เช็คความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำจากการเดินทาง

พญ.พลอย ลักขณะวิสิฏฐ์

0
1305
ลิ่มเลือดอุดตัน

ปัจจุบันนี้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้นเรื่อย ๆ เราสามารถเดินทางรอบโลกโดยใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ซึ่ง
การเดินทางมีให้เลือกหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถยนต์ รถโดยสารประจำทาง หรือแม้กระทั่งรถไฟ
แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ถ้าหากการเดินทางใช้ระยะเวลามากกว่า 4 ชั่วโมง (โดยที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายมากนัก) อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism) ได้

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำคือ การที่มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดดำส่วนลึกของร่างกาย ซึ่งลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นนี้มักจะเริ่มเกิดที่บริเวณขาก่อน (แต่ก็เริ่มเกิดที่บริเวณอื่นได้เช่นกัน) ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน และกดเจ็บที่บริเวณขา ถ้าลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่ขาไหลไปตามกระแสเลือดก็จะเข้าไปอุดที่หลอดเลือดในปอด (ซึ่งหลอดเลือดที่ปอดนี้มีขนาดเล็กกว่าหลอดเลือดที่ขามาก) ทำให้เกิดอาการหายใจเหนื่อย ไอแห้ง ๆ หรือไอเป็นเลือด หมดสติ หากรักษาไม่ทันก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ในปัจจุบันมีนักเดินทางเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิสูงถึงวันละกว่า 100,000 คน ซึ่งในจำนวนคนเหล่านี้
มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้ มีการศึกษาพบว่า ถ้าหากเดินทางโดยใช้ระยะเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง จากจำนวนผู้เดินทางประมาณ 5,000 คน จะพบผู้ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ 1 คน

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

สาเหตุของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำเกิดจากปัจจัยหลัก ๆ 3 ประการด้วยกัน อันดับแรกคือเมื่อมีการเดินทางไกล ไม่ว่าจะนั่งเครื่องบินหรือนั่งรถโดยสารแบบใดก็ตาม หากมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ก็จะทำให้มีการคั่งของหลอดเลือดดำบริเวณขา ปัจจัยที่สองคือ เกิดการทำลายของเยื่อบุหลอดเลือดจากหลายกลไก หนึ่งในนั้นมีการอธิบายว่า การที่เรานั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ขอบของเก้าอี้จะกดกับหลอดเลือดบริเวณใต้เข่า ทำให้เกิดการทำลายผนังของหลอดเลือด ส่วนปัจจัยที่สามคือ ความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำมากขึ้นมีดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงจะมากขึ้นในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี
  • การเคลื่อนไหวร่างกายลดลง
  • ภาวะอ้วน โดยมี BMI (ดัชนีมวลกาย) มากกว่าหรือเท่ากับ 30
  • หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรใหม่ ๆ
  • มีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิด หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่รักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • ผู้ที่มีระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • มีประวัติว่าเคยเป็นลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำมาก่อน หรือมีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง โดยที่ตัวโรคยังไม่สามารถควบคุมได้ดี หรือกำลังอยู่ระหว่างการรักษา
  • ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัด มีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง เช่น ภาวะหัวใจวาย หรือมีภาวะเจ็บป่วยที่ต้องนอนบนเตียงเป็นระยะเวลานาน ๆ

การวินิจฉัยโรคจะอาศัยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และยืนยันการวินิจฉัยด้วยการทำอัลตราซาวน์ (Duplex ultrasonography) เพื่อดูหลอดเลือดดำที่ขา และถ้าหากมีอาการที่ปอดก็ต้องทำซีทีสแกนหลอดเลือดที่ปอด
ร่วมด้วย (Computed tomographic pulmonary angiography)

การรักษาทำได้โดยการให้ยาสลายลิ่มเลือดและติดตามเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ดังนั้นถ้ามีอาการตามที่กล่าวมา
ไม่ควรนิ่งเฉย ควรไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

การป้องกัน ทำได้ไม่ยาก

เมื่อเรารู้แล้วว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร การป้องกันก็สามารถทำได้ไม่ยาก โดยมีเทคนิคในการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันดังนี้

ลิ่มเลือดอุดตัน

  • ทำการบริหารกล้ามเนื้อขา โดยวิธีการง่าย ๆ คือ ให้นั่งวางขาราบกับพื้น แล้วยกส้นเท้าขึ้น โดยปลายเท้าแตะพื้นสลับกับการกระดกปลายเท้าขึ้น โดยที่ส้นเท้าติดที่พื้น (ดูวิธีการทำจากรูปภาพ) ทำสลับกันไป 15-20 ครั้งต่อนาที นานครั้งละประมาณ 5 นาที โดยสามารถทำได้บ่อย ๆ สลับกับการเกร็งและคลายกล้ามเนื้อบริเวณน่อง
  • แนะนำให้เลือกที่นั่งติดทางเดิน เพื่อที่จะสามารถลุกเดินได้บ่อย ๆ โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ที่นั่งติดริมหน้าต่างจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
  • สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ แนะนำให้ใช้ถุงน่องผ้ายืดทางการแพทย์
    ที่มีความดันอยู่ในช่วง 15-30 มิลลิเมตรปรอท (ถุงน่องธรรมดาใช้ไม่ได้นะคะ เนื่องจากคุณสมบัติของความดัน
    ไม่มากพอที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อบีบตัวนำเลือดดำที่ขากลับเข้าสู่ร่างกาย)
  • ในปัจจุบันยังไม่แนะนำให้ใช้ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงและต้องเดินทางเป็นระยะเวลานาน
    หากมีความจำเป็น ต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดเลือดออกได้ง่าย
  • ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้ยานอนหลับ เพราะจะทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายน้อยลง แม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยใดที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันก็ตาม แต่วิธีการดังกล่าวสามารถปฏิบัติได้โดยไม่เป็นอันตราย

แม้ว่าเราจะไม่มีความเสี่ยงที่กล่าวมาในตอนต้นเลย แต่ก็ยังสามารถเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้
เช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรรู้จักวิธีป้องกันภาวะดังกล่าว จะได้ท่องเที่ยวกันอย่างอย่างสนุกและปลอดภัย หรือหากใครมีคำถามหรือประสบการณ์ที่อยากจะแชร์กับเพื่อน ๆ ก็ส่งเข้ามากันได้นะคะ พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ…หมอพลอย

Resource: HealthToday Magazine, No.209 September 2018