นิ้วล็อก เป็นภาวะที่เยื่อหุ้มเอ็นหรือเอ็นนิ้วมือเกิดการอักเสบ บวม และหนาตัวขึ้น ทำให้เหยียดหรือขยับนิ้วได้ยาก
เอ็นเป็นส่วนเชื่อมกล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างและกระดูกนิ้วมือ ทำให้นิ้วมือเคลื่อนไหวได้ โดยมีปลอกหุ้มเอ็นรัดเอ็นไว้กับกระดูกนิ้วมือ เอ็นแต่ละเส้นจะถูกหุ้มด้วยเยื่อหุ้มเอ็นเพื่อให้เอ็นมีน้ำหล่อเลี้ยงและเคลื่อนไหวได้ราบรื่น
การทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานมือมาก ๆ และซ้ำ ๆ เช่น งานบ้าน งานช่าง จะทำให้เอ็นถูกเสียดสี และเกิดการอักเสบได้ ส่งผลให้เยื่อหุ้มเอ็นอักเสบไปด้วย นอกจากนี้เอ็นและปลอกหุ้มเอ็นก็จะหนาตัวขึ้น ทำให้เอ็นเคลื่อนไว้ได้ไม่ดี เวลาเหยียดนิ้วจึงมีอาการติดขัดหรือล็อค
อาการ
อาการแรกที่มักจะเกิดขึ้นคือ ‘ปวดนิ้วมือ’ โดยเฉพาะบริเวณโคนนิ้ว อาจพบ ‘นิ้วบวม’ ร่วมด้วยได้ หากเอ็นนิ้วมือบวมมากขึ้น “การงอและเหยียดนิ้วจะเริ่มสะดุด” เมื่อพยายามเหยียดนิ้วออก นิ้วจะเด้งออกเหมือนหลุดออกจากปลอดหุ้ม ซึ่งจะทำให้เอ็นถูกเสียดสีมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นอาจเกิดการหนาตัวของเอ็นและปลอกหุ้มเอ็น ทำให้ “การงอและเหยียดนิ้วเริ่มติดจนต้องใช้มืออีกข้างมาช่วยขยับ” จึงเคลื่อนไหวได้
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
หากเอ็นนิ้วมืออักเสบและบวมมาก แพทย์อาจให้ “ยาลดการอักเสบ” ไปรับรับประทานเพื่อลดอาการ “การทำกายภาพบำบัด” เช่น การกดนวด การยืดนิ้วมือ การทำอัลตราซาวนด์ การจุ่มพาราฟินร้อน และการบริหารนิ้วมือในท่านต่าง ๆ สามารถลดอาการปวดบวม และช่วยให้นิ้วมือกลับมาขยับหรือเหยียดได้ดีขึ้น ในบางรายที่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณา “การฉีดยาเฉพาะที่” บริเวณเอ็นที่มีปัญหา
การรักษาแบบผ่าตัด
หากรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดเพื่อเปิดปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมือให้มีพื้นที่กว้างขึ้น ช่วยให้เอ็นนิ้วมือที่บวมเคลื่อนไหวได้ ทำให้นิ้วมือกลับมาขยับได้เป็นปกติโดยไม่ติดขัด เป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้การฉีดยาชาเฉพาะที่ และใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 20 นาที
วัตถุประสงค์ในการรักษาภาวะนิ้วล็อคคือ ลดปวดและลดการอักเสบ เพื่อให้นิ้วมือกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ เมื่อเอ็นนิ้วมือไม่มีการอักเสบแล้ว การบริหารนิ้วมือจะช่วยส่งเสริมให้การเคลื่อนไหวกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น เช่น การยืดนิ้วมือ การบีบลูกบอลนิ่ม นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนลักษณะการใช้งานมือเพื่อลดการเสียดสีของนิ้วมือให้มากที่สุดเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ เช่น ไม่หิ้วของหนัก เป็นต้น
Resource : HealthToday Magazine, No.200 December 2017