resistant ด้วย บริเวณที่มักจะละเลยในการทาครีมกันแดด ได้แก่ ใบหู หลังคอ หลังมือ และหลังเท้า ถ้าหากมีการใช้ยากันยุง/แมลงควรจะทาครีมกันแดดก่อน แล้วค่อยตามด้วยการทายากันยุง/แมลง สุดท้ายอย่าลืมดูวันหมดอายุของครีมกันแดดก่อนใช้ โดยหลังจากเปิดใช้ครีมกันแดดไปแล้ว 1-2 ปี ประสิทธิภาพในการกันแดดจะลดลง จึงแนะนำให้เปลี่ยนครีมกันแดดอันใหม่

รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าลืมทาครีมกันแดดก่อนออกไปทำงานทุกครั้ง จะได้มีผิวที่สวยสดใส ไม่หมองคล้ำ และยังป้องกันมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วยนะคะ…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ

Q: หากพลาดเกิดผิวหนังไหม้แดดขึ้นมาแล้ว จะทำอย่างไร

A: อาการเริ่มแรกของผิวหนังไหม้แดดคือจะมีผิวหนังแดง ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง อาจเกิดถุงน้ำพองตามมาได้ ให้ปิดด้วยผ้าก็อซสะอาด อย่าเจาะถุงน้ำ เนื่องจากจะยิ่งทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการปวดแสบโดยการรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ อาบน้ำด้วยน้ำที่ค่อนข้างเย็น อาจใช้ครีมบำรุงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว หรือทาเจลว่านหางจระเข้บาง ๆ ในบริเวณที่ไม่ได้เป็นถุงน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดแสบร้อนมาก หรือมีไข้ขึ้นสูง ควรไปพบแพทย์โดยทันทีค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • dst.or.th/files_news/Sunscreen_Usage_2010.pdf
  • dst.or.th/html/index.php?op=article-detail&id=1081&csid=13&cid=23#.WoWO0qhuY2w
  • tci-thaijo.org/index.php/policenurse/article/view/74299/59934
  • cdc.gov/travel/page/sun-exposure
  • www.skincancer.org/prevention/uva-and-uvb

Resource: HealthToday Magazine, No.203 March 2018