ประคบร้อน หรือ ประคบเย็น

นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์

0
50656
ประคบร้อนและประคบเย็น

ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่เกษียณแล้วอยู่บ้านเลี้ยงหลาน เล่นกับหลานมากไปหน่อยจนเกิดปวดหลังขึ้นมา จะทำอย่างไร จะใช้ประคบร้อน  ประคบเย็น หรือใช้ทั้งประคบร้อนและประคบเย็นร่วมกัน อย่าเพิ่งท้อใจไปถ้าไม่รู้ เพราะมีหลายคนที่ไม่รู้เหมือนกันว่าบาดเจ็บแบบไหนควรใช้ประคบร้อน และแบบไหนควรประคบเย็น

การใช้ความร้อน

เราสามารถใช้ผ้าอุ่น แผ่นความร้อน ขี้ผึ้งหลอมเหลว การอาบน้ำอุ่น หรือการแช่น้ำอุ่น ช่วยลดความเจ็บปวดได้ ความร้อนช่วยขยายหลอดเลือดจึงมีเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่ปวดมากขึ้น ทั้งยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งหรือเป็นตะคริว บางคนรู้สึกว่าการใช้ความร้อนช่วยบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ข้อไม่ได้อักเสบบวมแดง

วิธีใช้ความร้อนรักษา

  • ใช้ความร้อนครั้งละประมาณ 15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
  • อย่าใช้ความร้อนสูงหรือนานเกินไปเพื่อป้องกันการลวก
  • อย่านอนบนแผ่นความร้อน แต่ควรใช้แผ่นความร้อนวางบนบริเวณที่ต้องการ
  • อย่าเผลอหลับขณะใช้แผ่นความร้อน เพราะอาจร้อนมากจนไหม้ได้ โชคดีที่ปัจจุบันมีแผ่นความร้อนที่มีกลไกปิดสวิตช์อัตโนมัติเมื่อครบกำหนดเวลาที่ตั้งไว้วางขายแล้ว

ข้อควรระวัง

ในกรณีที่บาดเจ็บเฉียบพลัน เช่น นักฟุตบอลข้อเท้าแพลง ไม่ควรใช้ความร้อนประคบ เพราะการบาดเจ็บลักษณะนี้ย่อมมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อพังผืดไม่มากก็น้อย ในการนี้จะมีหลอดเลือดบริเวณนั้นฉีดขาด มีเลือดออก การประคบร้อนจะทำให้เลือดออกมากขึ้น ทำให้บวมมากขึ้น การปฐมพยาบาลจึงควรใช้ความเย็น และควรพันผ้ายืดหรือทำการบีบกดจะช่วยให้เลือดออกน้อยลง

การใช้ความเย็น

อาจใช้ในรูปแบบของผ้าเย็น การราดน้ำเย็น แผ่นแช่เย็น หรือใช้ถุงใส่ผักผลไม้แช่เย็นประคบ ความเย็นได้ผลดีในการปฐมพยาบาลการอักเสบจากการบาดเจ็บเฉียบพลัน เช่น ข้อเท้าแพลง กล้ามเนื้อฉีกขาด เพราะความเย็นช่วยให้
หลอดเลือดหดตัว เลือดมาเลี้ยงบริเวณที่บาดเจ็บน้อยลง

นักฟุตบอลเวลาบาดเจ็บที่ต้นขา เข่า หรือข้อเท้า ทีมพยาบาลจะเริ่มต้นด้วยการประคบเย็น พันผ้ายืดกดหลอดเลือด หรือทำให้บริเวณนั้นอยู่นิ่งไม่ขยับเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดออกมากขึ้น บวมมากขึ้น นอกจากจะช่วยลดบวมแล้ว ยังทำให้ปวดน้อยลงอีกด้วย เพราะความรู้สึกเย็นจะเดินทางผ่านเส้นประสาทหลักไปสู่สมอง ในขณะที่ความรู้สึกปวด
เดินทางผ่านเส้นประสาทเล็กไปสู่สมอง ความรู้สึกเย็นจึงกลบความรู้สึกปวด ทำให้ปวดน้อยลง

วิธีใช้ความเย็นรักษา

  • ใช้ความเย็นประมาณ 15-20 นาที วันละ 4-8 ครั้งในช่วง 48 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บหรือจนกว่าอาการบวมจะดีขึ้น
  • ในกรณีที่ใช้น้ำแข็ง อย่าใช้นานเกินไป เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อเสียหายหรือตายจากการขาดเลือด
  • ไม่ควรใช้น้ำแข็งประคบโดยตรง ควรห่อด้วยผ้าขนหนูก่อนประคบ

การใช้ทั้งความร้อนและความเย็น

ในบางสถานการณ์อาจใช้ทั้งวิธีประคบร้อนและประคบเย็นสลับกันจึงจะได้ผลดี เช่น ในกรณีปวดกล้ามเนื้อหลังจากการยกของหนัก ในช่วงแรกควรใช้วิธีประคบเย็น หลังจากนั้น 2-3 วันจึงเปลี่ยนมาประคบร้อนเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

การรักษาอาการปวดหัวก็เป็นอีกตัวย่างหนึ่ง ในช่วงแรกการใช้แผ่นผ้าเย็นจะช่วยลดอาการปวดหัว หลังจากนั้นใช้ความร้อนเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรืออาจใช้ความร้อนความเย็นสลับกัน เช่น ใช้ความร้อนประคบต้นคอและท้ายทอย แล้วใช้ความเย็นประคบหน้าผากสลับกันไป ทำซ้ำตามที่จำเป็น

ข้อห้าม

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคขาขาดเลือด ห้ามใช้ความร้อนหรือความเย็นประคบแก้ปวดขา เนื่องจากความเย็นทำให้ขาขาดเลือดมากขึ้น ส่วนความร้อน ปกติการไหลเวียนของเลือดจะช่วยคลายความร้อนบริเวณนั้น ๆ ลง แต่ในกรณีนี้ความร้อนจะไม่ถูกคลายออก (เหมือนหม้อน้ำรถยนต์เสีย) เกิดเป็นความร้อนสะสมมากผิดปกติ ส่งผลให้เกิดแผลลวกจากความร้อนได้
  • ในกรณีแผลไฟไหม้ความร้อนลวก อย่าใช้น้ำแข็งประคบหรือน้ำเย็นจัดราด เพราะจะทำให้บริเวณที่บาดเจ็บขาดเลือด ขาดออกซิเจน ทำให้เนื้อเนื่อเสียหายหรือตายมากขึ้น ควรใช้น้ำธรรมดาราดเพื่อลดความร้อน

การใชีวิธีประคบร้อนและประคบเย็นในการปฐมพยาบาลเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ผู้ใช้ต้องรู้หลักการ อย่าใช้ผิด ๆ เพราะจะเสียประโยชน์ และเป็นโทษ

 

Health Tips

R.I.C.E หลักปฐมพยาบาลกล้ามเนื้อบาดเจ็บ

หลักการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและข้อมี 4 อย่าง มีคำย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า R.I.C.E. เพื่อให้จำง่าย

· R ย่อมาจาก Rest คือ การพักบริเวณที่บาดเจ็บให้อยู่นิ่ง ๆ ไม่บาดเจ็บเพิ่มขึ้น

· I ย่อมาจาก Ice คือ การใช้ความเย็นประคบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

· C ย่อมาจาก Compress คือ การกดบริเวณที่บาดเจ็บ อาจใช้มือบีบหรือผ้ายืดพันเพื่อให้เลือดออกน้อยลง หรือลดบวม

· E ย่อมาจาก Elevation คือ การยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูงเท่าหรือสูงกว่าระดับหัวใจเล็กน้อย เพื่อช่วยให้เลือดดำไหลกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น เป็นวิธีลดบวมอีกทางหนึ่ง และช่วยลดความเจ็บปวด

 

Resource: HealthToday Magazine, No.201 January 2018