ทำไมบางครั้งคนเราใช้เงินมากกว่าที่ตั้งใจ เกือบทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ใช้เงินมากกว่าที่ตั้งใจ เช่น ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่แวะเข้าร้านขายของและซื้อของกลับมาบ้านด้วย บางคนอาจเคยเผลอซื้อของลดราคาซ้ำกับของที่เคยมี ถ้าเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นบางครั้ง แต่เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือเกิดขึ้นเป็นประจำ หรือการซื้อแต่ละครั้งเป็นการซื้อสินค้าที่ราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้จนกลายเป็นการใช้จ่ายหรือฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น แล้วทำอย่างไรจะหลุดพ้นจากปัญหาแบบนี้ได้สักที
ถ้าถามคนที่ซื้อของฟุมเฟือยเกินฐานะ อาจได้คำอธิบายว่าเพราะของสวย ดูดี คุ้มค่า สมฐานะ ความสวยและดูดีมักนำพาให้ผู้ครอบครองรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ เป็นของที่ใช้แสดงฐานะได้ในยุคที่ผู้คนมองกันที่รูปลักษณ์ภายนอก ส่วนความคุ้มค่าคงต้องยอมรับเช่นกันว่าของยี่ห้อดังเหล่านี้ผลิตด้วยมาตรฐานที่สูงมาก อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีเงินมากพอที่จะจ่ายก็คงมองความคุ้มค่าที่ต่างจากคนที่ต้องหาทางเลือกอื่นๆ ที่จะได้ใช้ของที่คุ้มค่ากับราคาที่ตนเองสามารถจ่ายได้จริง
ความรู้สึกต้องการซื้อหรือครอบครอง หรือใช้เงินมากกว่าที่จะสามารถหาได้ ทำให้เจ้าตัวมีความตึงเครียดแบบที่เรียกว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง บางคนทำงานหนักมากเพื่อเพิ่มรายได้ให้พอกับความอยากใช้ บางคนอาจต้องหาวิธีหาเงินเพิ่มแบบที่ไม่น่าจะคุ้มค่ากับตัวตนของตนเอง บางคนอาจกลายเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตจนล้มละลาย น่าเสียดายที่เรายอมเสียความสุขในชีวิตเพื่อสิ่งของนอกกาย ที่สำคัญซื้อมากเท่าไหร่ก็ไม่ช่วยให้รู้สึกพอ เพราะความรู้สึกว่าต้องการมีเหมือนคนอื่นทำให้ไม่เคยหยุดการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น และสิ่งของเหล่านี้มักเป็นของเกินจำเป็น มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ไม่นานจะมีแบบใหม่ออกมาตามแนวแฟชั่นใหม่ คนไม่มีกำลังซื้อไม่มีทางที่จะหมุนการใช้เงินได้ทันกับกระแสเหล่านี้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ…ไม่ว่าจะมีอีกมากเท่าไหร่ก็ไม่ช่วยให้รู้สึกพอ
ถ้ามีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ติดหรูกินเหลา ก็มีความสุขเพียงชั่วครู่ แล้วกลับมาเหนื่อยเครียดกับการหาเงินใช้หนี้บัตรเครดิตอีก เป็นวงจรเดี๋ยวสุขเดี๋ยวเครียดไม่จบแบบนี้ เรามาเริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่อความเป็นอิสระและกลับมาเป็นตัวเองที่เชื่อมั่น ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใครอีก ลองเริ่มด้วยการตั้งใจเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการ…
- เริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่าย เรื่องง่ายๆ ที่โปรแกรมสำเร็จรูปช่วยได้ แค่บันทึกตามความเป็นจริง คำนวณคร่าวๆ จะรู้ว่าแต่ละเดือน แต่ละปี เราใช้เงินไปมากขนาดไหน เห็นตัวเลขอาจจะเริ่มอยากวางแผนใหม่ ถ้าลดเงินส่วนนี้ลงได้คงจะสามารถวางแผนการใช้เงินเพื่อลงทุนให้อนาคตได้ดีขึ้น
- จัดระเบียบของใหม่ รื้อ จัดตู้ เอาของที่ซุกอยู่ในที่ต่างๆ ของที่ซื้อมาแต่แทบไม่ได้ใช้ เอามาวางแผนใหม่ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ชอบจริงๆ อะไรเกินจำเป็น บางครั้งซื้อตามกระแส ซื้อเร็ว ด้วยแรงผลักในใจที่อยากครอบครอง อยากมีก่อนคนอื่น ซื้อมาแล้วเริ่มรู้สึกว่าไม่เหมาะกับตนเอง ไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ วางแผนจำหน่าย อย่างน้อยอาจพอได้ทุนคืนมาบ้าง และเรียนรู้สไตล์ของตนเอง จัดของให้เป็นระเบียบ จะได้รู้ความต้องการจริงๆ
- ฝึกตัวเอง เวลาออกนอกบ้าน ไปเดินเล่น แต่กลับเจอของที่ทำให้อยากได้ ลองฝึกตัวเองให้เดิน อย่าหยุดดูนาน เดินให้รอบก่อนจะซื้ออะไร เดินเลยไปก่อนอย่าซื้อทันที หรือถ้าราคาสูงจะไม่ซื้อทันที ต้องกลับมาคิดทบทวนอีกครั้งก่อนเสมอ กลับมาดูของที่มีแล้วที่บ้าน ทำอย่างนี้บ่อยๆ จะลดความอยากซื้อลง
- มีกิจกรรมที่บ้านมากขึ้น ลดการออกนอกบ้าน การทำงานอดิเรกที่บ้าน หรืออยู่กับบ้าน เป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ทำได้ง่ายที่สุด หัดทำแผนการจ่ายและการออกไปซื้อของ เช่น รายการที่จะซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ไปและซื้อตามแผน เสร็จแล้วกลับบ้าน
- เลือกทำกิจกรรมที่ช่วยให้มีประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อลดการออกนอกบ้านแบบไปเดินตามห้าง การทำกิจกรรมใหม่ ช่วยให้พบด้านอื่นที่มีความหมายของตนเอง ไม่ยึดติดแต่การต้องมีของแบรนด์ ความมั่นใจในตัวเอง การเห็นคุณค่าในด้านอื่นๆ ช่วยให้มีความอิ่มใจแบบที่ไม่ต้องการความหรูหรา
- ทำแผนการใช้เงิน ว่าจะใช้เงินซื้ออะไร ปีล่ะเท่าไหร่ กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า รับประทานอาหารนอกบ้านบ่อยแค่ไหน ทำแผนแล้ว ลองใช้ความสามารถที่จะได้ของตามที่วางไว้ และถ้าได้ของดีสมราคา เหมาะกับตัวเอง ใช้งานคุ้มค่าถือว่าประสบความสำเร็จ เรียกว่าเก่งขึ้น มั่นใจตัวเองให้มากขึ้นว่าเราดูดีขึ้นได้ในแบบฉบับของตัวเอง
- ให้รางวัลกับตัวเองได้ เมื่อลดความฟุ่มเฟือยได้สำเร็จ มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น มีเงินไปลงทุนสำหรับอนาคตตามแผน แบ่งเงินที่ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย ให้รางวัลตัวเองไปท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมหาประสบการณ์ใหม่ให้กับตัวเอง
การลดความฟุ่มเฟือยลงได้สำเร็จ นอกจากจะทำให้เราได้พบความสุขจากความพอใจในตัวตนแท้ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยสินค้าราคาแพงมาเติมแต่งแล้ว เงินที่เหลือเก็บยังนำไปสร้างโอกาสในอนาคตให้กับเป้าหมายของชีวิตต่อไปได้อีกด้วย
ภาพประกอบโดย วาดสุข
Resource: HealthToday Magazine, No.181 May 2016