3 วิธีเจาะเลือดตรวจเบาหวาน

ผศ.ดร.รัตนา จารุวรรโณ

0
14924

เบาหวาน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักหรือเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับโรคนี้กันมาบ้างแล้ว ทั้งที่ประสบกับตัวเอง หรือมีคนใกล้ชิดกำลังประสบอยู่  เบาหวานที่พบมากในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในการเผาผลาญเนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินและ/หรือภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงผิดปกติจนถึงขั้นเป็นโรคเบาหวาน

สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ สามารถมารับการตรวจที่โรงพยาบาล คลินิก หรือศูนย์สาธารณสุขที่ใกล้บ้านได้ โดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้

  1. เจาะเลือดหลังอดอาหารแล้ว 8 ชั่วโมง การแปลผล
  • ค่าน้ำตาลที่ได้ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แปลว่า ปกติ
  • ค่าน้ำตาลที่ได้อยู่ในช่วง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แปลว่า ผิดปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคเบาหวานซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องเริ่มออกกำลังกายและจำกัดอาหารอย่างสม่ำเสมอ
  • ค่าน้ำตาลที่ได้ตั้งแต่ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป แปลว่าเ ป็นโรคเบาหวาน วิธีนี้ควรตรวจซ้ำอีกครั้งในวันถัดไปที่สะดวกเพื่อยืนยัน
  1. เจาะเลือดโดยไม่ต้องอดอาหาร สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการอดอาหาร แต่สงสัยว่าเป็นเบาหวานเนื่องจากมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย หิวบ่อย หรือกินจุแต่น้ำหนัดลด ควรรีบมาตรวจคัดกรอง การแปลผล
  • ค่าน้ำตาลที่ได้ต่ำกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แปลว่า ปกติ
  • ค่าน้ำตาลที่ได้อยู่ในช่วง 140-199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แปลว่า ผิดปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคเบาหวานซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องเริ่มออกกำลังกายและจำกัดอาหารอย่างสม่ำเสมอ
  • ค่าน้ำตาลที่ได้ตั้งแต่ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป แปลว่า เป็นโรคเบาหวาน
  1. เจาะเลือดตรวจความทนต่อกลูโคส วิธีนี้มักใช้ตรวจเพื่อยืนยันในรายที่
  • เจาะเลือดหลังอดอาหารแล้ว 8 ชั่วโมงแล้วพบค่าน้ำตาลที่ได้อยู่ในช่วง 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • เจาะเลือดโดยไม่ต้องอดอาหารแล้วพบค่าน้ำตาลที่ได้อยู่ในช่วง 140-199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

วิธีนี้สามารถมารับการตรวจที่โรงพยาบาล โดยการเจาะเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม การแปลผลถ้าพบค่าน้ำตาลที่ได้ตั้งแต่ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไปแปลว่าเป็นโรคเบาหวาน วิธีนี้ควรตรวจซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไปที่สะดวกเพื่อยืนยัน

สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานแล้วอย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเกินไปนะคะ เพราะจริง ๆ แล้วเราสามารถอยู่กับเบาหวานได้อย่างมีความสุขตราบเท่าที่เรารู้และเข้าใจในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือเหมาะสมด้วยการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอค่ะ

Resource: HealthToday Magazine, No.198 October 2017