หลายคนอาจจะสงสัยว่า ‘ปัสสาวะเป็นเลือด’ กับ ‘ปัสสาวะมีตะกอนปน’ นั้นฟังดูจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันเท่าไร
แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากโรคเดียวกัน คือ ‘กลุ่มโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ’
ระบบทางเดินปัสสาวะ
ทางเดินปัสสาวะของมนุษย์เราประกอบไปด้วยไต 2 ข้าง ทำหน้าที่กรองเลือดเพื่อคัดแยกเอาของเสียออกมาจากเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย ของเสียที่คัดแยกออกมานั้นจะถูกขับออกมาในรูปแบบของปัสสาวะ ปัสสาวะจะไหลลงมาสู่กระเพาะปัสสาวะทางกรวยไต ผ่านท่อไตทั้ง 2 ข้าง และมาพักอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเพื่อสะสมจนมีปริมาณที่เหมาะสมจึงจะเกิดอาการปวดปัสสาวะและกระตุ้นให้สมองรับทราบว่าต้องไปปัสสาวะได้แล้ว
นิ่วในทางเดินปัสสาวะ
ในปัสสาวะของคนเราประกอบไปด้วยน้ำกว่า 95% เพื่อทำละลายสารของเสียต่าง ๆ ให้ง่ายต่อการขับออก
หากปริมาณน้ำในปัสสาวะลดลง หรือปริมาณของแร่ธาตุที่ละลายอยู่ในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ก็จะเกิดการตกตะกอน กลายเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้
โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะนั้นเล่นงานคนเกือบ 850 ล้านคนทั่วโลกและอาจจะมากกว่านั้น พบว่านิ่วที่เกิดในระบบ
ทางเดินปัสสาวะอาจจะมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเมล็ดงาหรือเมล็ดข้าวไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าเมล็ดข้าวโพดหรือ
ใหญ่กว่านั้น โดยปกติแล้วเราทุกคนอาจจะมีนิ่วเม็ดเล็ก ๆ ซุกซ่อนอยู่ในทางเดินปัสสาวะโดยที่เราไม่รู้สึกตัวเลย
ก็เป็นได้
อาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- ปวดหน่วง ๆ ท้องน้อยหรือสีข้าง
- ปัสสาวะบ่อยและรู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่สุด เกิดจากการที่นิ่วกลิ้งไหลลงมาอุดท่อปัสสาวะเวลาที่ปัสสาวะใกล้จะสุด ทำให้ปัสสาวะต่อไม่ได้ แต่จะเกิดการระคายเคืองเหมือนยังอยากจะปัสสาวะต่อตลอดเวลา
- ปัสสาวะมีลักษณะคล้ายตะกอนปน เนื่องจากนิ่วขนาดเล็กอาจจะหลุดออกมาพร้อมกับปัสสาวะ ทำให้เวลาปัสสาวะเหมือนมีเม็ดทรายหรือก้อนกรวดเล็ก ๆ ไหลออกมาด้วย
- ปัสสาวะมีเลือดปน เนื่องจากตัวนิ่วอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองภายในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ปวดท้องบริเวณสีข้างข้างใดข้างหนึ่งอย่างรุนแรงในกรณีที่นิ่วเกิดหลุดเข้าไปอุดตันที่ท่อไต ทำให้ปัสสาวะไหลลงมาสู่กระเพาะปัสสาวะไม่ได้
สาเหตุการเกิดนิ่ว
มักเกิดจากการตกตะกอนของสารละลายในปัสสาวะ ซึ่งเกิดได้จาก 3 สาเหตุ
- ปัสสาวะเข้มข้นขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำลดลง เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด มักพบในคนที่ดื่มน้ำน้อย ทำงานในที่อากาศร้อน หรือมีการเสียเหงื่อปริมาณมาก ๆ ติดต่อกันนาน ๆ ทำให้น้ำในร่างกายลดลง น้ำที่ถูกขับออกมาจากปัสสาวะก็จะลดลงด้วย ทำให้สารของเสียต่าง ๆ ตกตะกอนอยู่ในทางเดินปัสสาวะ คนที่มีความเสี่ยงในกลุ่มนี้จะสังเกตตัวเองได้ว่าปัสสาวะมีสีเข้มอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากน้ำที่ถูกขับออกมาน้อยเกินกว่าจะละลายทำให้ปัสสาวะใสได้นั่นเอง
- ปัสสาวะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานเกินไป เกิดจากการที่ไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำถึงแม้ว่าจะปวดปัสสาวะแล้ว ปัสสาวะที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนาน ๆ จะเกิดการตกตะกอนกลายเป็นนิ่วได้
- มีความผิดปกติของไต ที่ทำให้ขับสารบางอย่างออกมากับปัสสาวะในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะเกิดจากโรคทางเมตาบอลิก หรือเกิดจากยาบางชนิดก็ได้
วิธีป้องกัน
การป้องกันตัวเองจากการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะต้องแก้ไขที่สาเหตุ คือ การดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะเข้มข้นจนนิ่วตกตะกอน สังเกตได้จากปัสสาวะจะต้องมีสีใส ๆ ไม่เป็นสีเหลืองเข้มหรือสีชา และไม่กลั้นปัสสาวะ
อาหารบางอย่างเชื่อว่าสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดนิ่วที่มากขึ้น เนื่องจากมีสารที่อาจตกตะกอนก่อให้เกิดนิ่ว เช่น พวกโปรตีนจากสัตว์ อาหารรสเค็มจัด อาหารที่มีสารออกซาเลตในปริมาณสูง เช่น ผักใบเขียว กาแฟสำเร็จรูป และช็อกโกเลต ฯลฯ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้โดยสิ้นเชิงได้ การดื่มน้ำเพื่อป้องกันการ
ตกตะกอนของสารเหล่านี้ก็เป็นวิธีป้องกันการเกิดนิ่วที่ดีเพียงพอ
หากว่าคุณผู้อ่านมีอาการที่เข้าได้กับโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะแล้ว การไปพบแพทย์นั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด
เพราะถึงแม้ว่านิ่วขนาดเล็กอาจจะหลุดออกมาได้เอง แต่ก็อาจจะยังมีนิ่วขนาดใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่ รอที่จะแสดงอาการในวันข้างหน้า การรักษานิ่วมีตั้งแต่การรับประทานยาสลายนิ่ว การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงยิงนิ่ว การส่องกล้องเข้าทางท่อปัสสาวะเพื่อขับสลายนิ่วจากภายใน ไปจนถึงการผ่าตัดถ้านิ่วมีขนาดใหญ่มากเกินกว่าที่จะรักษาด้วยวิธีอื่นได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกวิธีการรักษา ขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของนิ่วค่ะ
Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018