แตงโม ผลไม้รักษาโรค

รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ

0
7051

แตงโมเป็นผลไม้ที่ผู้ใดได้กินแล้วมักชื่นใจ แต่ผู้เขียนไม่นิยมซื้อแตงโมกินเป็นชิ้นจากรถเข็น เพราะไม่มั่นใจในความสะอาด จึงมักซื้อกินทั้งผลหรืออย่างน้อยครึ่งผลจากห้างสรรพสินค้าที่วางใจได้ในความสะอาดเพื่อนำมาแช่ในตู้เย็นแล้วแบ่งกินกับคนในครอบครัว

ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตกล่าวว่า แตงโมที่หากินได้ในบ้านเรานั้นมักเป็นพันธุ์ธรรมดาซึ่งมีเมล็ดขนาดเล็ก รสหวาน เช่น แตงโมจินตหราซึ่งผลยาวรี เปลือกเขียวเข้มมีลาย แตงโมตอร์ปิโดมีผลยาวรีกว่าพันธุ์จินตหรา ส่วนแตงโมกินรีนั้นมีผลกลม สำหรับแตงโมน้ำผึ้งมีผลกลมและเนื้อสีเหลือง แตงโมไดอานามีเปลือกเหลืองแต่เนื้อสีแดง ส่วนแตงโมจิ๋วนั้นมีผลขนาดเท่ากำปั้นและมีเนื้อสีเหลือง เป็นต้น

แตงโมจัดเป็นพืชผลไม้ตระกูลเดียวกันกับแคนตาลูป ฟักทอง และแตงกวา เนื้อของแตงโมมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักทำให้มีคุณสมบัติเป็นยาเย็น เมื่อกินแล้วจึงคลายร้อน เหมาะกับช่วงเวลาอากาศร้อน (เกือบทั้งปีของไทย) อีกทั้งแตงโมเป็นผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามิน เช่น เบต้าแคโรตีน (ซึ่งถูกร่างกายเราเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ) วิตามินบีต่าง ๆ วิตามินซี กรดโฟลิก และแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และสังกะสี ซึ่งทั้งหมดเป็นสารอาหารจำเป็นต่อคนทั่วไป

จากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรีภาคภาษาไทยทำให้ผู้เขียนทราบว่า คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกแตงโมว่า บักโม ภาคเหนือเรียก บะเต้า ในขณะที่คนจังหวัดตรังเรียกแตงจีน ถิ่นกำเนิดของแตงโมนั้นอยู่ในทะเลทรายคาลาฮารี (ส่วนที่เป็นโอเอซิส) ของทวีปแอฟริกา เป็นพืชที่ต้องการดินร่วนปนทรายที่มีความชุ่มชื้นพอเหมาะและน้ำไม่ขัง สำหรับในประเทศไทยนั้นปลูกแตงโมได้ทุกฤดูและทั่วทุกภูมิภาค ดังนั้นจึงเป็นผลไม้ที่เหมาะกับบางส่วนของประเทศไทยซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นทะเลทรายในอนาคตอันใกล้นี้

ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตกล่าวว่า ชาวอียิปต์เป็นชาติแรกที่ปลูกแตงโมไว้กินเมื่อสี่พันปีมาแล้ว จนเมื่อศตวรรษที่ 7 คนอินเดียจึงได้มีการปลูกแตงโมกินกัน สำหรับชาวจีนเริ่มปลูกแตงโมที่ซินเกียงในศตวรรษที่ 10 สมัยราชวงศ์ถัง และชาวมัวร์ได้นำแตงโมไปสู่ทวีปยุโรป ที่น่าสนใจคือ แตงโมแพร่หลายเข้าสู่ทวีปอเมริกาพร้อมกับชาวแอฟริกันที่ถูกขายเป็นทาสในศตวรรษที่ 15 ส่วนคนไทยนั้นไม่มีข้อมูลระบุว่าได้เริ่มกินแตงโมกันเมื่อใด

ผู้เขียนพบได้ข่าวออนไลน์ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น มติชนออนไลน์ (28 กุมภาพันธ์ 2559) รายงานว่า ชาวนาลับแลปรับตัวสู้แล้งปลูกแตงโมทำเงินดีแทนข้าวนาปรัง โดยลงทุนปลูกแตงโมประมาณ 10,500 บาท/ไร่ ได้ผลผลิต 5,000-6,000 ตัน/ไร่ มีรายได้ 27,500 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินเหลือ 17,000 บาทต่อไร่ ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ไม่เกิน 75 วัน และอีกข่าวหนึ่งคือ สำนักข่าวไทยรายงานออนไลน์เมื่อ 4 มกราคม 2559 ว่า ชาวนานอกเขตชลประทานในตำบลท่าหลวง อำเภอเมืองพิจิตร ได้ปลูกแตงโมระบบน้ำหยดแทนการทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งมีรายได้ดี อ่านข่าวแล้วรู้สึกดีแต่มาฉุกใจว่า ถ้าชาวนาทั้งประเทศหันไปปลูกแตงโมพร้อมกัน ความวิบัติของชาติก็จะมาเยือนเหมือนตอนที่ชาวนาปลูกข้าวพันธุ์อะไรก็สามารถขายได้ในราคาเกวียนละหมื่นหกพันบาท

ในด้านสุขภาพนั้นมีประเด็นหนึ่งซึ่งเคยเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์คือ แตงโมมีกรดอะมิโนชื่อ ซิทรูลิน (Citrulline) ซึ่งกรดอะมิโนนี้ไม่ได้เป็นองค์ประกอบของโปรตีนในร่างกายมนุษย์ มีข้อมูลว่า ซิทรูลินช่วยให้เส้นเลือดขยายได้ จึงเหมาะแก่ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง นอกจากนี้สารซิทรูลินนี้มีศักยภาพเป็นสารต้านออกซิเดชั่นซึ่งน่าจะช่วยลดอัตราการเกิดของอนุมูลอิสระในร่างกายเรา ข้อมูลดังนี้คงเป็นที่ถูกใจของสาว ๆ เพราะเป็นการกินผลไม้ที่สามารถชะลอวัยได้ มีผู้วิเคราะห์พบว่าซิทรูลินนั้นมีที่เปลือกแตงโมมากกว่าส่วนของเนื้อ (ในอัตราส่วน 3 ต่อ 2) และยังพบอีกว่า แตงโมสีแดงมีสารนี้น้อยกว่าแตงโมสีส้มและแตงโมสีเหลือง (ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 ต่อ 4) ดังนั้นการรับประทานแกงส้มเปลือกแตงโมที่มีส่วนเปลือกขาว ๆ บ้างน่าจะเป็นประโยชน์เพราะทำให้ได้สารนี้เพิ่มขึ้นจากการกินแต่เนื้อ

นักวิทยาศาสตร์การกีฬาในเยอรมันได้รายงานว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมซิทรูลินช่วยให้นักกีฬาเล่นกีฬาได้นานขึ้น ซึ่งคงเนื่องจากฤทธิ์ของซิทรูลินในการทำให้เส้นเลือดขยายตัวจึงมีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดี อย่างไรก็ดีในรายงานกล่าวว่า ต้องใช้สารนี้ในปริมาณสูงถึง 3 กรัมขึ้นไปจึงได้ผล ดังนั้นถ้านักกีฬาต้องการสารนี้จากแตงโมก็คงต้องกินหลายผลทีเดียวซึ่งคงเป็นไปได้ยาก แต่ที่แน่นอนคือ แตงโมหวาน ๆ เย็น ๆ (และสะอาด) ควรเป็นผลไม้ที่ผู้ฝึกสอนกีฬากำหนดให้นักกีฬาได้กินระหว่างการแข่งขันเพราะน่าจะช่วยให้นักกีฬาชื่นใจหายเหนื่อย

มีนักวิจัยชาวอินเดียซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ Texas A&M’s Fruit and Vegetable Improvement Center กล่าวเป็นเชิงว่า การที่แตงโมมีซิทรูลินนั้นน่าจะทำให้แตงโมมีคุณสมบัติคล้ายไวอากร้า โดยกรดอะมิโนซิทรูลินนั้นจะถูกร่างกายเปลี่ยนไปเป็นกรดอะมิโนชื่อ อาร์จินีน (arginine) พร้อมสารไนตริกออกไซด์ ซึ่งไนตริกออกไซด์นี้คือ สารเคมีสำคัญที่ช่วยให้เส้นเลือดขยายตัว โดยหวังว่าถ้ามีการขยายเส้นเลือดที่อวัยวะเพศชายแล้วจะเป็นคุโณประการแก่ชายผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลาย (แต่ในความเป็นจริงแล้วการขยายตัวนั้นเกิดขึ้นทั้งร่างกาย ไม่จำเพาะเจาะจงเหมือนไวอากร้า)

นายแพทย์ Irwin Goldstein ผู้เป็นบรรณาธิการใหญ่ของวารสาร The Journal of Sexual Medicine ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า ข้อมูลจาก Texas A&M นั้นค่อนข้างชวนหัวไปหน่อย เพราะถ้าจะกินเนื้อแตงโมให้ได้ประโยชน์เทียบกับการกินไวอากร้าแล้ว ก็คงต้องกินแตงโมหลายผลก่อนการปฏิบัติการของชายไม่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตามในทางวิชาการแล้วยังมีข้อมูลประมาณว่า แตงโมนั้นดีต่อระบบภูมิคุ้มกันเนื่องจากมีทั้งวิตามินซีและเบต้าแคโรทีน และยังเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน และโรคอ้วนเพราะมีแคลอรี่ต่ำมาก

ผู้เขียนขอให้ข้อควรคำนึงก่อนผ่าแตงโมกินว่า ต้องล้างเปลือกแตงให้สะอาดเพื่อล้างสารพิษที่อาจตกค้าง (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ให้ได้มากที่สุด เพราะแตงโมนั้นเป็นพืชที่ถูกรบกวนจากแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ เป็นประจำ ชาวไร่แตงบางกลุ่มจึงมักง่ายในการใช้ยาฆ่าแมลงกันแบบพร่ำเพรื่อเพื่อให้ได้ผลที่สวยงามต้องตาผู้บริโภค

 

Resource : HealthToday Magazine, No.188 December 2016