ปรอทวัดไข้

พญ.ปณิชา ตั้งตรงจิตร แพทย์เวชปฎิบัติทั่วไป

0
20272

ถ้าจะพูดถึงอุปกรณ์วัดอุณภูมิโดยทั่วๆ ไปแล้ว อาจจะเรียกได้ว่ามีประวัติความเป็นมามากกว่าห้าร้อยปี นับตั้งแต่สมัยที่กาลิเลโอประดิษฐ์เครื่องมือชิ้นแรกที่สามารถบอกความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างวัตถุสองชิ้นได้เมื่อราวๆ ห้าร้อยปีก่อน จนผ่านมาในปี   ค.ศ.1612 เริ่มมีการพยายามนำอุปกรณ์วัดอุณหภูมิมาใช้กับการตรวจรักษาโรคเป็นครั้งแรก แต่อุปกรณ์ยุคแรก ๆ นี้ทั้งมีขนาดใหญ่ยักษ์ และยังต้องใช้เวลานานมากกว่าจะบันทึกอุณหภูมิของผู้ป่วยแต่ละคนได้ การใช้งานจึงยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร จนอีกราวๆ 200 ปีหลังจากนั้น ใน ค.ศ.1867 ที่ประเทศอังกฤษ ได้มีการผลิตปรอทวัดไข้ที่มีขนาดเล็กพอที่จะพกพาได้ (แต่เล็กในที่นี้ก็ยังมีความยาวถึง 6 นิ้ว!!) และมีความแม่นยำขึ้น โดยปรอทชนิดนี้ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีกว่าจะแสดงอุณหภูมิกายของผู้ป่วยแต่ละคนออกมาได้

ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ปรอทวัดไข้ได้รับการพัฒนาจนมีขนาดเล็ก พกพาสะดวก ใช้งานง่าย ซ้ำยังมีหลายแบบให้เลือก ทั้งแบบทั่วไปที่เป็นแท่งแก้วบรรจุปรอทภายในสำหรับอมใต้ลิ้นหรือหนีบรักแร้ หรือแบบที่วัดอุณหภูมิโดยการเสียบหู เพื่อวัดอุณหภูมิกายผ่านเยื่อแก้วหู หรือแบบเลเซอร์ที่ใช้งานได้ง่ายและรวดเร็ว มาดูกันว่าเราจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ชิ้นนี้ติดบ้านไว้หรือไม่

ประโยชน์ใช้สอย

อุณหภูมิกายเป็น 1 ใน 4 สัญญาณชีพ (vital sign) ที่มีความสำคัญในการวินิจฉัยโรค อีกทั้งไข้ยังเป็นหนึ่งในอาการที่พบบ่อยมากในผู้ป่วย ดังนั้นถ้าผู้ป่วยสามารถแยกแยะได้เองตั้งแต่ที่บ้านว่าตัวเองมีไข้หรือไม่ และมีตัวเลขอุณหภูมิที่ชัดเจน ก็คงจะเป็นประโยชน์อย่างมาก หลายคนอาจค้านว่าที่โรงพยาบาลก็มีปรอทวัดไข้ แต่มีหลายครั้งที่ผู้ป่วยจะให้ประวัติว่ามีไข้เป็นบางเวลา โดยเฉพาะในเวลากลางคืน การมีปรอทวัดไข้ติดบ้านไว้จะทำให้รู้ได้ว่าเป็นไข้จริงหรือไม่ ยิ่งในเด็กเล็กที่การมีไข้สูงอาจจะนำไปสู่การชักด้วยแล้ว ถ้ามีปรอทวัดไข้ติดบ้านจะช่วยให้ผู้ปกครองทราบถึงอาการไข้ได้อย่างทันท่วงที นำไปสู่การให้การรักษาเบื้องต้นโดยการกินยาและเช็ดตัวลดไข้เพื่อป้องกันการชักก่อนที่จะรีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลแล้วล่ะก็คงจะดีไม่น้อย

การใช้งาน     

ปรอทวัดไข้ใช้ได้หลายวิธี (นี่แค่กรณีปรอทธรรมดานะคะ) ทั้งอมใต้ลิ้น หนีบรักแร้ หรือแม้กระทั่งสอดทางทวารหนัก สำหรับเด็กเล็กหรือทารกคงไม่สามารถอมหรือหนีบปรอทได้อย่างแน่นอน วิธีที่ดีที่สุดจึงหนีไม่พ้นการสอดทางทวารหนัก ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อยแต่อายุยังไม่เกิน 5 ขวบ อาจจะงอแงไม่ยอมอมปรอท วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือการหนีบใต้รักแร้ โดยหนีบไว้ราวๆ 5 นาที ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่สามารถใช้วิธีอมปรอทไว้ใต้ลิ้นได้ โดยควรจะอมไว้ใต้ลิ้นให้ลึกประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร ก่อนใช้ควรจะสะบัดปรอทเบาๆ เพื่อให้ปรอทไหลกลับลงกระเปาะให้หมดก่อน แล้วจึงเริ่มใช้วัดอุณหภูมิ คนปกติจะมีอุณหภูมิกายอยู่ที่ 36 – 37.5 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิกายที่ถือว่าผู้ป่วยมีไข้ คือมากกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานง่ายจนแม้กระทั่งเด็กๆ ก็ยังสามารถใช้ได้เลยค่ะ

ราคา

ปรอทวัดไข้จัดว่าเป็นอุปกรณ์การแพทย์ที่ราคาเป็นมิตรสุดๆ เพราะปรอทธรรมดาๆ ทั่วไปแต่ใช้งานได้จริงนั้นมีราคาไม่ถึง 100บาท คุ้มค่าคุ้มราคาจริงๆ ค่ะ

ความทนทาน

ปรอทแบบแท่งแก้วสุดแสนจะธรรมดาส่วนใหญ่แล้วมีความทนทานมาก ขอแค่ไม่เอาไปขว้างปาหรือกระทบกระแทกแรงๆ หลังใช้ควรสะบัดปรอทให้ไหลกลับลงกระเปาะ ล้างด้วยน้ำสบู่แล้วผึ่งให้แห้ง เพียงเท่านี้ปรอทก็จะใช้งานต่อไปได้นานแสนนานแล้วล่ะค่ะ

สรุปว่าปรอทวัดไข้นับเป็นอุปกรณ์สุขภาพประจำบ้านที่คุณควรจะมีติดบ้านไว้สักอัน สำหรับฉบับหน้า เราจะพาไปดูอุปกรณ์ที่น่าสนใจชิ้นใด ต้องติดตามค่ะ

 

Resource : HealthToday Magazine, No. 177 January 2016