เงาะ ผลไม้รักษาโรค

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
5494

ในตำรายาพื้นบ้านของหลายประเทศกล่าวว่า เนื้อเงาะมีคุณสมบัติเป็นยาห้ามเลือด ช่วยเจริญอาหาร ถ่ายพยาธิ ลดไข้ และฝาดสมานแก้ท้องเสีย มีนักวิทยาศาสตร์สุขภาพหลายคนพบว่า เนื้อเงาะมีสาร Geraniin และ Ellagitannin ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดน้ำหนักและแก้ปัญหาของผู้ป่วยเบาหวาน

เงาะเป็นพืชพื้นถิ่นของมาเลเชีย (ซึ่งขึ้นได้ทุกพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้นของโลก) เงาะที่คนไทยรู้จักดีคือ เงาะโรงเรียน ซึ่งมีข้อมูลในอินเตอร์เน็ตหลายเว็บเล่าประวัติเงาะสายพันธุ์นี้ประมาณว่า ในปี พ.ศ. 2480 มีชายจีนมาลายูชื่อ เคหว่อง มาทำเหมืองดีบุกที่อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยพำนักอาศัยที่บ้านริมทางรถไฟ จนวันหนึ่งเขาได้นั่งกินเงาะที่ได้มาจากปีนังและโยนเมล็ดทิ้งเกลื่อนไว้ตรงที่กิน จากนั้นเมื่อสภาวะสิ่งแวดล้อมต่างๆ เหมาะสม เมล็ดที่แก่พอก็งอกเป็นต้นเงาะ 3 ต้น โดยมีเทวดาดูแลให้โตตามธรรมชาติ

ปกติเงาะจากปีนังนั้นมีผลใหญ่ ทรงรี เปลือกหนา สีแดงเข้ม หวานนิดหน่อย แต่พอย้ายที่ขึ้น เปลี่ยนน้ำ เปลี่ยนอากาศมาอาศัยอยู่ที่บ้านนาสาร รสชาติก็เปลี่ยนไปเป็นอร่อยขึ้นกว่าเดิม แถมมีเนื้อล่อนไม่ติดเมล็ดต่างจากเงาะบางสายพันธุ์ของไทยซึ่งน่าเบื่อที่ต้องเสียเนื้อติดเมล็ดไปบ้าง สำหรับเคหว่องนั้นหลังกิจการเหมืองแร่เจริญลงๆ ก็ได้เลิกกิจการกลับไปกินเงาะปีนังที่บ้านเดิม ส่วนบ้านริมทางรถไฟได้ถูกขายให้ทางราชการซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโรงเรียนนาสารโดยไม่มีการตัดต้นเงาะที่มีอยู่ทิ้ง วันหนึ่งคุณครูประจำโรงเรียนท่านหนึ่งก็ได้พบว่า เงาะของแถมต้นหนึ่งอร่อยผิดเงาะอื่น จึงทำการขยายพันธุ์ให้ชาวนาสารได้รวยกัน โดยเรียกชื่อเงาะสายพันธุ์นั้นว่า “เงาะโรงเรียน”

ผู้เขียนได้กินเงาะโรงเรียนครั้งแรกเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยโดยมีความรู้สึกว่า เงาะชนิดนี้ผลใหญ่ดีคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป จึงมักเรียกเองว่า เงาะมหาวิทยาลัย แต่หลังๆ ได้มีการนำไปปลูกยังที่อื่นซึ่งเป็นการเปลี่ยนดิน เปลี่ยนน้ำ เปลี่ยนอากาศ เนื้อเงาะที่ได้จึงมีรสชาติเปลี่ยนไป แถมผลเงาะที่ได้จากบางสวนก็เล็กลงกลายเป็นเงาะโรงเรียนอนุบาล

เงาะนั้นเป็นผลไม้ที่ราคาค่อนข้างถูก อีกทั้งล้งจีนยังไม่มาตกเขียวเหมือนทุเรียน มังคุด มะม่วง และลำไย เนื้อเงาะนั้นหวานจนถึงหวานแหลมอมเปรี้ยว ยามเงาะออกมามากจนล้นตลาด เงาะก็ถูกนำไปทำเป็นเงาะลอยแก้ว เงาะกระป๋อง แถมยังมีบางคนก็แงะเอาเมล็ดออกแล้วสอดไส้ด้วยสับประรด ซึ่งทำให้ได้ของหวานที่อร่อยยากจะหาผลไม้อื่นเทียบได้ เนื้อเงาะนั้นเมื่อถูกบดแล้วใส่ช่องแช่แข็งก็กลายเป็นไอศกรีมเชอร์เบ็ทที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่มีเวลาว่างสามารถนำเงาะไปทำให้แห้งในตู้อบ (หรือตากแดดกลางฤดูร้อน) เป็นขนมกินเล่นที่ดี แต่ถ้านำเงาะไปเชื่อมแล้วตากแห้ง ผลไม้นี้จะกลับกลายเป็นขนมอันตรายที่ทำให้ผู้กินอ้วนได้ไม่ยาก นอกจากนี้ยังมีผู้แปรรูปเงาะให้กลายเป็นแยม ผสมทำเค้กและขนมอื่นๆ ตลอดจนทำเป็นน้ำส้มสายชูเงาะ

สำหรับเมล็ดซึ่งเป็นขยะนั้นไม่ควรทิ้งเกลื่อน เพราะถ้านำมาทำความสะอาดแล้วสามารถนำไปคั่วกินได้ เมล็ดเงาะนั้นไม่ต่างจากเมล็ดผลไม้อื่นๆ คือ มีสารต้านการออกซิเดชั่นสูง จึงไม่น่าแปลกใจที่มีนักวิทยาศาสตร์มือใหม่นำเมล็ดเงาะมาวิเคราะห์หาสารต้านออกซิเดชั่นต่างๆ เพื่อสร้างผลงานทางวิชาการอย่างสนุกมือ สำหรับสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมล็ดเงาะก็คือ น้ำมันเงาะ ซึ่งเขาว่ากันว่ามีคุณลักษณะแทบไม่ด้อยกว่าน้ำมันโกโก้นักเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของกรดไขมัน ดังนั้นน้ำมันเงาะจึงถูกนำไปแต่งกลิ่นอาหารคาวหวานได้ดี

ข้อดีของเงาะคือ เป็นผลไม้ชุ่มน้ำจึงแก้กระหายได้ดี แต่พันธุ์ที่หวานจัดอาจทำให้คอแห้งไปเลย นักวิจัยออสเตรเลียได้วิเคราะห์เมื่อปี 1986 ว่า เนื้อเงาะออสซี่ 100 กรัม มีน้ำตาลกลูโคส 2.7 กรัม น้ำตาลฟรักโตส 3.0 กรัม และน้ำตาลซูโครส 9.9 กรัม สำหรับแร่ธาตุ(โดยเฉพาะทองแดงและแมงกานีส) และวิตามินต่างๆ นั้นมีสูงไม่เลวนัก โดยเฉพาะวิตามินซีนั้นค่อนข้างสูง เคยมีผู้วิเคราะห์พบว่า เงาะฮาวายวมีวิตามินซีราว 22 ถึง 47 มิลลิกรัมต่อเนื้อ 100 กรัม

ในตำรายาพื้นบ้านของหลายประเทศกล่าวว่า เนื้อเงาะมีคุณสมบัติเป็นยาห้ามเลือด ช่วยเจริญอาหาร ถ่ายพยาธิ ลดไข้ และฝาดสมานแก้ท้องเสีย นักวิทยาศาสตร์สุขภาพหลายคนพบว่า เนื้อเงาะมีสาร geraniin และ ellagitannin ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดน้ำหนักและแก้ปัญหาของผู้ป่วยเบาหวาน โดยน้ำตาลในเลือดได้ในลักษณะเดียวกับยาชื่อ acarbose และมีสารธรรมชาติที่น่าสนใจอีกชนิดคือ อนุพันธุ์ในกลุ่ม hederagenin ที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการสร้างไขมันในสิ่งมีชีวิต

ข่าวดีอีกประการเกี่ยวกับเงาะคือ มีผู้พบว่าเงาะน่าจะมีสารต้านไวรัสชนิดเฮอร์ปีสวิมเพล็กส์ และสารสกัดจากเนื้อเงาะนั้นอาจยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งกระดูกได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ยังรอการวิจัยในระดับลึกต่อไป ท่านผู้อ่านพึงสดับข้อมูลอย่างมีสติ

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 183 July 2016