ตับแข็ง เป็นสภาวะของตับที่พบได้บ่อยจากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยและประชาชนควรทราบ คือ ดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ) มากเกินไป, โรคไวรัสตับอักเสบ, โรคไขมันลงตับ, พิษจากยาหรือสารพิษ, ปัญหาระบบ
ภูมิต้านทาน, ปัจจัยทางพันธุกรรม และอื่น ๆ
โรคพิษสุราเรื้อรัง
เกิดจากการดื่มเหล้ามากและนานเกินไป เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของตับแข็ง ประมาณครึ่งหนึ่งของการตายจาก
ตับแข็งเกิดจากแอลกอฮอล์ ความเสียหายของตับจากการดื่มแอลกอฮอล์มีในรูปแบบหรือขั้นตอนจากน้อยไปมาก คือ
- ไขมันพอกตับจากเหล้า (Alcoholic fatty Liver [Steatosis]) คนดื่มมากจะมีไขมันพอกพูนในตับมาก อาจจะไม่มีอาการใด ๆ แต่บางคนตับจะโตขึ้นจนคลำได้ ในระยะนี้ความเสียหายจากตับอาจจะรักษาให้กลับคืนมาได้ถ้าหยุดดื่มเหล้า
- ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (Steatohepatitis) คนที่ยังคงดื่มอยู่เรื่อย ๆ ความเสียหายของตับจะพัฒนาไปเป็นการอักเสบ ซึ่งเป็นความเสียหายระยะกลาง ยังคงสามารถรักษาให้กลับคืนมาได้ถ้าเลิกดื่ม
- ตับแข็ง (Cirrhosis อ่านว่า เซอ-โร-สิส) เกิดจากการดื่มเหล้าไม่หยุด คนดื่มไม่หยุดอาจเกิดตับแข็งได้
10-20% แต่เมื่อถึงระยะนี้ความเสียหายของตับไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้แล้ว แต่สามารถทำให้มันคงตัวได้โดยเลิกดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาด
ถ้าคุณมีสภาวะตับแข็งจากการดื่มคุณต้องเลิกเหล้าเด็ดขาด ซึ่งจะมีผลดีทำให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการจากโรคตับเพิ่มขึ้น
โรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส (Chronic viral hepatitis)
การอักเสบของตับมีอยู่หลายชนิดคือ ชนิดเอ, บี และซี ตับอักเสบชนิดเอเกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดเอซึ่งติดต่อกันทางการกิน ชนิดนี้มักไม่ก่อให้เกิดตับแข็ง ส่วนชนิดบีและซีซึ่งติดต่อกันทางกระแสเลือด (ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน,
เพศสัมพันธ์) ทำให้เกิดการอักเสบ สภาวะตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับได้ คนในเอเชียมีโรคนี้ชุก (ประมาณ 10%) บางคนมีเชื้อในตัวโดยไม่รู้ คนเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสบีมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับแม้ว่าตับยังไม่แข็ง ตับอักเสบชนิดเอและบีมีวัคซีนป้องกันได้ เด็กทารกสมัยใหม่มักจะได้รับวัคซีนนี้ แต่ชนิดซียังไม่มีวัคซีนป้องกัน
โรคไขมันพอกตับ (Nonalcoholic fatty liver disease; NAFLD คือ ไขมันพอกตับชนิดที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์)
ปัจจุบันมีโรคนี้มากขึ้นเนื่องจากเป็นโรคที่มากับความอ้วนซึ่งมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก มักเกิดในคนวัยกลางคนขึ้นไป สัมพันธ์กับเบาหวานชนิดที่ 2 และกลุ่มอาการเมตาบอลิก (Metabolic syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอ้วนพุงโต มีความต้านทานต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง โรคนี้ส่วนมากไม่ค่อยร้ายแรง แต่มีอยู่ราว 20% ที่มีความรุนแรงเรียกว่า Nonalcoholic steatohepatitis (NASH) ซึ่งมีการอักเสบของตับที่อาจจะนำไปสู่สภาวะตับแข็ง ตับล้มเหลว หรือมะเร็งตับ NAFLD มีมากขึ้นเรื่อยตามโรคอ้วน ภาวะนี้มักจะสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการตายมากที่สุดในคนไข้กลุ่มนี้
ตับบาดเจ็บจากยาหรือสารพิษ
ตับบาดเจ็บจากยาพบได้บ่อยพบจากการกินยามากเกินไป ยาที่จ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรหรือสารเสริมอาหารและสมุนไพรสามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อตับได้ทั้งนั้น ควรระวังการใช้สารธรรมชาติหรือสมุนไพรที่อ้างว่าสามารถลดความอ้วนหรือเพิ่มกล้ามเนื้อหรือสมรรถภาพทางเพศ
การกินยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ที่มีขายอยู่ทั่วไป มีหลายยี่ห้อที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อ “พารา” หรือ “พาราเซ็ต” มันยังมีอยู่ในรูปยาผสมกับยาอย่างอื่นอีกมากมายเช่นยาแก้หวัด ยานี้ถ้ากินในขนาดที่แนะนำคือ
วันละไม่เกิน 4 กรัม หรือเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวันก็มักจะปลอดภัย แต่ถ้ากินมากกว่านั้นอาจจะ
เป็นพิษต่อตับโดยเฉพาะถ้ากินร่วมกับสารเคมีที่เป็นพิษอย่างอื่น เช่นแอลกอฮอล์ หรือโดนสารเคมีบางอย่างในอุตสาหกรรม
ปัญหาระบบภูมิต้านทานต่อตัวเอง
บางชนิดทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบตับและระบบท่อน้ำดี โดยเซลล์ของระบบภูมิต้านสร้างสารภูมิต้านทานมาทำอันตรายต่อตับหรือท่อน้ำดีทำให้เกิดการอักเสบ โรคของท่อน้ำดี 2 ชนิดที่เรียกว่า Primary biliary cholangitis และ Primary sclerosing cholangitis สร้างปัญหาทำให้มีการอักเสบอุดตันของท่อน้ำดี น้ำดีคั่ง เกิดอาการดีซ่าน มีผลให้เกิดความเสียหายของท่อน้ำดีลามย้อนกลับไปทางต้นน้ำซึ่งนาน ๆ ไปจะเกิดสภาวะตับแข็ง
ปัจจัยทางพันธุกรรม
โรคทางพันธุกรรมหลายโรคทำให้เกิดความเสียหายของตับ เช่น ภาวะมีธาตุเหล็กมากเกิน (Hematochromatosis) ธาตุทองแดงมากเกิน (Wilson’s disease) โรคขาดสารโปรตีนสำคัญคือ Alpha-1-antitrypsin
สาเหตุอย่างอื่นที่ทำให้เกิดสภาวะตับแข็งมีอีกมาก เช่น การติดเชื้อหลายอย่าง ภาวะที่เรียกว่า Cystic fibrosis, Celiac disease, Sarcoidosis และสาเหตุที่ยังไม่มีใครรู้ก็มี
เมื่อรู้สาเหตุอย่างนี้แล้วไม่อยากเกิดสภาวะตับแข็ง ตับล้มเหลว มะเร็งตับ ก็ควรระวังป้องกันมันไว้
อาการของโรคตับส่วนมากมักจะปรากฏเมื่อโรคเป็นมาก และอาการบางอย่างนั้นไม่จำเพาะเฉพาะโรคตับ บางทีคนไข้ไม่มีอาการใด ๆ พอไปตรวจเช็คร่างกายก็เจอโรคตับก็มี อย่างไรก็ตามอาการโรคตับอาจจะมีได้ดังนี้ อ่อนเพลีย อ่อนแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด คันตามตัว เป็นตะคริว ตับโต ม้ามโต ตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) ปวดท้องเล็กน้อย กดท้องเจ็บเล็กน้อย ท้องโตเนื่องจากมีน้ำเพิ่มขึ้นในท้องหรือท้องมาน (Ascites) ขาบวม (Edema) เส้นเลือดฝอยเป็นโยงไยโผล่ตามหน้าอกและแขน อุจจาระกลายเป็นสีขี้เถ้าหรือสีดำ อาเจียนเป็นเลือด (สีแดง สีแดงดำ สีดำ) ฝ่ามือสีแดง สับสน ง่วง พูดเสียงสั่นรัว กินยาอะไรก็มักมีผลข้างเคียงจากยามากกว่าปกติ (เพราะตับทำลายพิษไม่ได้) |
Resource: HealthToday Magazine, No.205 May 2018