ขี้เหล็ก

ศ.ดร.ภก.วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล

0
5581

แกงขี้เหล็ก นอกจากจะมีรสชาติความอร่อยแบบพื้นบ้านแล้ว ยังอุดมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

ยอดอ่อนและใบขี้เหล็ก 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 139 กิโลแคลอรี, คาร์โบไฮเดรต 10.9 กรัม, โปรตีน 7.7 กรัม, ใยอาหาร 11.9 กรัม, แคลเซียม 156 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 190 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 5.8 มิลลิกรัม, เบต้า-แคโรทีน 7.181ไมโครกรัม, วิตามินเอ 1,198 IU, วิตามินบีหนึ่ง 0.04 มิลลิกรัม, วิตามินบีสอง 0.69 มิลลิกรัม, ไนอาซิน 1.3 มิลลิกรัม, วิตามินซี 11 มิลลิกรัม

ในขณะที่ ดอกขี้เหล็ก 100 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี, คาร์โบไฮเดรต 18.7 กรัม, โปรตีน 4.9 กรัม, ใยอาหาร 4.3 กรัม แคลเซียม 13 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.6 มิลลิกรัม, เบตาแคโรทีน 0.2 มิลลิกรัม, วิตามินเอ 8,221 IU, ไทอามิน 0.11 มิลลิกรัม, ไนอาซิน 1.8 มิลลิกรัม และวิตามินซี 484 มิลลิกรัม

ขี้เหล็ก เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 10-15 เมตร ที่ใช้ในยามีเพียงชนิดเดียว ไม่ได้ใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติแต่ใช้ในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ โดยใช้เป็นยากษัยเส้นหรือยาบรรเทาอาการปวดเมื่อย เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาตรงได้แก่แก่นขี้เหล็ก มีดอกขี้เหล็กเป็นตัวยาช่วย นอกจากนี้ดอกหรือแก่นขี้เหล็กยังนำมาใช้เป็นตัวยาช่วยในยาถ่ายหรือยาระบายอีกด้วย และดอก ขี้เหล็กยังเป็นตัวยาช่วยในยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนักเช่นกัน

ประมาณปี พ.ศ.2540 มีการใช้ใบขี้เหล็กอ่อนบดเป็นผงใส่แคปซูล กินเป็นยานอนหลับ พบว่าได้รับความสนใจและใช้กันมากพอสมควร ต่อมาในปี พ.ศ.2542 พบว่าแคปซูลใบขี้เหล็กทำให้เกิดตับอักเสบเนื่องจากพบสารบาราคอลที่มีอยู่ในใบขี้เหล็ก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงประกาศยกเลิกการใช้เป็นยาเดี่ยว อนุญาตให้ใช้เป็นยาตำรับเท่านั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนสงสัยว่าแล้วแกงขี้เหล็กที่เรากินกันจะเป็นพิษต่อตับด้วยหรือไม่ หลังจากทดลองหาปริมาณสารบาราคอลในใบขี้เหล็กที่ต้มน้ำทิ้ง 2 ครั้ง พบว่ามีสารบาราคอลเหลืออยู่เพียง 10% เท่านั้น ดังนั้นในขั้นตอนการทำแกงขี้เหล็กในครัวจริง เพื่อให้ปลอดภัยต้องต้มน้ำทิ้งเสียก่อนจะช่วยลดทั้งความขมและความเฝื่อน ที่สำคัญฤทธิ์และความเป็นพิษของขี้เหล็กก็จะลดลงตามไปด้วยจึงไม่ทำให้เกิดพิษต่อตับแต่ประการใด อีกทั้งเราไม่ได้กินแกงขี้เหล็กติดต่อกันทุกวันเหมือนกับการกินยา นั่นเป็นคำตอบว่า ทำไมคนกินแกงขี้เหล็กแล้วจึงไม่เป็นอะไร และในแง่ของประโยชน์ที่เชื่อกันว่าการกินแกงขี้เหล็กอาจจะช่วยให้นอนหลับสบาย ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ถึงอย่างนั้นแกงขี้เหล็กก็มีคุณค่าทางอาหารมากมายดังที่ได้กล่าวในตอนต้น ที่เห็นได้ชัดคือช่วยให้ขับถ่ายง่ายเพราะมีใยอาหารปริมาณมากนั่นเอง

เห็นคุณประโยชน์ของขี้เหล็กแล้ว จึงอยากชักชวนคนรุ่นใหม่ให้หันกลับมากินแกงเหล็ก แกงแห่งภูมิปัญญา เพิ่มทางเลือกในการบริโภคที่มากขึ้น อร่อยปาก สบายท้อง สุขภาพดี แต่อย่าลืมถามผู้ปรุงก่อนว่า ใบขี้เหล็กที่นำมาปรุงได้ต้มน้ำทิ้งแล้วหรือยัง จะได้กินอร่อย ไม่ต้องคอยกังวลใจเรื่องพิษภัยแอบแฝง

 

Resource : HealthToday Magazine, No.181 May 2016