ในอวัยวะทั้งหลายของเรา สมองอาจเทียบได้กับ “ศูนย์บัญชาการ” ที่ควบคุมให้ทุกระบบดำเนินอย่างเป็นปกติสุข อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอายุมากขึ้น สมองก็หลีกหนีความเสื่อมไม่พ้นเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ บางท่านอาจจะมีอาการมากจนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน และความจริงที่น่าสะพรึงกลัวประการหนึ่งคืออาการสมองเสื่อมจะค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ เริ่มจากบุคคลมีปัญหาเกี่ยวกับการรู้คิด (cognition) นานหลายปีกว่าจะพัฒนาเป็นอาการสมองเสื่อม ดังนั้นการดูแลสุขภาพสมอง และการรู้ทันอาการจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสังคมยุคปัจจุบันที่ผู้คนมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น HealthToday ได้รับเกียรติจาก อ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ แพทย์ประจำศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาแบ่งปันความรู้และตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการสมองเสื่อม ตลอดจนการปฏิบัติตนเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของสมอง
สมองเสื่อม = อัลไซเมอร์?
จริงๆ แล้วสมองเสื่อมไม่ได้มีเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ อาการนี้อาจจะมีสาเหตุจากโรคอื่นได้อีก เช่น พาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมองตีบ แต่อัลไซเมอร์คือสาเหตุหลักของอาการนี้ ลักษณะอาการสมองเสื่อมจากแต่ละสาเหตุจะไม่เหมือนกัน สำหรับสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ อาการหลักๆ ที่เด่นมากคือ “ลืม” ในที่นี้ไม่ใช่ขี้หลงขี้ลืมแบบที่เป็นนิสัย แต่หมายถึงการที่ผู้ป่วยซึ่งแต่ก่อนเคยดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุข ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เอง แล้วอยู่มาวันหนึ่งความสามารถดังกล่าวถดถอยลงไป เช่น เริ่มจำไม่ได้ว่าเมื่อกี้ตนเองไปที่ไหนมา หรือว่าเมื่อกี้พูดอะไรไป ถ้าอาการหนักก็อาจจะจำเหตุการณ์ในวันก่อนหน้าไม่ได้ จำคู่สมรสหรือคนในครอบครัวตนเองไม่ได้ จนกระทั่งอาจลืมว่าตัวเองเป็นใครในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญประการหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “อายุ” ยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55-60 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยเนื่องจากความผิดปกติเกี่ยวกับพันธุกรรม
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ควรระมัดระวังคือหลายท่านวิตกกังวลมากจนคิดว่าตนเองมีภาวะสมองเสื่อม ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มีภาวะดังกล่าว คนที่กังวลส่วนหนึ่งคือคนที่สมองดี เข้าใจโรค และรู้ข้อมูลมาก ดังนั้นถ้าเกิดข้อสงสัยประการใด ควรรับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีการประเมินระดับการรู้คิดว่าเป็นปกติตามวัย หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือว่ามีอาการแล้ว และให้การรักษา เช่น กิจกรรมที่เหมาะสม พร้อมทั้งติดตามประเมินผลต่อไป
ดูแลสมองด้วยวิธีง่ายๆ
เริ่มจากต้องหาความเสี่ยงก่อน เช่น คนที่มีโรคหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองที่เกี่ยวกับความผิดปกติของหลอดเลือด ก็ต้องดูแลหลอดเลือดให้ดี การดูแลหลอดเลือดให้ดีก็คือการดูแลหัวใจให้ดี อะไรที่ดีต่อหัวใจ ก็ดีต่อสมอง เช่น อาหารที่ดีต่อสุขภาพระบบหลอดเลือดหัวใจอย่างไขมันจากปลาทะเลก็ดีต่อสมองด้วย นอกจากนี้การออกกำลังกายซึ่งดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจก็ยังดีต่อสมอง เพราะกระตุ้นการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งการออกกำลังกายยังเพิ่มการหลั่งสารที่บำรุงสมองอีกด้วย
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ยังมีอีก 2 อย่างคือ อารมณ์และการฝึกให้สมองทำงานอยู่ตลอด งานวิจัยพบว่าอารมณ์ที่ไม่ค่อยมีความสุข ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม ในอีกแง่มุมหนึ่ง มีงานวิจัยที่ติดตามอาการของญาติผู้ป่วยสมองเสื่อม พบว่าแม้จะมีโอกาสที่จะมีอาการของโรคสมองเสื่อมตามความเสี่ยงทางพันธุกรรม แต่ในกลุ่มที่มีการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตลอดเวลา มีความสามารถในการจัดการกับปัญหาชีวิตได้อย่างดี ไม่มีภาวะเครียด ใช้สมองในเรื่องที่ทำแล้วได้ประโยชน์พร้อมทั้งมีความสุข เช่น การทำประโยชน์ให้ส่วมรวม หรือมีจิตสาธารณะ มองโลกในแง่บวก กลับพบว่ามีอาการแสดงของโรคสมองเสื่อมลดลง เรื่องของการฝึกอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอไม่ใช่เรื่องที่เริ่มกันตอนอายุมาก แต่ต้องเริ่มกันตั้งแต่วัยกลางคน หรือยิ่งอายุน้อยยิ่งดี มี
ชีวิตที่มีการใช้สมองอย่างสมดุล คือชีวิตที่ดี เพราะมีการใช้สมองอยู่ตลอด การไม่ใช้สมองเลยเป็นเรื่องที่ไม่ดี ดังจะเห็นได้ว่าพอหลังเกษียณแล้ว ผู้สูงอายุหลายท่านที่เลิกทำงานไปอย่างสิ้นเชิงมักจะ เริ่มประสบปัญหาของการเสื่อมถอยในสมรรถภาพของสมองด้านต่างๆ ดังนั้นการรักษาสมองโดยให้ทำงานเหมือนกับคนรักษาสุขภาพกายโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจจะช่วยชะลอการเกิดอาการได้ เพราะฉะนั้น จึงแนะนำให้ฝึกสมองอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะในสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขด้วย ยิ่งได้ผลดี
สิ่งสำคัญมากในการฝึกคือความพึงพอใจในกิจกรรมที่ใช้ หลายคนฝึกสมองโดยไปซื้อหนังสือมาทำโจทย์เลข แต่ถ้าไม่ชอบ หรือไม่มีความสุขในการทำ ก็จะไม่เกิดผลดีแต่อย่างไร ฉะนั้นอารมณ์ที่เราได้ทำกิจกรรมนั้นๆ ต้องดี มีความสุขกับกิจกรรมที่ทำ แล้วถ้าสิ่งที่ทำเกิดประโยชน์ต่อสังคมก็ยิ่งดีใหญ่ งานวิจัยหลายๆ งานได้ยืนยันว่าผู้สูงอายุที่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าจะมีพลังบวกในทุกๆ อย่าง
การทำกิจกรรมนั้น ถ้าทำเองที่บ้านมักจะไม่ค่อยสำเร็จ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเพื่อนในวัยเดียวกันทำ ก็จะประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย อย่างที่ศูนย์ฝึกสมอง ตอนแรกผู้สูงอายุบางท่านอาจทำไม่ได้ แต่พอผ่านไปสัปดาห์หนึ่ง เพื่อนๆ ในกลุ่มช่วยกัน จนอยากทำและทำได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองในที่สุด
ท้ายสุดนี้ คุณหมอได้ฝากข้อคิดมายังผู้อ่าน HealthToday ทุกท่านว่า “จริงๆ แล้ว ที่สำคัญก็คือ ณ วันนี้ วันที่อายุยังไม่มากสมองยังมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ และสร้างพลังสำรอง ดังนั้นอยากให้ทุกคนลองดูว่าทุกวันนับแต่ที่เราตื่นมา เราให้พลังงานแก่สมองและร่างกายอย่างไร ออกกำลังสมองและออกกำลังร่างกายแล้วหรือยัง สำคัญที่สุดคือจบวันด้วยความสุขทุกๆ วัน ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็จะได้กำไรแล้ว ไม่ว่าคุณจะมีพันธุกรรม อัลไซเมอร์หรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะสมองคุณได้พัฒนาไปอีกระดับ ดังนั้นต่อให้คุณมีอัลไซเมอร์ตอนอายุมาก สมองคุณก็ยังมีพลังสำรองอย่างเต็มเปี่ยม นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด”
Resource : HealthToday Magazine, No. 177 January 2016