ยังรักกันไหม

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

0
1326
ยังรักกันไหม

เดือนแห่งความรักของทุกปีมักมีทั้งความสุขและความทุกข์ มีความรักก็มีความสุขและความทุกข์ ไม่มีความรักก็มีทั้งสุขและทุกข์เช่นกัน แต่พื้นฐานทุกคนต้องการและอยากได้รับความรักโดยเฉพาะจากคนที่ใกล้ชิด คนที่มีสัมพันธภาพต่อกัน ไม่ว่าด้วยสถานะอะไร จะเป็นครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนบ้านใกล้ แม้กระทั่งคนในบ้านเมืองเดียวกัน และคนบ้านเมืองอื่น อาจจะโลกสวยไปบ้างที่จะพูดว่าอยากเห็นคนในโลกนี้รักกัน แต่ทุกครั้งที่เห็นความขัดแย้งระหว่างประเทศก็ส่งผลต่อความรู้สึกได้ไม่น้อย

เรื่องของความรักอาจมองเห็นเฉพาะความรักแบบโรแมนติกหรือความรักระหว่างเพศ อันที่จริงความรักที่มีต่อกันนอกเหนือจากความรักแบบโรแมนติกมีอยู่มากกว่า เป็นส่วนพื้นฐานทางสังคมที่ทำให้เกิดการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างยอมรับ อดทนต่อความแตกต่าง และให้อภัยกับความผิดพลาดได้ แต่ในปัจจุบันความไม่รักกันปรากฏให้เห็นมากขึ้นในสังคม นำไปสู่ความรุนแรงต่อกัน ความรุนแรงทางกายภาพอาจเห็นได้เด่นชัด แต่ยังมีความรุนแรงในอีกหลายรูปแบบที่ไม่เด่นชัดจนอาจละเลย ไม่ได้รับความสนใจ ไม่รับรู้ว่ากำลังก่อความรุนแรงที่ฝังรากลึกจนส่งผลต่อระบบหรือสังคม

เรื่องที่เห็นเด่นชัดเรื่องหนึ่งของความรุนแรงคือ การแสดงความเห็นอย่างรุนแรงในสังคมออนไลน์ มีทั้งเรื่องดราม่าที่มีข้อเท็จจริงเล็กน้อย เสริมแต่งด้วยถ้อยคำ สร้างอารมณ์ความรู้สึกจนคนอื่นคล้อยตามเข้ามาร่วมออกความเห็นรุนแรง ด่าทอ เลือกคำที่เหน็บแนม หวังผลให้ตนเองได้เป็นที่รู้จัก ยิ่งถ้าได้รับความนิยมก็อาจถึงขั้นคิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางที่จะกำหนดให้คนที่ถูกหยิบมาพูดถึงเป็นอย่างไรก็ได้ ไม่สนใจผลกระทบต่อตัวบุคคล หรือบางครั้งมีผลต่อองค์กรหรือกลุ่มชุมชนที่ถูกทำให้คนอื่นเชื่อว่ากลุ่มทั้งหมดเป็นแบบนั้นจนเกิดความเกลียดชังขึ้น

คนที่ใช้ความรุนแรงมักอธิบายเข้าข้างตนเอง หรือเรียกขานตนเองว่าเป็นคนกล้า เป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง ซึ่งมิได้หมายความว่าคนที่ไม่ก้าวร้าวไม่มีความกล้าหรือไม่พิทักษ์ความถูกต้อง และบางครั้งคนที่แสดงความรุนแรงก็ไม่ได้พิทักษ์ความถูกต้องอะไรนอกจากตอบสนองตนเองเท่านั้น ในสังคมเสมือนจริงที่ทุกคนสามารถสร้างตัวตนขึ้นมาได้ ส่งออกวิธีคิดของตัวเองแบบเอาสนุก เอาความสะใจ คนอื่น ๆ ก็ต้องการแค่ได้ร่วมรู้สึกสะใจ เป็นสังคมที่ต้องการความฉลาดเท่าทัน สามารถแยกแยะสิ่งที่ควรขับเคลื่อน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง การรับรู้ ยอมรับเอาใจใส่ความรู้สึกกับการก้าวร้าวรุนแรงที่ส่งผลกระทบยั่วยุจนเกิดความเกลียดชังขึ้น

การแสดงออกในเรื่องที่เห็นต่าง เรื่องที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้างพื้นฐานจากในชีวิตประจำวันจากวัยเด็กจนใช้ในพื้นที่ออนไลน์ในวัยที่เติบโตได้ จะเป็นพื้นฐานการวางคนในสังคมที่สื่อเปิดกว้าง รวดเร็ว ทันใจ และส่งผลวงกว้างในชั่วข้ามคืน เป็นอีกหนึ่งทักษะในการเท่าทันสื่อ ไม่เป็นทั้งผู้ส่งออก ยั่วยุความรุนแรง และไม่เป็นผู้ตามกระแสร่วมใช้ความรุนแรงไปด้วย

การใช้เวลาร่วมกันทั้งเวลาครอบครัวและเวลาใช้สื่อยังเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้ครอบครัวและเด็กเรียนรู้เรื่องความรัก ความเข้าใจ และอารมณ์ความรู้สึกที่สื่อทุกชนิดสามารถเร้าอารมณ์ได้ เวลาที่ได้ผสมโรงก้าวร้าวคนอื่นอาจได้ความรู้สึกปลดปล่อยอารมณ์ที่ติดเป็นนิสัยได้ แต่ถ้าได้หยุดคิดหยุดคุยกันในวงครอบครัวที่ชวนให้มองอีกด้านว่าคนส่งข้อความต้องการอะไร ตัวเราอยากเห็นอะไร อะไรคือเป้าหมายที่อยากแสดงความเห็น ถ้าอยากแสดงความเห็นในเรื่องนั้นมีทางเลือกไหม คนอื่นใช้ภาษายั่วยุกัน แต่เรายังเลือกที่จะเปิดใจพูดคุยมากกว่าก้าวร้าว เพราะเป้าหมายอะไร และการด่าทอคนอื่นหรือใช้ภาษาส่อเสียด เหยียดหยาม สำหรับครอบครัวเราเราคิดอย่างไร การใช้เวลาคุยกัน และยอมรับเรื่องการใช้สื่อของเด็กจะเป็นส่วนที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะกำหนดรูปแบบและวิธีการที่จะตอบสนองสื่อที่อยู่ในมือ

เรื่องครอบครัวจะดูแลเด็กที่เกิดมาเจอกับความรุนแรงหรือความแตกแยกไม่รักกันได้ไหม คงยากพอ ๆ กับการที่จะคุยกับคนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว ใช้งานออนไลน์อย่างเชี่ยวชาญ ใช้เป็นช่องทางสื่อสารมุมองของตนเองในแบบเดียวกันกับที่สมัยก่อนในสื่อหลักบอกว่า ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียเงิน ตอนนี้ทุกคนเรียนรู้เป็นผู้สร้างข่าวร้ายที่ทำให้ตนเองมีเรตติ้งดี แต่สังคมต้องยืนหยัด กลั่นกรองการใช้งานออนไลน์อย่างมีสติ ความสะใจของเราวันนี้อาจไปทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นจนเขาไม่มีที่ยืนในสังคม วันหนึ่งอาจเกิดเรื่องแบบเดียวกันกับตัวเรา กับคนที่เรารัก เราคงอยากให้คนอื่นหยุดการใช้คำพูดรุนแรง ให้โอกาสกับคนที่ถูกด่าว่าอย่างรุนแรงมาหาทางเปลี่ยนแปลงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

การอยู่ร่วมกันในสังคมนอกบ้าน ในที่ทำงาน หรือที่โรงเรียน เราไม่รู้จักทุกคนที่อยู่แวดล้อมทั้งหมด แต่หากเขาเกิดปัญหาขึ้น และคนหลายคนรุมใช้คำพูดที่ทำให้เขาดูแย่ เราจะร่วมเป็นหนึ่งคนที่ทำแบบเดียวกัน หรือจะทำความเข้าใจการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ในการศึกษาพบว่าการสอนเด็กในเรื่องสัมพันธภาพกับผู้อื่น ความสามารถในการยืนหยัดในตนเองโดยไม่จำเป็นต้องรุนแรงกับคนอื่น เป็นทักษะทางสังคมที่สำคัญมากขึ้น และจะเป็นหนทางที่ทำให้เด็กเติบโตอยู่ในสังคม มีมุมมองด้านบวก ไม่เกลียดชัง เรียนรู้จักความรักทางสังคมที่จะไม่ทำร้ายคนอื่น บางทีในอนาคตคำพูดที่แสดงความเกลียดชังรุนแรงคงลดน้อยจนหายไปได้จริง

 

ภาพประกอบโดย วาดสุข

Resource: HealthToday Magazine, No.202 February 2018