โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน

ศ.พญ.มนาธิป โอศิริ

0
3043
ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน สาเหตุการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด ปัจจุบันพบว่าโรคสะเก็ดเงินไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาเฉพาะผิวหนังเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ “โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน” ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อาจส่งผลให้ข้อถูกทำลายและกลายเป็นคนทุพพลภาพในที่สุด

โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่เกิดในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะต้องเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินทุกคน จากรายงานในประเทศตะวันตกพบว่า ประมาณร้อยละ 15-30 ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจะมีอาการทางข้อร่วมด้วย ส่วนในเอเชียพบประมาณร้อยละ 10 เป็นอย่างมาก เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินพบในคนตะวันตกมากกว่าในคนเอเชีย จึงทำให้พบผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินได้มากกว่าตามไปด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดรุนแรง มีผื่นบริเวณกว้าง หรือมีผื่นตามร่างกายหลายตำแหน่ง และ
ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่มีกลุ่มอาการทางเมตาบอลิกร่วมด้วย เช่น อ้วน ไขมันในเลือดผิดปกติ ไขมันพอกตับ ฯลฯ มีความเสี่ยงจะเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินได้มากกว่าผู้ป่วยที่มีอาการทางผิวหนังไม่รุนแรง

อาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์

ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ด้วยอาการ ปวดข้อ ข้อบวม ข้ออักเสบ เป็นหลัก ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 70 มีประวัติชัดเจนว่าเป็นโรคสะเก็ดเงินมาก่อนแล้วจึงมีอาการข้ออักเสบตามมา อีกร้อยละ 15-20 มีอาการข้ออักเสบเกิดขึ้นพร้อมกับอาการทางผิวหนังของโรคสะเก็ดเงิน และผู้ป่วยร้อยละ 10 มีอาการข้ออักเสบเกิดขึ้นก่อน แล้วจึงมีอาการของโรคสะเก็ดเงินตามมาภายหลัง

ลักษณะอาการทางข้อของโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับข้อส่วนปลาย และ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับข้อแกนกลางลำตัว ได้แก่ ข้อกระดูกสันหลังและบั้นเอว กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับข้อส่วนปลายมีด้วยกันหลายแบบ ได้แก่ 1) ข้ออักเสบ 2-3 ข้อ อาจเป็นที่ข้อใหญ่หน่อยอย่างข้อเท้า ข้อเข่า, 2) ข้ออักเสบหลายข้อ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า อาการคล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, 3) การอักเสบเฉพาะข้อปลายนิ้วมือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีเล็บผิดปกติ เช่น เล็บเป็นหลุม เล็บหัก เปราะ แผ่นเล็บแยกออกจากเนื้อด้านล่าง เป็นต้น และ
อีกแบบหนึ่งคือ 4) ข้อนิ้วมือนิ้วเท้าผิดรูป บิดเบี้ยว ข้อพิการ แบบที่ 4 นี้พบได้น้อยมาก ส่วนข้อแกนกลางจะมีอาการปวดหลัง หลังตึงขัด เมื่อพักนาน ๆ ปวดบั้นเอว ปวดก้น อาการจัดอยู่ในกลุ่มโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง ซึ่งหากมีการอักเสบนาน ๆ จะทำให้ข้อเกิดการยึดติดเป็นแท่งเดียวกัน โดยลักษณะของการยึดติดอาจไม่ได้เป็นแบบ
แท่งตรง แต่เป็นแท่งโค้งงอ มีความพิการผิดรูปได้

วิธีรักษาโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน

อันดับแรกคือ ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องก่อน เพราะผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่มีอาการปวดข้อไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินเสมอไป อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน อาทิ เป็นโรคข้ออักเสบเกาต์ เป็นต้น  ดังนั้นจึงต้องวินิจฉัยให้ถูกต้องก่อนว่าข้ออักเสบที่เป็นนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ เมื่อทราบชัดแล้วว่าเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ต่อไปจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ การรักษาแบบไม่ใช้ยา และ การรักษาแบบใช้ยา

  • การรักษาแบบไม่ใช้ยา ทำได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ข้ออักเสบ เช่น ไม่ใช้งานข้อมากเกินไป พยายามบริหารจัดการความเครียดให้อยู่ในระดับที่พอดี พักผ่อนให้เพียงพอ เลือกออกกำลังกายที่ไม่ส่งผลกระทบกับข้อ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ที่สำคัญคือ อยากให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าแม้จะได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น แต่ข้อจะสูญเสียสภาพไปแล้วบางส่วน ดังนั้นจึงควรใช้งานข้ออย่างทะนุถนอม การใช้งานข้อมาก
    เกินไปจะกระตุ้นให้ข้อเกิดการอักเสบ เสียรูปหรือผิดรูปเร็วขึ้น
  • การรักษาแบบใช้ยา เริ่มจาก ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(Nonsteroidal anti-inflammatory drugs, NSAIDs) ได้ผลระยะสั้น ส่วนใหญ่มักใช้ในการรักษาระยะเริ่มต้นหรือช่วงที่โรคกำเริบ ในระยะยาวแพทย์จะพิจารณาให้ยา กลุ่มที่ปรับการดำเนินโรคข้อ (Disease modifying anti-rheumatic drugs, DMARDs) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นหลัก แต่ยาบางตัวสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินได้ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นอาจต้องเปลี่ยนมาใช้ยา กลุ่มที่เป็นสารชีวภาพ (Biologic drugs) ซึ่งยาบางตัวในกลุ่มนี้สามารถรักษาได้ทั้งผื่นสะเก็ดเงินและข้ออักเสบสะเก็ดเงิน

สำหรับระยะเวลาการใช้ยาในการรักษา เนื่องจากโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง โรคมีทั้งระยะกำเริบและระยะสงบ การรักษาจึงยึดหลักการเดียวกันกับการรักษาโรคเรื้อรังอื่น ๆ อย่างเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง คือ การควบคุมไม่ให้โรคกำเริบ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เมื่อสามารถควบคุมโรคได้แพทย์จะพิจารณาปรับลดยาให้อยู่ในขนาดที่คิดว่าไม่ทำให้โรคกลับมากำเริบ ที่สำคัญคือผู้ป่วยควรใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ปรับลดหรือหยุดยาเอง เพราะจะทำให้เกิดผลเสีย ตามมาได้

ในการรักษาโรคกระดูกและข้อ แพทย์ไม่ได้รักษาเพียงเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเฉพาะหน้าหรือในระยะสั้นเท่านั้น หากแต่ยังมองไปในระยะยาวอีก 5-10 ปีข้างหน้าด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม ดังนั้นหากผู้ป่วยมีข้อสงสัย กังวลใจ มีอาการข้างเคียงใดในการใช้ยา หรือต้องการใช้อาหารเสริมตัวใด ควรปรึกษาแพทย์ อย่าหยุดยาหรือแอบรับประทานอาหารเสริมโดยไม่บอกแพทย์ เพราะอาจเกิดผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเอง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยบางรายหยุดยาแล้วไปรับประทานอาหารเสริมโดยไม่บอกแพทย์ทั้งที่อาการของข้อกำลังเริ่ม
ดีขึ้น ทำให้อาการกำเริบใหม่อีกครั้ง เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก และอาจก่อให้เกิดปัญหาภายหน้าได้ เช่น เกิดข้อพิการ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนมาเป็นปกติได้อีก อาการมีแต่จะแย่ลงเรื่อย ๆ จนเหลือเพียงการรักษาด้วยการผ่าตัด  หรือบางคนไปรับประทานอาหารเสริมแล้วหยุดยาโดยไม่บอกแพทย์ เมื่อแพทย์พบว่าอาการยังไม่ดีขึ้น จึงปรับยาเพิ่ม สุดท้ายเมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนใจมารับประทานยาตามแพทย์สั่งจึงกลายเป็นว่าได้รับยาเกินขนาด ดังนั้นหาก
มีข้อสงสัยอะไรควรเปิดใจพูดคุยกับแพทย์ หาแนวทางและวางแผนการรักษาร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวผู้ป่วยเอง

 

Resource: HealthToday Magazine, No.206 June 2018