พลังแห่งการยิ้ม

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล อายุรแพทย์

0
10599
ยิ้ม

มีผู้อ่านหลายท่านส่งข้อความมาถามปัญหาเรื่องสุขภาพกับหมอครับ หมอเองสังเกตพบว่าคำถามส่วนใหญ่ใน
ระยะหลัง ๆ นั้นมักเป็นไปในเชิงการป้องกันไม่ให้เกิดโรคขึ้นมากกว่าการรักษาเยียวยา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี เพราะแสดงว่าคนไทยเราเริ่มตื่นตัวเรื่องการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ไม่รอให้ป่วยก่อนแล้วค่อยรักษาเหมือนก่อน อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคที่ดีนั้นมีวิธีการมากมาย และบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงอีกด้วยครับ

ที่ผ่านมาหมอเคยเล่าเรื่องการป้องกันโรคด้วยตัวเองมาหลายวิธี เช่น การออกกำลังกายและวิธีเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่าง ๆ ฉบับนี้หมอจะขอแนะนำอีกหนึ่งวิธีที่ทำได้ง่ายมากครับ ท่านผู้อ่านสามารถทำได้กันเดี๋ยวนี้เลย
ทีเดียว นั่นก็คือการ “ยิ้ม”นั่นเอง

การยิ้มนับเป็นการบำบัดเยียวยาที่มีพลังมหาศาล ทำได้ง่ายไม่จำกัดเวลา บุคคล ชนชาติ หรือสถานที่ใด ๆ มี
นักวิทยาศาสตร์รวมถึงนักจิตวิทยาหลายท่านเห็นตรงกันว่าการยิ้มอย่างจริงใจนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเราและ
การมองโลกรอบ ๆ ตัวเราได้แทบจะในทันทีครับ

ผลของการยิ้มต่อการทำงานของร่างกาย

ในแต่ละครั้งที่เรายิ้มเปรียบเสมือนเราได้มอบอาหารดี ๆ ให้กับสมองของเรา การยิ้มสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่ง
สารสื่อประสาทนิวโรเพปไทด์ ทำให้รับมือกับความเครียดได้มากขึ้น สารสื่อประสาท ยกตัวอย่างเช่น สารโดปามีน (dopamine), เอนดอร์ฟิน (endorphins) และเซโรโทนิน (serotonin) ทำให้เซลล์สมองสื่อสารถึงกันได้ดีขึ้น ส่งผลให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตได้ครับ1 นอกจากนี้สารเอนดอร์ฟินยังสามารถออกฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดได้ตามธรรมชาติอีกด้วย รับรองว่าปราศจากผลข้างเคียง ไม่ต้องคอยกังวลเหมือนยาแก้ปวดที่เราเคยรับประทานแน่นอนครับ

นอกจากนี้สารเซโรโทนินที่หลั่งออกมาเวลาเรายิ้มนั้นยังสามารถลดภาวะซึมเศร้าและทำให้อารมณ์ของเราคงที่ได้2
ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาพบแพทย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ยาที่ใช้ในการช่วยรักษาภาวะนี้มักจะมีเซโรโทนินเป็น
ส่วนประกอบ แต่หากเรายิ้มง่าย ยิ้มบ่อย ๆ เราก็แทบไม่ต้องมาพบแพทย์ และไม่ต้องกังวลกับผลข้างเคียงของยาเลยด้วยซ้ำ

ผลของการยิ้มต่อตัวเรา

เมื่อเรายิ้ม เราจะมีบุคลิกภาพที่ดูดีขึ้นในสายของผู้คนรอบตัวครับ หลายคนจะปฏิบัติต่อเราในแบบที่แตกต่างจากเดิม มีงานวิจัยพบว่าเราจะดูมีเสน่ห์มากขึ้น น่าเชื่อถือ ผ่อนคลาย และดูจริงใจต่อผู้อื่นมากขึ้น งานวิจัยด้านจิตวิทยาบางเรื่องพบว่ารอยยิ้มบนใบหน้าของเราจะสามารถกระตุ้นสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ควบคุมด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์ (orbitofrontal cortex) ให้ทำงานเหมือนรู้สึกได้รับรางวัล จึงเป็นเหตุผลที่แสดงให้เราเห็นว่าทำไมเมื่อเรามองเห็นคนที่ยิ้มให้เรา เราจึงรู้สึกดีครับ

ผลของการยิ้มต่อผู้คนรอบตัว

ผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่าการยิ้มนั้นจัดเป็นโรคระบาด ส่วนหนึ่งของสมองคนเราแสดงออกด้วยการยิ้มเมื่อเรามีความสุข แต่อีกส่วนหนึ่งก็ตอบสนองด้วยการยิ้มโดยอัตโนมัติเมื่อได้เห็นรอยยิ้มด้วยเช่นกันครับ3 มีงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจมากครับ เป็นการศึกษาในประเทศสวีเดน ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจะต้องมองดูรูปภาพใบหน้าที่แสดงอารมณ์ต่าง ๆ กัน มีทั้งตอนมีความสุข หวาดกลัว ตื่นตกใจ แต่เมื่อมีภาพของคนที่กำลังยิ้มขึ้นมา ผู้ทำการวิจัยจะขอให้ผู้ร่วมทดลองทำหน้างอหรือขมวดคิ้วแทน ซึ่งผลพบว่าผู้ร่วมทดลองต่างต้องใช้เวลาที่จะหยุดและพยายามควบคุมการรับรู้ให้แสดงออกใน
ทางตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นเมื่อเรายิ้มให้ใครแล้วผู้นั้นไม่ยิ้มตอบ ขอให้รับรู้นะครับว่าเขาผู้นั้นกำลังทำในเรื่องที่ฝืนธรรมชาติเป็นอย่างมาก4

หมอชื่นชอบประโยคที่ท่านติช นัท ฮันห์เคยกล่าวไว้มากเลยครับว่า “บางครั้งความสุขของเธอก็นำมาซึ่งรอยยิ้ม แต่หลาย ๆ ครั้งนั้นรอยยิ้มของเธอเองนั่นแหละที่นำความสุขมาให้เธอ”

สุดท้ายนี้ผู้อ่านทุกท่านคงเห็นประโยชน์มากมายของการยิ้มแล้วนะครับ ทั้งในการทำให้สมองทำงานดีขึ้น สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น ส่งเสริมบุคลิกภาพที่ดี และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนรอบตัว เพราะฉะนั้นเรายิ้มกันตอนนี้เลยดีกว่าครับ

ข้อมูลอ้างอิง

  1. R.D. (2000). Neural correlates of conscious emotional experience. In R.D. Lane & L. Nadel (Eds.), Cognitive neuroscience of emotion (pp. 345–370). New York: Oxford University Press.
  2. Karren KJ, et al. Mind/Body Health: The Effect of Attitudes, Emotions and Relationships. New York, N.Y.: Benjamin Cummings, 2010:461.
  3. O’Doherty, J., Winston, J., Critchley, H. Perrett, D., Burt, D.M., and Dolan R.J., (2003) Beauty in a smile: the role of medial orbitofrontal cortex in facial attractiveness. Neuropsychologia, 41, 147–155.
  4. Sonnby–Borgström, M. (2002), Automatic mimicry reactions as related to differences in emotional empathy. Scandinavian Journal of Psychology, 43: 433–443.
หากผู้อ่านมีข้อสงสัย คำแนะนำ หรือต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพ 
สามารถติดต่อหมอได้ที่อีเมล chkiasecret@gmail.com ครับ

 

Resource: HealthToday Magazine, No.208 August 2018